สำรวจตัวเอง เรา "หิว" หรือแค่ "อยาก"?
“ใครจะรู้เท่าตัวเรา” เคยถามตัวเองไหมว่า อาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนี้เรากินเพราะหิว หรือกินเพราะอยาก ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็เจอร้านสวย ๆ เก๋ ๆ อาหารหน้าตาหน้ากินไปเสียหมด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ผิดอะไร หากเราจะกินสักครั้ง แต่ถ้ากินบ่อย กินประจำจนชิน ก็คงนึกภาพไม่ออกว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าตัวเราจะอ้วนขนาดไหน หรือมีโรคอะไรตามมา และหากเราไม่เริ่มจัดการกับอารมณ์อยากของตัวเองตั้งแต่วันนี้ ร่างกายในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำองค์ความรู้หลัก 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ มาใช้กับคนทุกช่วงวัย เพื่อให้คนไทยกินอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มการออกกำลังกาย และใช้อารมณ์ในการเอาชนะตนเองเพื่อสุขภาพที่ดี โดยกิจกรรมล่าสุดที่ผ่านมา คือ การต่อยอดจากแคมเปญลดพุงลดโรค ในภารกิจ “ท้า คุณ เปลี่ยน” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาดูแลผู้ร่วมแข่งขัน ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการเรียนรู้ปรับใช้ในอารมณ์ของตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมกับการมีสุขภาพที่ดี
ด้านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และที่ปรึกษาด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร บอกว่า นอกจากการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง และการออกกำลังกายที่เพียงพอแล้ว “อารมณ์” ก็เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการขับเคลื่อนให้เรามีกำลังใจในการออกกำลังกาย ลดความอยากอาหารที่นอกเหนือจากมื้อหลัก และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาพดี แค่ลองเปลี่ยนมุมมองความคิด เช่น “วันนี้ฝนตกไม่มีอารมณ์ไปออกกำลังกาย กับวันนี้ฝนตกออกกำลังกายที่บ้านก็ได้ไม่เป็นไร” หรือ “กินข้าวอิ่มแล้ว ก็คือรู้ว่าอิ่ม ไม่ใช่อยากกินไปหมด เห็นอะไรก็อยากไปหมด” การตัดสินใจนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอารมณ์เป็นตัวตั้ง หากทุกคนมีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองต้องรู้จักวิธีการปรับอารมณ์ตนเองด้วย ต้องมีความตั้งใจและมุ่งมั่น จริงจัง อดทน พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ ที่สำคัญเวลาที่รู้สึกเครียดต้องหาทางผ่อนคลาย อย่าหาทางออกด้วยการกิน เพราะยิ่งทำเช่นนี้ก็ยิ่งเพิ่มรอบพุงให้กับเราได้ง่ายมากขึ้น
อาจารย์สง่า อธิบายต่อว่า มีหลายคนพยายามหาตัวช่วยมาลดน้ำหนัก โดยมองข้ามเรื่องเล็ก ๆ ไป นั่นคือ กำลังใจจากตัวเราและคนรอบข้าง ทั้ง พ่อ แม่ หรือลูก สิ่งเหล่านี้เป็นพลังงานบวกที่จะช่วยให้เราลดอารมณ์ ขี้เกียจ ลดการหาข้ออ้างในการไม่อยากออกกำลังกายลงได้ หรืออีกหนึ่งมุมมองคือ การมีสุขภาพที่ดีนั้น เมื่อเราแก่ตัวไปจะไม่ตกเป็นภาระของลูกหลาน ต้องแข็งแรงเพื่อดูแลลูกหลาน และต้องเปลี่ยนชีวิตที่เหลือไม่ให้เป็นวันที่สูญเปล่า การซื่อสัตย์กับตัวเองเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีเป้าหมายชัดเจน เพราะการมีสุขภาพที่ดีต้องไม่ฝืน ไม่กดดันตัวเอง ทำเท่าที่เราทำไหว เริ่มจากเปลี่ยนจากเดินเป็นเดินเร็ว จากเดินเร็วเป็นการวิ่ง เท่านี้ก็ทำให้เรามีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นแล้ว
ลองเช็คสักนิด ทำไมเราถึงอ้วน ..
- มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหาร จำพวก แป้ง ไขมัน น้ำตาล ของหวาน
- พันธุกรรม หากพ่อแม่อ้วน ลูกก็จะมีโอกาสอ้วน
- เกิดจากความผิดปกติของการทำงานจากต่อมไร้ท่อ ทำให้ต่อมไร้ท่อหลั่งฮอร์โมนบางชนิดผิดไป
- ความผิดปกของสมองส่วนไฮโปทามัส ที่ทำให้การควบคุมการกินอาหารผิดปกติ
- การกินยาบางชนิดที่ทำให้เกิดการอยากอาหารมากขึ้น
- ความเครียด ที่ทำให้รู้สึกอยากรับประทานอาหารบ่อยขึ้น ทั้งของหวาน หรือขนมต่าง ๆ
หากมีพฤตกรรมเหล่านี้ ก็จะทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้มากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยได้มีดังนี้
- ลดอาหารขยะ (Junk Food) เช่น น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว อาหารทอด และอาหารจานด่วน เพราะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย แต่มีแคลอรี่สูง ควรรับประทานอาหารประเภทผัก ธัญพืช และผลไม้แทน
- รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า เป็นมื้อสำคัญที่จะสร้างพลังงานและสารอาหารให้เรามีแรงทำงานในแต่ละวัน และที่สำคัญจะช่วยลดการกินจุบจิบของขนมที่มีทั้งโซเดียม ไขมัน และน้ำตาลสูง ลงได้
- ไม่ควรรับประทานอาหารไปพร้อมกับการทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ เพราะจะทำให้เรากินมากกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว
- เคี้ยวอาหารให้ช้าขึ้น อย่างน้อยให้ได้ 10 ครั้ง ต่อหนึ่งคำ เพราะถ้าเคี้ยวเร็ว เราจะกินได้มากขึ้น
- งดขนมหวาน เครื่องดื่มน้ำอัดลมตอนกลางคืน เพราะร่างกายจะไม่เผาผลาญทำให้เกิดไขมันส่วนเกินได้
- รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ เพื่อสร้างกากใยช่วยในการขับถ่าย เพิ่มวิตามิน เกลือแร่ สารอาหารที่สำคัญให้แก่ร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้
- เลือกอาหารที่มาจากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ถั่ว
- ดื่มน้ำผักผลไม้ที่คั้นสด งดเครื่องดื่มแอลกอฮออล์
- ดื่มน้ำเปล่าและนมให้เป็นนิสัย ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะจะช่วยให้มีน้ำหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายได้
การมีสุขภาพที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจกับการปฎิบัติตัวให้ถูกต้อง หากเรารู้วิธีการที่ถูกต้องก็จะสามารถสร้างวินัยให้กับตนเองได้ อย่าปล่อยให้อารมณ์เป็นทุกอย่างของการกระทำ แต่จงเปลี่ยนอารมณ์ให้เป็นความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น