8 โรคอันตรายหากไม่ “ล้างมือ” ให้สะอาดจนติดเป็นนิสัย
“สุขภาพดี เริ่มต้นที่การล้างมือ” ไม่ได้เป็นประโยคลอยๆ ที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เพราะนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า “จากข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ พบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงประมาณ 3.5 ล้านคน และโรคปอดบวมประมาณ 25% การล้างมือที่ถูกต้องเป็นการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อีกทางหนึ่ง โดยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ถึง 50% เป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพอนามัยที่ดี”
แต่ที่น่าเป็นห่วง คนไทยส่วนน้อยยังคงไม่คำนึงถึงความสำคัญของการมีมือที่สะอาดเพียงพอ โดยนายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผลการสำรวจจากคนไทยกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 512 คน ผลปรากฏว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่มีพฤติกรรมมือสะอาด คือล้างมือฟอกสบู่ติดเป็นนิสัย กระทำทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม และก่อนรับประทานอาหาร 25% หรือ 1 ใน 4 คน ส่วนใหญ่คือ 72% หลังเข้าห้องน้ำจะล้างมือบ้างไม่ล้างมือบ้าง และไม่เคยล้างมือเลย 3% ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้ มีความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคต่างๆ ที่ติดมากับมือ ไปสู่คนอื่นได้
มาดูกันดีกว่าว่า หากเราไม่ล้างมือให้สะอาดจนติดเป็นนิสัย จะเสี่ยงโรคอะไรบ้าง
8 โรคอันตรายหากไม่ “ล้างมือ” ให้สะอาดจนติดเป็นนิสัย
-
โรคอุจจาระร่วง
มาจากเชื้อโรคหลากหลายชนิด เช่น อีโคไล ที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสที่มีอยู่ในอุจจาระ สามารถปนเปื้อนมากับวัตดุดิบที่นำมาปรุงอาหาร และการสัมผัสจากมือที่หยิบจับอาหาร วัตถุดิบที่มีเชื้อไวรัสปะปน ไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีพอ
-
โรคตับอักเสบชนิดเอ
เชื้อโรคตับอักเสบชนิดเอจะอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย โดยสามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยเชื้อเข้าสู่ปาก ซึ่งอาจมาจากการหยิบจับอาหารเข้าปากโดยตรง การใช้มือที่ติดเชื้อโรคสัมผัสจานชามช้อนส้อม หรือสัมผัสวัตถุดิบที่รับประทานสดอย่างผักผลไม้ต่างๆ
-
โรคบิด
ผู้ติดเชื้อส่วนมากจะเป็นพวกที่ไม่ทำความสะอาดมือหลังจากถ่ายอุจจาระ การแพร่เชื้อโดยการสัมผัสทางตรงกับสิ่งของต่าง ๆ หรือสัมผัสทางอ้อมกับอาหาร ส่วนการแพร่เชื้อผ่านทางน้ำและอาหารโดย แมลงสาบ และแมลงวัน เกิดขึ้นได้จากสัตว์เหล่านี้นำเชื้อมาปนเปื้อน
-
โรคอหิวาตกโรค
การติดต่อของโรคอหิวาตกโรคเกิดขึ้นโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ โดยเชื้อโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน รวมถึงการรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆ สุกๆ และการใช้มือสัมผัสอาหารดิบ หรือน้ำที่มีเชื้อ จับต้องสัมผัสอาหารอื่นๆ รวมถึงจานชามช้อนส้อม
-
โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากระบาดมากในเด็กเล็ก เพราะติดต่อโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก แต่กับผู้ใหญ่ที่ดูแลความสะอาดของมือไม่ดีพอ ก็สามารถติดเชื้อและเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
-
โรคตาแดง
โรคตาแดงสามารถพบได้ตลอดปี แต่อาจพบระบาดหนักในช่วงหน้าฝน เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา จากการติดเชื้อไวรัส เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัส ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วย ที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง สามารถติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พบได้บ่อยในเด็กเล็กและนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วย อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ตาพิการได้
-
กลากเกลื้อน
กลาก และเกลื้อน เป็นคนละโรคกัน แต่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วยการสัมผัส โดยอาจเป็นการสัมผัสจากมือที่รอยกลากเกลื้อนโดยตรง หรือเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสของเชื้อราติดต่อกันจากข้างของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงสิ่งของตามสถานที่สาธารณะ รวมถึงเชื้อราที่อยู่ตามพื้นดิน กิ่งไม้ ใบไม้ผุ และตามขนสัตว์โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว และของใช้ในร้านตัดผม ทำเล็บที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกันโดยไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีเพียงพอ
-
ไข้หวัด
ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดประเภทไหน มักมาจากการติดต่อของเชื้อไวรัสที่มาจากการไอ จาม ละอองน้ำลายที่อาจได้รับผ่านอากาศ หรือการไอจามรดมือแล้วมือของผู้ป่วยสัมผัสกับข้างของเครื่องใช้ต่างๆ และอาจเป็นสิ่งของตามสถานที่สาธารณะ เช่น ราวจับบนรถโดยสาร เสา ลูกบิดประตู เป็นต้น
ล้างมือบ่อยแค่ไหน ถึงจะปลอดภัย
แม้ว่าเราจะแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย แต่เราอาจไม่มีความจำเป็นจะต้องลุกไปล้างมือทุกๆ 10 นาที แต่อย่างน้อยควรล้างมือบ้างในช่วงเวลาดังต่อไปนี้
- หลังเข้าห้องน้ำ ไม่ว่าจะห้องน้ำสาธารณะ หรือห้องน้ำที่บ้านตัวเอง
- ก่อนหยิบจับอาหารเข้าปากโดยตรง
- ก่อนปรุงอาหาร และรับประทานอาหาร แม้ว่าจะไม่ใช้มือจับอาหารโดยตรง แต่มือที่สัมผัสกับเชื้อโรคอาจติดไปกับอุปกรณ์ในการทำอาหาร หรือจานชามช้อนส้อมที่จะใช้ในการรับประทานอาหารได้
- หลังกลับมาจากนอกบ้าน
- หลังคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรค หรือเชื้อไวรัสต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น
- ก่อนสัมผัสกับเยื่อบุผิวหนังในร่างกายของตัวเอง เช่น ล้างมือก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ขยี้ตา แคะจมูก ดูดนิ้ว หรือสัมผัสกับแผลของตัวเอง