“หมูดิบ” อันตราย เสี่ยงไข้หูดับ-หูหนวกถาวร
กินเนื้อหมูปรุงดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ ควรปรุงสุก 100% เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจพบได้
ไข้หูดับ ระบาดในไทย พบผู้ป่วย-เสียชีวิต โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสาน
ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคถึงสถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทยปี 2562 พบผู้ป่วย 200 รายจาก 25 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 0.31 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 19 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุระหว่าง 55-64 ปี ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และเกษตรกร
ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วย 35 ราย สูงสุดที่จังหวัดนครราชสีมา 32 ราย รองลงมาคือ ศรีสะเกษ 2 ราย และหนองคาย 1 ราย พบผู้ป่วยเสียชีวิต 6 รายที่จังหวัดนครราชสีมา
โรคไข้หูดับ มาจากการบริโภคเนื้อหมูดิบ
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้ในฟาร์มหมูมีความชื้น และอาจทำให้หมูป่วยและติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนระวังเรื่องการบริโภคหมูดิบเลือดหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเมนู ลาบก้อยหลู้ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้หูดับ
โรคไข้หูดับ มีสาเหตุจากอะไร?
สำหรับโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptococcussuis (สเตรปโตคอคคัสซูอิส) สามารถติดต่อสู่คนได้ ก่อให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และสูญเสียการได้ยิน โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วยการติดเชื้อมาสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดหมูที่ไม่สุก เป็นต้น
โรคไข้หูดับ มีอาการอย่างไร?
อาการที่พบในคนที่ติดเชื้อ ได้แก่
- มีไข้ ปวดศีรษะ
- คอแข็ง คลื่นเหียน อาเจียน
- บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น
- หลอดเลือดอักเสบ
- อุจจาระร่วง
- บางรายติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง
- บางรายติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
- ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบ และเสื่อมจนหูหนวกถาวร และเป็นอัมพาตครึ่งซีก
โรคไข้หูดับ ป้องกันอย่างไร?
การป้องกันสำหรับผู้มีฟาร์มหมู คือ
- หมั่นทำความสะอาดฟาร์มด้วยน้ำยาทำลายเชื้อในโรงเรือน
- ผู้ปฏิบัติงานในฟาร์ม หรือโรงงานฆ่าสัตว์โรงชำแหละ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลได้แก่ สวมรองเท้าบู๊ท หรือสวมถุงมือสวมแว่นตาป้องกันในระหว่างปฏิบัติงาน
- หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
- โดยธรรมชาติเชื้อจะถูกทำลายด้วยความร้อน ดังนั้นจึงควรกินอาหารแบบปรุงสุก จึงจะลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคในคน
ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยโรคไข้หูดับ
ผู้ป่วยโรคไข้หูดับที่มีอาการไข้สูงปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็งหูหนวกท้องเสียปวดเมื่อยกล้ามเนื้อภายหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที และบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวก และการเสียชีวิตได้
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422