"ยาเลื่อนประจำเดือน" ใช้อย่างไรให้ได้ผล?
-
ยาเลื่อนประจำเดือนไม่สามารถใช้ทดแทนยาคุมกำเนิดได้ เนื่องจากไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันการตั้งครรภ์
-
ยาเลื่อนประจำเดือน จะได้ผลดีสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ และรู้วันที่จะมีประจำเดือนที่แน่นอนเท่านั้น
-
ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดเสียก่อน เนื่องจากการกินยาเลื่อนประจำเดือนอาจบดบังอาการของโรคได้
ยาเลื่อนประจำเดือน เป็นทางออกของสาว ๆ ที่ไม่อยากให้การมีประจำเดือนมาเป็นเรื่องกวนใจเพราะหลายครั้งที่ขอเลื่อนแผนเที่ยว ขยับแล้วขยับอีกก็ไม่ลงตัว การหันไป “เลื่อนประจำเดือน” จึงเป็นทางออกที่ดีกว่า
ยาเลื่อนประจำเดือนทำงานอย่างไร?
ผู้หญิงทุกๆ คนที่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีเลือดออกจากช่องคลอดหรือประจำเดือน ในทุกๆ 28-30 วัน โดยหลังจากมีประจำเดือนแล้วกระบวนการในร่างกายจะทำการคัดไข่เตรียมไว้จนไปถึงกลางรอบเดือน สำหรับผู้ที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ 28-30 วัน ประมาณวันที่ 14-15 นับจากการมีประจำเดือนวันแรก จะเป็นวันตกไข่ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) ขึ้นมา ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเพื่อรองรับตัวอ่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สมองจะสั่งให้หยุดสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาก็จะหลุดออกมาเป็นประจำเดือน
ยาเลื่อนประจำเดือน หรือ ยาเลื่อนเมนส์ เป็นฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน จึงช่วยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวนั้นไม่หลุดออกมา สำหรับผู้ที่ต้องการเลื่อนประจำเดือน ต้องรู้วันที่มีประจำเดือนของตนเองที่แน่นอน เช่น ประจำเดือนมาทุกๆ วันที่ 29 และมาเป็นประจำ 2-3 วัน แสดงว่าไข่ตกประมาณวันที่ 14-15 ดังนั้นหากอยากเลื่อนประจำเดือนออกไปก็ต้องทำให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังคงอยู่ โดยการบังคับธรรมชาติให้สร้างฮอร์โมนมาในช่วงกลางรอบเดือน ซึ่งทำได้ด้วยการกินฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้าไป ตามจำนวนวันที่ต้องการเลื่อน จากนั้นจึงค่อยหยุดกินยา ซึ่งทันทีที่หยุดยา เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดออกมาเป็นประจำเดือน
วิธีใช้ยาเลื่อนประจำเดือน
ด้วยธรรมชาติของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนประจำเดือนจะมา ดังนั้นวิธีดีที่สุดต้องเริ่มกินยาก่อนวันที่คาดว่ามีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนให้ทัน หากกินยาเพื่อเลื่อนในวันที่มีประจำเดือนแล้ว หรือก่อนมีประจำเดือนเพียง 2-3 วัน อาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากธรรมชาติรู้ว่าไม่มีการฝังตัวอ่อน ร่างกายจึงเริ่มกระบวนการสร้างประจำเดือนไปตามปกติ โดยการกินยาต้องกินทุกวันจนกว่าต้องการให้มีประจำเดือนอีกครั้งจึงหยุดกินยา
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน
- สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือไม่สามารถคาดเดาวันที่จะมีประจำเดือน การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนมักไม่ได้ผล เนื่องจากไม่ทราบวันตกไข่ที่แน่ชัด
- เนื่องจากยาเลื่อนประจำเดือนเป็นกลุ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีผลต่อการเกิดมะเร็งหรือเนื้องอกในมดลูกแต่อย่างใด ทำให้สามารถกินยาเลื่อนประจำเดือนได้หลายวันและหลายๆ ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม หากใช้ยานานเกินไประบบร่างกายอาจเกิดความสับสน ส่งผลให้อาจต้องใช้เวลานานเพื่อปรับตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาเกิน 1 สัปดาห์และควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- ในผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติ และยังไม่ทราบว่าเลือดนั้นเป็นประจำเดือนหรือไม่ หรือมีสาเหตุจากอะไร ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อหรือมะเร็งและสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากการกินยาเลื่อนประจำเดือนอาจบดบังอาการของโรคได้
- กรณีที่ไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ การกินยาเพื่อเลื่อนประจำเดือนยังถือว่าปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะท้องร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อรองรับตัวอ่อน พอมีการฝังตัวฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นยาเลื่อนเมนส์จึงไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์
- ผู้ที่กินยาคุมเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องกินยาเพื่อเลื่อนประจำเดือน แต่สามารถเลื่อนประจำเดือนได้โดยกินยาคุมกำเนิดที่กินเป็นประจำต่อไป หากหมดแผงก็สามารถเริ่มกินแผงใหม่ได้ต่อเนื่อง ไปจนกว่าต้องการให้มีประจำเดือนจึงหยุดกินยาคุมนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ได้กับยาเม็ดคุมกำเนิดมาตรฐานที่มี 21 เม็ด แต่หากเป็นแบบ 28 เม็ด จะมีตัวฮอร์โมนเพียง 21 เม็ด และเป็นเม็ดแป้ง 7 เม็ด วิธีกินคือทิ้งเม็ดแป้งและนำยาแผงใหม่มากินต่อจาก 21 เม็ด ทั้งนี้ผู้ที่กินยาคุมกำเนิดอยู่แล้วไม่ควรกินยาเลื่อนประจำเดือน ในทางกลับกันยาเลื่อนประจำเดือนนั้นไม่ใช้ทดแทนยาคุมกำเนิด เนื่องจากไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันการตั้งครรภ์เช่นกัน
แม้ยาเลื่อนประจำเดือนจะไม่มีผลร้ายต่อร่างกาย แต่การใช้ยานาน ๆ หรือบ่อยมากเกินไป อาจทำให้ระบบการมีประจำเดือนเกิดความสับสน และต้องใช้เวลาเพื่อปรับสภาพร่างกายสู่ภาวะปกติ ดังนั้นจึงควรใช้ยาเพื่อเลื่อนประจำเดือนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
หากมีอาการผิดปกติ หรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการมีประจำเดือนให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุ รับคำแนะนำและการรักษาอย่างถูกต้อง