ท้องผูก-ปวดท้องน้อย เสี่ยงโรค "ไอบีเอส" หรือ "ลำไส้แปรปรวน" ชนิดท้องผูก

ท้องผูก-ปวดท้องน้อย เสี่ยงโรค "ไอบีเอส" หรือ "ลำไส้แปรปรวน" ชนิดท้องผูก

ท้องผูก-ปวดท้องน้อย เสี่ยงโรค "ไอบีเอส" หรือ "ลำไส้แปรปรวน" ชนิดท้องผูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร
สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภ.อายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โอ๊ย! ปวดท้องจัง …เคยมั้ยทั้งท้องผูกแถมยังปวดท้องบริเวณท้องน้อย เป็นๆ หายๆ อุจจาระก็แข็ง เบ่งลำบาก เหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคไอบีเอส เป็นอย่างไรมาดูกันครับ

 

ทำความรู้จัก โรคไอบีเอส

โรคไอบีเอส หรือโรคลำไส้ทำงานแปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องเสียหรือท้องผูก บางรายอาจท้องเสียสลับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติทางพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่พบการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง และเมื่อตรวจเลือดก็ไม่พบความผิดปกติ รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่น ๆ ที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น โดยทั่วไปโรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต สร้างความรำคาญและทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

 

โรคไอบีเอสชนิดท้องผูก แตกต่างจากอาการท้องผูกธรรมดาอย่างไร

ความแตกต่างที่สำคัญ คือ นอกจากมีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่นแล้วจะต้องมีอาการปวดท้อง (ส่วนใหญ่จะปวดเกร็งที่ท้องน้อยเป็นระยะ ๆ) ร่วมด้วย และมักเป็น ๆ หาย ๆ อาการปวดจะดีขึ้นเมื่อได้ถ่ายอุจจาระ แต่ผู้ป่วยต้องใช้แรงเบ่งค่อนข้างมากเพราะอุจจาระมีลักษณะแข็ง บางรายอาจถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ และมักเป็นต่อเนื่องติดต่อกันราว 3 เดือน

 

สาเหตุการเกิดโรคไอบีเอส มาจาก 3 ปัจจัย คือ

  1. การบีบตัวหรือเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติไป นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก

  2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังรับประทานอาหารซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยโรคไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากผิดปกติ โดยมีการบีบตัวและเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้นทำให้ปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูก นอกจากนี้ยังมีตัวกระตุ้นอื่นๆ ที่สำคัญ คือ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์

  3. เกิดความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน ทำให้การควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้ และสมองผิดปกติทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น

 

โรคไอบีเอสจะทำให้กลายเป็นโรคมะเร็งหรือไม่?

โรคไอบีเอสไม่ใช่โรคมะเร็ง แม้ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคไอบีเอสเป็น ๆ หาย ๆ มานาน แต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ในผู้สูงอายุที่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเพิ่งมามีอาการท้องเสียหรือท้องผูกหลังอายุ 40 – 50 ปี อาจมีโอกาสที่จะมีสาเหตุจากโรคมะเร็งลำไส้สูงขึ้น (คือมีโรคมะเร็งลำไส้เกิดร่วมกับโรคไอบีเอส)

 

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคไอบีเอส

  1. รับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใยมาก ๆ เช่น เปลือกข้าวสาลี ผัก ผลไม้ เพราะกากและเส้นใยจากอาหารจะช่วยลดการบีบตัวหรือเกร็งของลำไส้รวมทั้งลดความดันภายในช่องลำไส้ นอกจากนี้ยังช่วยดูดน้ำไว้ในอุจจาระทำให้ปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้นและไม่แข็ง 

  2. ดื่มน้ำมาก ๆ (วันละประมาณ 2 ลิตร) และออกกำลังกายแต่พอเหมาะ

  3. ฝึกนิสัยการอุจจาระให้เป็นไปตามสบาย อย่ารีบเร่ง กรณีต้องใช้ยาระบายช่วย แนะนำให้ใช้ยาระบาย Milk of Magnesia หรือ Lactulose

 

สำหรับอาการปวดท้องจากโรคไอบีเอส สามารถทำให้ทุเลาด้วยการ

  •  รับประทานอาหารแต่พอเหมาะ ไม่อิ่มจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันเพราะไขมันจะเป็นตัวกระตุ้นที่รุนแรงของการบีบตัวของลำไส้ 

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งกาแฟ ของดอง น้ำอัดลม และยาที่ทำให้มีอาการท้องผูกมากขึ้น เช่น ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม ยาแก้ปวด และยาต้านการหดเกร็งของลำไส้ เป็นต้น

  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย มองโลกในแง่ดี ไม่เครียด

 

แม้โรคไอบีเอสจะเป็นโรคเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ บางรายอาจเป็น 5 – 8 ปี แต่โรคนี้ก็มิใช่โรคร้ายแรง และไม่ทำให้เสียชีวิต ดังนั้นหากท่านปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อาการก็จะทุเลาอย่างรวดเร็ว

 

 

___________________

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook