เจ็บคอ ดื่ม “น้ำอุ่น” หรือ “น้ำเย็น” ดีกว่ากัน?
“เจ็บคอเมื่อไรทรมานทุกที”
นี่อาจจะเป็นความรู้สึกของคนที่มีอาการเจ็บคอบ่อย ๆ หรือทุกครั้งที่เป็นหวัด และเชื่อว่าหลายคนคงอยากจะหายเจ็บคอเร็ว ๆ
แต่นอกจากเราจะเถียงกันเรื่อง “เจ็บคอ ต้องกินยาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบหรือไม่ ?” แล้ว น่าจะมีอีกเรื่องที่เราต้องถกเถียงกัน นั่นคือ เจ็บคอ ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำเย็นดี ?
>> ไม่พูดเยอะ “เจ็บคอ” สาเหตุ และวิธีรักษาอาการเจ็บคออย่างถูกวิธี
>> “เจ็บคอ” แบบไหนอันตราย ควรไปหาหมอ
เจ็บคอ ดื่ม “น้ำอุ่น” หรือ “น้ำเย็น” ดีกว่ากัน ?
ในทางการแพทย์แล้ว ยังไม่ได้มีหลักฐานงานวิจัยชิ้นใดระบุอย่างชัดเจนว่า เมื่อมีอาการเจ็บคอ น้ำอุ่น หรือน้ำเย็นที่จะดีต่อคอ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้มากกว่ากัน เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอมีด้วยกันหลายอย่าง
เจ็บคอ เพราะเป็นหวัด - หากเป็นหวัดธรรมดา ๆ โดยอาจมีอาการปวดศีรษะ น้ำมูกไหล จาม ไอ และมีไข้ร่วมด้วย ควรเลือกจิบน้ำอุ่นจะดีกว่า เพราะน้ำอุ่นช่วยละลายเสมหะได้ ลดการระคายเคืองของคอ บรรเทาอาการไอได้เล็กน้อย และโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะไม่สั่งยาแก้อักเสบ หรือย่าฆ่าเชื้อให้ เพราะหากเจ็บคอจากอาการเป็นหวัด อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเริ่มหายหวัดนั่นเอง อย่าลืมดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อลดเสมหะด้วย
เจ็บคอ เพราะทอนซิลอักเสบ - ทอนซิลอักเสบ เป็นอาการที่ต่อมทอนซิลในคอมีอาการอักเสบ บวม แดง เป็นรอยแดงเป็นจ้ำ ๆ และอาจพบจุดหนองเล็ก ๆ ด้วย โดยอาการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้ออื่น ๆ ที่มาจากอาหารการกิน หรือจากสาเหตุอื่น ๆ อาการเจ็บคอจากทอนซิลอักเสบต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่สั่งให้โดยแพทย์ และควรดื่มน้ำเย็น เพื่อช่วยลดอาการบวม อักเสบของทอนซิล
>> เจ็บคอแบบไหน เสี่ยง “ทอนซิลอักเสบ”
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานไอศกรีม โดยเฉพาะไอศกรีมช็อกโกแลต เพราะช็อกโกแลตมีสารฟลาโวนอยที่ช่วยลดอาการอักเสบต่าง ๆ ได้ดี และยิ่งเป็นดาร์คช็อกโกแลตได้จะดีที่สุด เพราะดาร์คช็อกโกแลตจะมีสารฟลาโวนอยสูงกว่าช็อกโกแลตปกติ นอกจากนี้ยังสามารถรับประทานช็อกโกแลตแท่ง โกโก้เย็น โกโก้ปั่นได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การงดของมันของทอดยังเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่มีอาการเจ็บคอ เพราะอาหารมันอาหารทอดอาจทำให้อาการบวมอักเสบแย่ลง และอย่าลืมรับประทานยาตามที่หมอสั่งให้ครบ โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ (สำหรับคนที่เจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย) ต้องรับประทานยาให้ตรงตามเวลา และรับประทานยาให้หมดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะดื้อยานั่นเอง