แพทย์แนะ เคล็ดลับลดเสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่"
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของคนไทย มักพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยปกติมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเริ่มเกิดจากติ่งเนื้อเล็กๆ (polyp) ในลำไส้ใหญ่ หลังจากนั้นประมาณ 5-10 ปีจะค่อยๆ มีขนาดโตขึ้นและจะมีติ่งเนื้อบางส่วน เกิดการกลายพันธุ์จนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในที่สุด นพ. ศุภพัชญ ศรีภูษณาพรรณ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ข้อมูลสำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น
- การรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำและมีไขมันสูง
- การรับประทานเนื้อแดง อาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง
- ภาวะอ้วนลงพุงหรือน้ำหนักเกิน
- ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีได้หลากหลาย ผู้ป่วยอาจมีอาการขับถ่ายผิดปกติ มีท้องผูกสลับท้องเสีย บางคนมีอาการปวดท้องเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการรุนแรงจนมีอาการถ่ายเป็นเลือดหรือลำไส้อุดตัน
อย่างไรก็ตามบางคนอาจจะไม่มีอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ได้เพราะอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้นมักไม่ค่อยแสดงอาการออกมาให้เห็น ถ้าเริ่มมีอาการออกมาเมื่อไหร่นั่นหมายความว่าระยะของโรคมะเร็งมักจะไปไกลแล้ว อาการที่แสดง เช่น เบื่ออาหาร ท้องอืด ถ่ายผิดปกติ มีเลือดปนในอุจจาระ ถ่ายยาก ลำบาก อุจจาระลำเล็กลง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นหากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ซ่อนอยู่
มะเร็งเป็นโรคที่เกิดการพฤติกรรมและการใช้ชีวิตก็ไม่ผิดนัก ดังนั้นถ้าอยากหนีและลดความเสี่ยงจากมะเร็งร้าย สามารถทำได้ 2 วิธีหลัก คือ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
พฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตมีผลทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่า 1 ใน 3
คำแนะนำและเคล็ดลับในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและมีอนุมูลอิสระ (antioxidant) สูง ผักและผลไม้หลากสี เช่น ฟักทอง แครอท ผักโขม คะน้า บล๊อคโคลี บีทรูท แอปเปิ้ล กระเทียม ขิงและธัญพืชต่างๆ
- เลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันสูงและเนื้อแดง
- เลี่ยงอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียมและอาหารหมักดอง
- งดสูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีภาวะอ้วนลงพุง
- ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ปกติแนะนำให้คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีหรือคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวิธีที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากหากตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่จากการส่องกล้อง แพทย์จะสามารถตัดเอาติ่งเนื้อเหล่านั้นออกมาเพื่อตรวจวินิจฉัยและป้องกันการกลายเป็นมะเร็งของติ่งเนื้อนั้นในอนาคตได้ นอกจากนั้นยังมีการตรวจคัดกรองอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonoscopy) หรือตรวจเลือดที่ปนมากับอุจจาระ (Stool occult blood) ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน
คนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็คโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้ายๆแล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็คตั้งแต่เนิ่นๆ คือหนทางป้องกันโรคได้ในระยะยาว