เกาะกระแสวันครูโลก : ส่องครูไทยในวันเปลี่ยนผ่าน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ในวาระวันครูโลก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงขอประมวลการตื่นตัวในวันครูโลก ซึ่งพบว่ามีการเฉลิมฉลองวันครูโลกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งทิศทางการเคลื่อนไหวของครูไทยมาให้สังคมเห็นความจำเป็นของการมีครูดีมีคุณภาพอยู่คู่กับห้องเรียน
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันครูโลก (World Teachers' Day) มาตั้งแต่ปี 2537 เพื่อระลึกถึงวันครบรอบการลงนามในเอกสาร UNESCO/ILO (International Labor Organization) Recommendation Concerning the Status of Teachers ในปี 2539 ซึ่งเอกสารนี้เป็นเอกสารสากลที่รับรองสิทธิและสภาพของคนที่ประกอบวิชาชีพครูทั่วโลก
ขณะเดียวกันวันที่ 5 ตุลาคม ก็ถูกกำหนดให้เป็นวันระลึกถึงความสำคัญของครูทั่วโลกไปพร้อมกันโดยมีประเด็น "Invest in the future, Invest in teachers" เป็นประเด็นสำหรับการจัดงานในปีนี้ ภายใต้ 3 หัวข้อที่จะมีการเสวนาระหว่างประเทศ ทั้งในประเด็นการเพิ่มจำนวนครู ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของครูที่มีต่อคนรุ่นใหม่ และบทบาทของครูต่อสังคม
สำหรับการเพิ่มจำนวนครูนั้น มุ่งเน้นการกระตุ้นต่อเนื่องให้นานาประเทศตะหนักถึงการเพิ่มจำนวนครู โดยประมาณการณ์ว่าภายในปี 2558 ทั่วโลกจะต้องการครู 5.24 ล้านคน ทดแทนครูที่ออกจากระบบ 3.66 ล้านคน และครูที่จะมารองรับการขยายตัวทางการศึกษาอีก 1.58 ล้านคน สำหรับประเทศไทยเองภายใน 10 ปีข้างหน้านี้เราจะมีครูเกษียณรวมกันสูงถึง 180,000 คนเป็นอย่างน้อย คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนครูในระบบการศึกษาในปัจจุบัน ดังนั้นมาตรการทดแทนครูที่กำลังจะเกษียณจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งในระบบการศึกษานี้ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียนของไทยอย่างมาก
ทั้งนี้แอฟริกาใต้สะฮารา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่อยู่ในทวีปแอฟริกาและอยู่ใต้ทะเลทรายสะฮาราระบุว่าเป็นประเทศที่มีความต้องการครูติดอันดับสูงสุดของโลก คือ ต้องการครูจำนวน 9 แสนคน หรือร้อยละ 63 ของความต้องการครูทั้งหมดทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีประเทศที่ตั้งเป้าผลิตครูให้ได้ตามเป้าภายในปี 2558 ประกอบด้วยประเทศไนจีเรีย ปากีสถาน สาธารณรัฐโมซัมบิก อูกันด้า แทนซาเนีย เป็นต้น
การเปลี่ยนผ่านของการเกษียณอายุและการบรรจุครูใหม่ดังกล่าว จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของทุกระบบการศึกษาทั่วโลกที่จะผลิตและพัฒนาครูแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายในระบบการศึกษาในยุคนี้ที่มีทั้งปัญหาเก่า เช่น ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ และความท้าทายใหม่เช่นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ให้ครูได้จัดการ
ภายหลังยูเนสโกออกรายงานสถานการณ์ของเด็กเยาวชนในปี 2555 พบตัวเลขที่น่ากังวลว่า ทั่วโลกมีเด็กระดับประถมศึกษาต้องออกจากระบบกว่า 57 ล้านคน และประมาณการณ์ว่ามีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขณะเรียนในเกรด 4 หรือระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง 250 ล้านคน
ความท้าทายของระบบการศึกษาของทั่วโลกจึงไม่ได้อยู่ที่จำนวนครูที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนครูที่เกษียณอายุ แต่หมายถึงคุณภาพของครูที่ต้องดีขึ้น ทำให้หลายปีต่อเนื่องมาแล้วที่มีการกกระตุ้นเตือนให้ผู้บริหารระดับนโยบายของนานาประเทศเห็นคุณค่าและความสำคัญของครู เพื่อเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของครูอย่างจริงจัง
เพราะครูที่มีคุณภาพเท่านั้น ที่จะนำพาให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ และมากไปกว่านั้น ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างจิตสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำในการประชุมประจำปี 2557 "การพัฒนาคน...เพื่ออนาคตของประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า "เราต้องการแก้ปัญหาการศึกษาให้ได้โดยเร็ว หากหวังว่าจะเห็นอนาคตประเทศไทยก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะท่ามกลางแนวโน้มสังคมสูงอายุ ทำให้เราเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำอย่างไรให้เด็กเรียนจบไปแล้วมีงานทำ ฉะนั้นสิ่งสำคัญต้องนำไปสู่แผนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ที่ต้องอาศัยการบูรณาการทุกกระทรวง และมีการตั้งเป้า วางแผนการทำงานให้ชัดเจนเป็นระยะ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ผมเชื่อว่าคนไทยนั้นเก่งกันทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้เชื่อมคนที่เก่งทุกคนให้ทำงานขับเคลื่อนร่วมกันได้ ขณะเดียวกันก็ให้รักษาความเป็นเอกลักษณ์ประเทศไทยไว้ด้วย"
สำหรับครูไทย มีภารกิจไม่แตกต่างจากครูทั่วโลก วันนี้สังคมจึงเรียกร้องการปฏิรูปการเรียนรู้ในทุกด้าน โดยเฉพาะ "ครู" ในฐานะศูนย์กลางของระบบการเรียนการสอน "ครูในศตวรรษที่ 21" จึงเป็นสโลแกนรณรงค์จากทุกภาคส่วนในวันนี้ เพื่อให้ผู้ทำหน้าที่ครูมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่มีผลต่อความคิดของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การสอนของครูยังคงเป็นภารกิจที่ศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป
วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี จึงไม่ใช่เพียงวันแห่งการเชิดชูเกียรติให้กับครูไทยที่มีผลงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นวันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับครู ผู้บริหารการศึกษา และผู้กำหนดนโยบาย ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูไทยรู้เท่าทันสถานการณ์ มีทักษะและศักยภาพสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อผลลัพธ์สูงสุด ในการบ่มเพาะคนที่มีคุณภาพ มีสำนึกพลเมือง รู้สิทธิและหน้าที่ มีจิตสาธารณะ และประกอบสัมมาชีพให้กับสังคม