ไขข้อสงสัย ทำไม “การหาว” จึงเป็นโรคติดต่อ

ไขข้อสงสัย ทำไม “การหาว” จึงเป็นโรคติดต่อ

ไขข้อสงสัย ทำไม “การหาว” จึงเป็นโรคติดต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยได้ยินหรือไม่ว่า หากเราสงสัยว่าใครกำลังแอบมองเราอยู่ ให้ลองหาว หากใครหาวตามเรา แสดงว่าเขานั่นแหละที่กำลังแอบมองเราอยู่!

ข้อความข้างต้นอาจจะทำให้ใครหลายคนรู้สึกโรแมนติกอยู่ไม่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่านั่นคือเรื่องจริง เพราะ “การหาวติดต่อกันได้” โดยการหาวตามคนอื่นทั้งที่เราไม่ได้ง่วงนั้น เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า “contagious yawning”

ปกติการหาวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมักเกิดขึ้นในขณะที่เรากำลังรู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า หรือเบื่อ โดยในช่วงนี้ ระดับออกซิเจนในเลือดจะต่ำ ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดนั้นเข้มข้นขึ้น ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย การหาวจะช่วยให้เราสามารถหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปให้ได้มากขึ้น และในขณะที่หายใจออก ก็ยังนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาได้มากขึ้นเช่นกัน

หาวตามกันเพราะเลียนแบบกัน?

ข้อสันนิษฐานนี้ให้ข้อสังเกตว่า การหาวตามคนอื่นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว หรือที่เรียกว่า Chameleon Effect การศึกษานี้ได้ศึกษาการเลียนแบบการแสดงออกหรือพฤติกรรมอื่น ๆ ของผู้อื่น ว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำตามคนที่เราอยู่ด้วยโดยไม่รู้ตัว เกิดขึ้นจากเซลล์สมองกระจกเงา (mirror neurons) เซลล์สมองส่วนนี้จึงใช้ในการเรียนรู้แบบลอกเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่หาวติดต่อกันได้ แต่ยังพบว่าสุนัขและชิมแปนซีก็มีพฤติกรรมหาวตามกันด้วยเช่นกัน!

ปรากฏการณ์นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อเวลาเราเห็นใครคนใดคนหนึ่งกำลังกระทำบางอย่าง เซลล์สมองกระจกเงาจะสั่งให้สมองทำงานราวกับว่าเรากำลังทำสิ่งเดียวกันนั้นอยู่ด้วย การกระทำที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการหาว ก็อาจจะเป็นการนั่งไขว่ห้าง การก้มดูนาฬิกา การที่มีคนยื่นของให้แล้วเราก็ยื่นมือออกไปรับอัตโนมัติโดยที่ไม่ทันได้มองว่าคืออะไร ซึ่งนั่นก็รวมถึงการหาวด้วย ซึ่งเมื่อเราเห็นภาพกลไกการหาว เราจึงหาวตาม

หาวตาม เพราะเราเห็นใจผู้อื่น?

อีกข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับเซลล์สมองกระจกเงา คือ การเข้าใจถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น หรือที่เรียกว่า empathy yawn โดยทั่วไป พัฒนาการด้านนี้จะเริ่มมีในเด็กปฐมวัย ช่วงอายุประมาณ 4-5 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น สอดคล้องกับการค้นพบที่ว่าเด็กวัยนี้มีการพัฒนาของเซลล์สมองกระจกเงาด้วยเช่นกัน

พัฒนาการในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นของเด็กปฐมวัยนั้น เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ 2 องค์ประกอบ ได้แก่ ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นด้านอารมณ์ และความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นด้านความคิด ซึ่งความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เป็นความตระหนักรู้เกี่ยวกับอารมณ์และความคิดของผู้อื่น ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยการสวมบทบาทความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นให้เหมือนตนเองอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ผ่านการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

จากการศึกษาของ University of Connecticut พบว่าเด็กส่วนใหญ่จะไม่มีการหาวติดต่อกันจนกระทั่งจะเข้าสู่ช่วงปฐมวัย เนื่องจากพัฒนาการด้านการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นยังไม่มากพอ ในขณะที่การศึกษาจาก Duke University กลับพบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการหาวติดต่อกันนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวแปรในเรื่องของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้นักวิจัยของ Duke University สนใจที่จะศึกษาเรื่องการหาวติดต่อกันต่อไป โดยมุ่งวิเคราะห์ไปถึงระดับพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เซลล์สมองกระจกเงาในกลุ่มคนที่ไม่ได้มีความรู้สึกห่วงใยเข้าใจผู้อื่น หรือวิเคราะห์ในกลุ่มเด็กที่เป็นออทิสติก (พัฒนาการผิดปกติ) ได้ผลลัพธ์ว่าคนทั้ง 2 กลุ่มไม่ค่อยจะหาวตามกันสักเท่าไร

การหาวตามกันเป็นพฤติกรรม?

เป็นข้อสันนิษฐานของนักพฤติกรรมศาสตร์ที่ระบุว่า การหาวตามกัน เป็นรูปแบบของพฤติกรรมที่ถูกกำหนดไว้ หรือ fixed action pattern โดยการหาวนั้นเป็นปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดย fixed action pattern ที่ว่านี้เป็นรูปแบบพฤติกรรมที่ง่ายที่สุด เป็นการตอบสนองแบบตรงไปตรงมาเหมือนๆ กันทุกครั้ง วงจรประสาทจะทำงานทันทีเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ในลักษณะคล้ายกับโดมิโน ที่ตัวหนึ่งล้มตัวต่อๆ ไปก็จะล้มตาม ดังนั้น เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งเกิดหาวขึ้นมา จะเป็นสิ่งเร้าให้คนรอบข้างหาวตามนั่นเอง

ถึงอย่างนั้น “ปรากฏการณ์หาวตามกัน” ก็ยังเป็นปริศนาที่ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ถ้าคุณหาวเพราะง่วง หากนอนได้ก็ไปนอนเถอะ!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook