“ไอเรื้อรัง” เป็นเพราะอะไร เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
Thailand Web Stat

“ไอเรื้อรัง” เป็นเพราะอะไร เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

“ไอเรื้อรัง” เป็นเพราะอะไร เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไอเรื้อรัง ไอคันคอ เจออากาศเย็นแล้วชอบไอ เป็นสัญญาณของการเกิดโรคได้มากมาย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่โรคภูมิแพ้ ไปจนถึงโรคมะเร็งปอด การไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ก่อนหน้านั้น มาทำความรู้จักกับอาการ ไอเรื้อรัง เพิ่มขึ้นกันอีกสักนิดดีกว่าว่า ไอเรื้อรัง เกิดจากอะไร และเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง?


ไอเรื้อรัง คืออะไร
?

ไอเรื้อรัง หรือ Chronic Cough คือ อาการไอที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มักมีอาการติดต่อกันเป็นนานเกิน 8 สัปดาห์ในผู้ใหญ่ และเกิน 4 สัปดาห์ในเด็ก โดยความจริงแล้ว ไอเรื้อรัง เป็นอาการที่ไม่ใช่โรค แต่ก็มีสาเหตุจากปัจจัย หรือปัญหาทางสุขภาพต่างๆ เช่น สูบบุหรี่ น้ำมูกไหล เสมหะหรือ น้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด และโรคกรดไหลย้อน เมื่อโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ อาการไอเรื้อรังก็จะหายไปด้วย

โดยพื้นฐานแล้ว ลักษณะของอาการไอที่ควรไปพบแพทย์ คือ

  • ไอติดต่อกันนานเกิน 8 สัปดาห์

  • มีอาการไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

  • ไอ โดยมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก

  • ไอมีเลือดปน

  • มีอาการไอเรื้อรัง หลังจากที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค หรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต หัวใจ ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไอ

 
ไอแบบไหนที่ควรระวัง

เราสามารถแบ่งชนิดของอาการไอ ตามระยะเวลาของอาการไอ ได้เป็น

- ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เป็นหวัด โพรงไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพองกำเริบ มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือสัมผัสสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส มลพิษทางอากาศ เป็นต้น

- ไอกึ่งเฉียบพลัน ระยะเวลาของอาการไอประมาณ 3 -8 สัปดาห์

- ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอนานกว่า 8 สัปดาห์ มักเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หืด กรดไหลย้อน เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม วัณโรคปอด เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุได้มากกว่า 1 สาเหตุ

ยิ่งไปกว่านี้ อาการ ไอเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ ยิ่งนับว่าเป็นความผิดปกติที่ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อสืบหาสาเหตุของอาการ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการร่วมเหล่านี้

  • ไอเป็นเลือดสดๆ หรือเสมหะมีเลือดปน

  • เบื่ออาหาร

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • หอบเหนื่อยง่าย

  • เกิดปอดอักเสบบ่อยครั้ง

  • กลืนลำบาก กลืนเจ็บ

  • เสียงแหบ

 ระวังคุณอาจ ไอเรื้อรัง เพราะเป็นโรคเหล่านี้!

วัณโรคปอด - ในระยะแรกอาจจะไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น จะมีอาการไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย

มะเร็งปอด - จะมีอาการไอเรื้อรังเมื่อโรคเป็นมากขึ้น บางรายอาจไอออกมาเป็นเลือดสดๆ บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย

ถุงลมโป่งพอง – มักพบในผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัด หรืออยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่จัดมานาน มักไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง

โรคหอบหืด - มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืนเมื่ออากาศเย็น เหนื่อยง่ายและหายใจมีเสียงวี๊ด แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่เป็นโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนแรง และไม่เคยมีอาการหืดจับหรือเหนื่อยง่ายเลย มีเพียงไอเรื้อรังเท่านั้น

โรคภูมิแพ้อากาศ - ผู้ป่วยมักจะมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล และมี น้ำมูกไหลลงคอ เวลานอน ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น

Advertisement

ไซนัสอักเสบ – มัก เป็นหวัดคัดจมูก หรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรก แล้วทรุดลงในภายหลัง มักไอเวลากลางคืนเพราะ น้ำมูกไหลลงคอ

กรดไหลย้อน - ผู้ป่วยที่มี กรดในกระเพาะ และกรดไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร หรือ GERD อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ มักไอแห้งๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจมีอาการแสบร้อนในอก หรือเรอเปรี้ยว ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น - มักพบต่อเนื่องจากการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือ เป็นหวัดคัดจมูก และหายแล้ว แต่ยังมีอาการไออยู่ มักจะไอมากในช่วงกลางคืน หรือเวลาที่อากาศเย็น ๆ ถูกลม เป็นต้น

ภาวะทางจิตใจมีปัญหา - มีคนเป็นจำนวนมากที่ไอ หรือกระแอม โดยที่ร่างกายต่างก็ปกติดี ไม่มีโรคใด ๆ อาการนี้เรียกกันว่า Psychogenic หรือ Habit Cough หรือก็คือ การไอจนติดเป็นนิสัย เมื่อเข้ารับการวินิจฉัย มักไม่พบว่ามีโรคที่เป็นสาเหตุของอาการไอ และมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นอาการไอเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากเหตุผลทางจิตใจ


ภาวะแทรกซ้อนของอาการไอเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนของอาการไอเรื้อรัง เป็นอาการที่อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทำให้เกิดความยากลำบากในการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ เนื่องจากไอบ่อย และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ เช่น

  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ

  • ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

  • รู้สึกไม่สบายกล้ามเนื้อ

  • นอนไม่หลับ

  • เสียงแหบ

  • เหงื่อออกมาก

  • มีเลือดออกในตาเล็กน้อย

  • ปัสสาวะเล็ด

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นไส้เลื่อน

  • ไอมาก หรือไอรุนแรงจนซี่โครงหัก


การรักษาอาการไอเรื้อรัง

สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา อาการไอเรื้อรัง คือ การหาสาเหตุของอาการ เพราะบางครั้งอาการไอเรื้อรังก็อาจหายเองได้ และบางครั้งก็เป็นโรคร้ายแรง หรือโรคที่ต้องรับการตรวจวินิจฉัย และรีบทำการรักษา จึงควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป

นอกจากนี้ คุณสามารถดูแลตนเอง ในระหว่างที่มีอาการไอเรื้อรังได้ด้วยการ

  • ดื่มน้ำอุ่น อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อช่วยกำจัดเสมหะ

  • หลีกเลี่ยงการสูดดม ฝุ่น ควันบุหรี่ หรือมลพิษทางอากาศ

  • เสริมหมอนเวลานอนให้สูงขึ้น เพื่อช่วยยกศีรษะและลำตัวช่วงบน

  • ใช้ยาอม ยาแก้ไอ เพื่อลดอาการไอ

  • ปฏิบัติตนตามแผนการรักษาที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา


การป้องกันอาการไอเรื้อรัง

  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นควัน มลพิษ

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เพื่อป้องกันการติดโรค

  • ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการทานผักผลไม้ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ

  • เลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของอาการไอเรื้อรัง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่อาจเป็นโรคหลอดลมอักเสบหรือปอดปวม


รับประทานอาหารและผลไม้ที่มีไฟเบอร์หรือกากใยสูง เพราะจากการวิจัยได้แนะนำว่าไฟเบอร์และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่พบในผลไม่อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันอาการไอเรื้อรังได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้