โควิด-19: รู้หรือไม่? แบคทีเรียจากการไอ-จาม มีชีวิตได้นาน 45 นาที
ในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ทุกคนต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากเป็นพิเศษ เพราะหากละอองน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ที่ติดเชื้อไปสัมผัสบริเวณตา, จมูก, ปากของเราก็สามารถติดเชื้อได้แล้ว
แม้ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าเวลาไอหรือจามควรจะปิดปากเพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้กระจาย และเป็นมารยาทที่พึงกระทำในที่สาธารณะ แต่หลายคนยังคงละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญมากนัก
รู้หรือไม่ว่า จากผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า หลังจากไอหรือจามออกไปแล้ว เชื้อโรคบางชนิดสามารถกระจายได้ไกลถึง 4 เมตร และยังมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นานถึง 45 นาทีเลยทีเดียว
ทั้งนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Queensland University of Technology ในออสเตรเลีย นำโดยศาสตราจารย์ลิเดีย โมรอฟสก้า ทำการศึกษาว่าแบคทีเรียจะส่งผลต่อคนอย่างไรหลังจากแพร่กระจายเป็นเวลานาน โดยพบว่า แบคทีเรียที่มีชื่อว่า Pseudomonas aeruginosa เป็นเชื้อโรคที่มีความทนทานต่อการย่อยสลายทางชีวภาพ จึงอยู่ในอากาศได้นานถึง 45 นาที ต่างจากแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ในอากาศได้แค่ราว 10 วินาทีเท่านั้น
โดยแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa พบได้มากในโรงพยาบาล และยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า 1 สัปดาห์ มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียได้สูง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง ซึ่งอาการที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa มีตั้งแต่เป็นไข้, หายใจลำบาก, รู้สึกเพลีย อ่อนล้า ไปจนถึงเป็นปอดบวม และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ดังนั้น หากต้องไอหรือจามจึงควรจะปิดปากทุกครั้ง หรือถ้ารู้ตัวว่าไม่สบายก็ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดหนักอยู่ในขณะนี้