หมอไทยเก่ง! รักษา "ธาลัสซีเมีย" ได้โดยไม่ต้อง "ถ่ายเลือด"
"โรคธาลัสซีเมีย" เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวซีด อ่อนแรง ร่างกายอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย สำหรับวิธีการรักษาต้องถ่ายเลือด และให้ยาขับเหล็กไปตลอดชีวิต
นอกจากวิธีการถ่ายเลือดแล้วกระบวนการรักษาอีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งต้องอาศัยผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีและเข้ากับผู้ป่วยได้ แต่พบว่ามีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่หาผู้บริจาคที่เข้ากับผู้ป่วยได้ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ มักมีภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยอายุสั้นลง
รักษาธาลัสซีเมีย โดยไม่ต้องถ่ายเลือด
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยค้นพบวิธีการรักษาโรคธาลัสซีเมียโดยไม่ต้องถ่ายเลือดเป็นที่แรกของโลก เผยว่าที่ผ่านมาเคยมีการพยายามรักษาด้วยตัดยีนหรือยีนเทอราปีแต่ก็ยังไม่สำเร็จ ล่าสุดโรงพยาบาลรามาธิบดีได้นำสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยมาตัดต่อยีนจนได้ยีนใหม่ โดยทดลองกับผู้ป่วย 22 คน พบว่าหลังการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาถ่ายเลือดอีกเลย และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลก
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็นธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ต้องรักษาโดยประคับประคองโดยการให้เลือดและยาขับเหล็กตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 200,000 – 300,000 คน ในประเทศไทย ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการตั้งแต่ 2-3 ปีแรกที่เป็นโรคซึ่งจะต้องได้รับเลือดทุกเดือน การรักษาโรคธาลัสซีเมียมีเพียงทางเดียวคือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีและสามารถเข้ากับผู้ป่วยได้ ซึ่งก็จะได้จากพี่น้องของผู้ป่วยเองหรือผู้บริจาคจากสภากาชาดไทย มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่สามารถหาผู้บริจาคที่เหมาะสมได้
ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมมือต่างประเทศคือ Professor Philippe Leboulch, นักวิจัยจาก University of Paris และทีมแพทย์จากสหรัฐอเมริกา Harvard Medical School ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อแม่ของผู้ป่วยนำมาทดลองรักษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการการรักษาโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการการรักษาโรคธาลัสซีเมีย ความยากคือการตัดต่อยีน ซึ่งเราได้ทดลองจนประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเราเป็น 1 ใน 8 แห่งทั่วโลกที่ทำการรักษาในรูปแบบนี้ โดยที่พวกเขาไม่ต้องเข้ารับการถ่ายเลือด ทั้งที่ต้องเคยถ่ายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้สามารถไปเรียน หรือไปทำงานได้อย่างปกติ
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561 ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากกับการได้รับการตีพิมพ์ งานวิจัยนี้ใช้เวลา 5 - 6 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ หลังจากที่มีการวางแผนมานานเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้
ณ ปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทางโรงพยาบาลก็มีความคาดหวังว่าต้องการให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีระบบการรักษารูปแบบนี้อย่างครบวงจร
ป้องกันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ดีที่สุด
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่าเนื่องจากโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จึงทำให้ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวประมาณ 12,125 ราย วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือลดจำนวนการเกิดโรคในเด็กเกิดใหม่ โดยเน้นที่การตรวจเลือดหาความผิดปกติและตรวจคัดกรอง จึงขอให้คู่สามีภรรยาวางแผนก่อนมีลูก โดยพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำในการวางแผนครอบครัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม