ถ้าเขาจะทำ “อนาจาร” แต่งตัวมิดชิดยังไงก็ไม่รอด!
การคุกคามทางเพศหรือกระทำอนาจารต่อสตรี เป็นเรื่องที่รับรู้กันดีว่ายังคงมีให้เห็นอยู่ในสังคมไทย และคงจะไม่มีวันหมดไป ตราบใดที่ผู้ชายยังคงไม่ให้เกียรติผู้หญิง และมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการเรียกร้องจากผู้เสียหาย คำถามแรกที่ถูกพุ่งประเด็นมักหนีไม่พ้นเรื่องการแต่งกายว่า ผู้หญิงแต่งตัวโป๊หรือใส่ชุดเช็กซี่ จนเป็นเหตุให้ฝ่ายชายมีอารมณ์ทางเพศหรือไม่
การแต่งกายไม่ใช่ประเด็น
ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวเคยตกเป็นกระแสดราม่ามาแล้วด้วย ถึงขั้นที่มีการติดแฮชแท็ก #DontTellMeHowtoDress (อย่าบอกว่าให้ฉันแต่งตัวอย่างไร) จากเหล่าคนดัง เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนว่าการแต่งกายของสตรีไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ
…เพราะต่อให้แต่งตัวมิดชิดหรือเรียบร้อยเพียงใด ถ้าผู้ชายไม่ยับยั้งชั่งใจ หรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศของตัวเองให้แสดงออกอย่างเหมาะสมได้ กรณีการคุกคามทางเพศกับผู้หญิงก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี!
และบ่อยครั้งผู้ถูกกระทำก็ไม่กล้าแสดงออก หรือเรียกร้องความชอบธรรมให้กับตนเองด้วย บ้างรู้สึกอับอายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ บ้างก็ไม่กล้าบอกใครเพราะโดนข่มขู่มาจึงเกิดความหวาดกลัว บ้างก็กลัวถูกสังคมตราหน้าว่าแต่งตัวยั่วยวนผู้ชายเอง และกลายเป็นถูกบูลลี่ในโลกออนไลน์จนไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตตามปกติ
ต้นเหตุคือ “ความกำหนัด”
หากคิดจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย่ามัวแต่โทษว่าเป็นความผิดของผู้หญิง เพราะแท้จริงแล้ว “ความกำหนัด” หรือ “ความใคร่ในกามคุณ” ของผู้ก่อเหตุอยู่ไม่ถูกที่ถูกทางต่างหาก จึงเป็นบ่อเกิดของการกระทำอนาจารแบบไม่เลือกคน และไม่เลือกสถานที่
แค่การใช้สายตาโลมเลีย ใช้คำพูดแทะโลม หรือพิมพ์ข้อความที่สื่อไปทางลามก ก็ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) แล้ว
ดังนั้น การเพิกเฉย มองข้าม เพราะไม่อยากให้มีเรื่องราวใหญ่โต หรือมองว่าเป็นเรื่องปกติ แค่แซวเล่นขำ ๆ เท่านั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดยังมีที่ยืนในสังคม
และอาจบานปลายจนกลายเป็นปัญหาสังคม เมื่อการคุกคามทางเพศไม่ได้หยุดอยู่แค่การใช้สายตาหรือคำพูด แต่มีการล่วงละเมิดทางร่างกาย จนเกิดความเสียหายและสูญเสียตามมาไม่รู้จบ!