ขับถ่ายแสบทวาร นั่งลำบาก เสี่ยง "ริดสีดวงทวาร"
โรคริดสีดวงทวารพบได้กับทุกเพศทุกวัย เกิดจากการเบ่งถ่ายอย่างรุนแรง และเรื้อรัง ควรรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มกากใย ประเภทผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด มันจัด ลดเนื้อแดง และไม่ใช้เวลาในการอุจจาระนาน จะสามารถลดความเสี่ยงโรคริดสีดวงทวารได้
หากพูดถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย ปัญหาที่เป็นปัญหายอดฮิตติดอันดับของคนไทย คงหนีไม่พ้นโรคริดสีดวงทวาร ที่ไม่มีใครอยากเป็นและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็น บางคนเป็นน้อยแต่บางคนเป็นมากถึงขั้นรุนแรง ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม้จะนั่งเฉยๆยังลำบาก
สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
คณะศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคริดสีดวงทวารพบได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเกิดจากการเบ่งถ่ายอย่างรุนแรง และเรื้อรัง เพราะผู้ที่มีอาการท้องผูกต้องเบ่งอย่างรุนแรงเวลาขับถ่ายจึงทำให้เลือดคั่งในเส้นเลือดดำที่ผนังรูทวารหนัก ส่งผลให้กลุ่มเส้นเลือดดำ และเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายของทวารหนักโป่งพองเกิดเป็นริดสีดวงทวาร
ปัจจัยของโรคนอกจากการเบ่งถ่ายรุนแรงแล้ว สามารถเกิดจากท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระบ่อยๆ นั่งถ่ายเป็นเวลานาน ๆ เช่น อ่านหนังสือพร้อมกับขับถ่าย หญิงตั้งครรภ์ ภาวะตับแข็ง และอายุมากขึ้น
ประเภทของโรคริดสีดวงทวาร
- ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) ริดสีดวงประเภทนี้อาจมองไม่เห็นก้อนริดสีดวงทวาร แต่สามารถสังเกตได้ว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารได้หลังถ่ายอุจจาระจะมีเลือดหยดออกมา
- ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids) จะเห็นก้อนเนื้ออยู่ที่ปากทวารหนัก ไม่สามารถดันเข้าไปในทวารหนักได้ บางครั้งเกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระรุนแรง ทำให้เส้นเลือดดำบริเวณปากทวารหนักแตก และเกิดเป็นก้อนแข็งๆ เจ็บ เรียกว่า Thrombosed External Demorrhoids
ระยะความรุนแรงของริดสีดวงทวารหนัก
ระยะความรุนแรงของริดสีดวงทวารหนัก แบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะ 1 (First degree) พบเพียงอาการเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ
ระยะ 2 (Second degree) พบหัวริดสีดวงทวาร อาจโผล่ออกมาตอนถ่าย และกลับเข้าไปได้เอง
ระยะ 3 (Third degree) หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาตอนถ่าย และต้องใช้นิ้วดันกลับเข้าไป
ระยะ4 (Forth degree) หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาตลอดเวลาไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจมีเลือดคั่ง และเจ็บปวดได้
การรักษาริดสีดวงทวาร
การรักษาริดสีดวงทวารแพทย์จะพิจารณาจากอาการและระดับความรุนแรงของโรค
ระยะที่ 1 เน้นการใช้ยาและการปฏิบัติตัว
ระยะที่ 2 และระยะที่3 (ในช่วงแรก) ใช้ยา การปฏิบัติตัว รวมถึงบางกรณีอาจใช้ยางชนิดพิเศษในการรัดริดสีดวงทวาร
ระยะ 3 (ขนาดค่อนข้างใหญ่) และระยะที่ 4 ต้องจัดการด้วยการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ในปัจจุบันมีการนำเครื่องมือแบบใหม่มาใช้รักษาริดสีดวงทวารหนักที่เป็นมากอย่างกว้างขวาง เครื่องมือนี้เรียกว่า สแตปเลอร์ หรือเครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled hemorroidectomy) การผ่าตัดแบบนี้จะช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้ เพราะวิธีนี้จะทำการผ่าตัดบริเวณที่สูงกว่าหูรูด อาการเจ็บปวดแผลหลังผ่าตัดจึงมีน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเก่า ใช้เวลาในการผ่าตัดและนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยกว่าเดิม และสามารถกลับเข้าทำงานได้รวดเร็วกว่าเดิม
วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวาร
- รับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มกากใย ประเภทผัก ผลไม้ให้มากขึ้น
- ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด และมัน
- ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ใหญ่
- หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอย่างรุนแรง และไม่ใช้เวลาในการถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน