อาชีพก่อสร้าง-คนงานผลิตน้ำแข็ง เสี่ยง “โรคจากความสั่นสะเทือน”

อาชีพก่อสร้าง-คนงานผลิตน้ำแข็ง เสี่ยง “โรคจากความสั่นสะเทือน”

อาชีพก่อสร้าง-คนงานผลิตน้ำแข็ง เสี่ยง “โรคจากความสั่นสะเทือน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ เผยผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความสั่นสะเทือนหรือจากการสัมผัสความเย็น เช่นคนเจาะถนน เจาะหิน ทำงานในห้องเย็น เป็นต้น เสี่ยงโรคจากความสั่นสะเทือน แนะป้องกันโดยเลือกใช้เครื่องมือที่มีระบบป้องกันการสั่นสะเทือน ร่วมกับถุงมือป้องกันการสั่นสะเทือน หยุดพักเป็นระยะและไม่ใช้เครื่องมือนานเกินไป


โรคจากความสั่นสะเทือน ภัยเงียบของชนชั้นแรงงาน

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคจากความสั่นสะเทือนหรือปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กลุ่มอาการผิดปกติจากความสั่นสะเทือนเฉพาะมือและแขน เป็นอาการผิดปกติที่เกิดกับนิ้วมือ มือ และแขน หรือจากการสัมผัสความเย็นจะเพิ่มความผิดปกติที่เกิดจากความสั่นสะเทือน เพราะอุณหภูมิที่ลดลงมีผลทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดไปเลี้ยงนิ้วมือลดลง และลดอุณหภูมิที่ผิวหนังของนิ้วมือ ส่งผลการรับประสาทสัมผัสลดลงอย่างถาวร เสียความถนัดของมือในการจับต้องอุปกรณ์ต่างๆ มีผลต่อการปฏิบัติงานและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้


อาชีพเสี่ยงโรคจากความสั่นสะเทือน

คนที่เสี่ยงโรคจากความสั่นสะเทือน ได้แก่ คนที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือน เช่น 

  • เจาะถนน 

  • เจาะหิน 

  • ตอกหมุด 

  • ขัดพื้น 

  • คนที่ต้องทำงานในห้องเย็น 

  • ทำงานโรงงานผลิตน้ำแข็ง


อาการของโรคจากความสั่นสะเทือน

นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคจากความสั่นสะเทือนเฉพาะมือและแขน ประกอบด้วย 

  1. เสียวแปลบ ชา

  2. นิ้วมือซีดขาว 

  3. เสียความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อ 

  4. อาจมีอาการปวด 

  5. การรับความรู้สึกร้อน-เย็น ลดลง 


ในรายที่รุนแรงจะพบความผิดปกติ คือ

  1. มีความผิดปกติของระบบหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและนิ้วมือซีดขาว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดแผลที่ปลายนิ้ว

  2. มีการทำลายเส้นประสาทรับความรู้สึกและเส้นประสาทสั่งการ ทำให้เสียวแปลบ ชา เสียการประสานงานระหว่างนิ้ว และความคล่องแคล่วในการใช้มือนอกจากนี้ยังมีการบวมรอบเส้นประสาท เกิดพังผืดและใยประสาทเสียหาย

  3. มีความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงของกล้ามเนื้อปวดในมือและแขน และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียสมรรถภาพ 


การป้องกันโรคจากความสั่นสะเทือน

  1. เลือกใช้เครื่องมือที่มีระบบป้องกันการสั่นสะเทือน หรือมีความสั่นสะเทือนน้อย

  2. ใช้เครื่องมืออย่างถูกวิธีและมีการบำรุงรักษาที่ดีอย่างต่อเนื่อง

  3. ใช้ถุงมือป้องกันการสั่นสะเทือน

  4. มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน ไม่ใช้เครื่องมือและทำงานในระยะเวลานานเกินไป ควรหยุดพักเป็นระยะอย่างน้อยครั้งละ 10 นาที

  5. รักษาร่างกายให้อบอุ่น โดยเฉพาะบริเวณมือ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก

  6. งดการสูบบุหรี่ เพราะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนโลหิต 

  7. หากพบความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook