9 โรคติดต่อได้จากการ “กินแก้ว-หลอดเดียวกัน”
หากไม่อยากติดโรค อย่าดื่มน้ำจากแก้ว หรือหลอดเดียวกันกับคนอื่น เพราะนอกจากการใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกัน เช่น ช้อน ส้อม และตะเกียบแล้ว แก้วน้ำ และหลอดดูดน้ำก็ไม่ควรใช้ร่วมกันกับคนอื่นด้วย เพราะอาจติดโรคติดต่อที่ผ่านทางน้ำลายได้
ทำไมถึงห้ามกินน้ำแก้วเดียวกันกับคนอื่น ?
การกินน้ำแก้วเดียวกัน หรือหลอดดูดน้ำหลอดเดียวกันกับคนอื่น อาจเป็นการแพร่เชื้อของโรคติดต่อหลายโรคที่ติดกันได้ผ่านทางน้ำลาย แม้ว่าจะกินจากขอบแก้วคนละฝั่ง ก็ยังมีโอกาสที่น้ำลายจะปะปนอยู่ในเครื่องดื่มแก้วนั้นได้
9 โรคติดต่อได้จากการ “กินแก้วเดียวกัน”
อ.พญ. วรรษมน จันทรเบญจกุล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้
- ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดชนิดอื่น ๆ รวมถึงโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 (COVID-19) อีโบลา และซารส์ ด้วย
- คางทูม
- ไอกรน
- หัด หัดเยอรมัน
- คอตีบ
- ไวรัสตับอักเสบเอ และ อี (ไวรัสตับอักเสบบี ไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหารหรือน้ำดื่ม การให้นม และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล))
- กลุ่มโรคมือ เท้า ปาก และโรคเฮอแปงไจนา (โรคติดต่อทีมักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ทำให้มีไข้ มีแผลในปาก)
- เริมที่ปาก
- โมโนนิวคลิโอซิส (จากเชื้ออีบีวี หรือ ซีเอ็มวี) โรคติดต่อที่ผ่านทางจูบ (น้ำลาย)
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแชร์ภาชนะเครื่องดื่มกัน ควรทำอย่างไร ?
หากอยู่ในวงเหล้า หรือการกินอาหารที่บ้านเพื่อนแบบที่ต้องแชร์ภาชนะเครื่องดื่มร่วมกัน เช่น แก้ว ขันน้ำ ควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด ดื่มน้ำจากหลอดดูดน้ำของตัวเองเพียงหลอดเดียว และถ้าสะดวก ควรพกแก้วน้ำส่วนตัวติดตัวไว้ในกระเป๋า สามารถใช้พกพาน้ำดื่มของตัวเองได้ตลอดเวลา ใช้เติมเครื่องดื่มที่ร้านขายกาแฟ รวมถึงในกรณีที่ไม่มีแก้วน้ำเพียงพอในหลาย ๆ สถานการณ์อีกด้วย