รู้จักโรค “เมลิออยโดสิส” ที่มาจากการลุยน้ำ ลุยโคลน

รู้จักโรค “เมลิออยโดสิส” ที่มาจากการลุยน้ำ ลุยโคลน

รู้จักโรค “เมลิออยโดสิส” ที่มาจากการลุยน้ำ ลุยโคลน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคเมลิออยโดสิส หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินโรคนี้มาก่อน ชื่อโรคอาจจะเรียกยาก ไม่คุ้นหู แต่โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจรุนแรงถึงตายได้!

โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) คืออะไร?

โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบอโคโดเลีย สูโดมาลิอาย Burkholderia pseudomallei (B. pseudomallei)” ซึ่งพบได้ทั่วไปทั้งในดิน ในน้ำ และในพืชบางชนิด จึงสามารถติดเชื้อได้จากการลุยโคลนหรือลุยน้ำในช่วงฤดูฝน และยังพบการติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อด้วย

โอกาสติดเชื้อมีได้หลายทาง ทั้งผ่านผิวหนัง หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง จะได้รับเชื้อจากการเดินลุยโคลน ลุยน้ำที่ท่วมขัง ผ่านระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นดินเข้าไป ผ่านทางระบบทางเดินอาหาร เช่น การดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่เข้าไป

อาการของโรคเมลิออยโดสิส

อาการของโรคที่พบโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เป็นระยะเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก บางรายมีอาการคล้ายกับวัณโรค ปอดบวม หรือปอดอักเสบอย่างรุนแรง ด้วยลักษณะอาการที่คล้ายกับอาการป่วยโรคทั่วไป หรือคล้ายกับโรคอื่น และคนไม่รู้จักโรคนี้ดีพอ จึงทำให้รักษาไม่ทันเวลา

โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ยังสามารถก่อให้เกิดอาการได้ในหลายลักษณะ มีทั้งการติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในอวัยวะภายใน หรือติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งการติดเชื้อในกระแสเลือดนี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต

การติดเชื้อทางผิวหนัง เป็นการติดเชื้อเฉพาะตำแหน่งที่สัมผัสเชื้อโรค เช่น ผ่านทางบาดแผล จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อมีอาการเจ็บ บวม มีแผลเปื่อยสีออกขาวเทา อาจมีตุ่มขึ้น เป็นแผลเรื้อรัง และอาจเกิดเป็นฝีหรือหนองขึ้นมา รวมถึงส่งผลให้มีอาการไข้และเจ็บกล้ามเนื้อ

การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร จากการติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายจะอักเสบบวม โต เจ็บ อาจเกิดฝี หนอง หากเชื้อเข้าตาจะทำให้เยื่อตาอักเสบ

การอักเสบเฉพาะอวัยวะเหล่านี้จะส่งผลให้มีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงอวัยวะนั้น ๆ ร่วมด้วย ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต คลำแล้วเจ็บ และอาจเกิดเป็นหนอง และที่สำคัญ การติดเชื้ออาจจำกัดอยู่ที่บริเวณดังกล่าวหรือแพร่ผ่านกระแสเลือดต่อไปก็ได้

การติดเชื้อในปอด เกิดจากการสูดดมเชื้อเข้าไป ทำให้ปอดอักเสบ หากเอกซเรย์ปอดอาจจะพบก้อนหนองในปอดได้ อาการที่ปรากฏให้เห็นมีได้ตั้งแต่หลอดลมอักเสบชนิดไม่รุนแรงไปจนถึงอาการของโรคปอดบวมชนิดรุนแรง

ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร มีอาการร่วมกับระบบทางเดินหายใจ ไอ (อาจไอเป็นเลือด) มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อโดยทั่วไป ซึ่งอาจทำให้แพทย์สับสนกับวัณโรคได้ในตอนวินิจฉัยโรค

การติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ภาวะไตวาย หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะติดเชื้อลักษณะนี้มากที่สุด ที่จะทำให้เกิดอาการช็อก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ความดันต่ำ ช็อก หายใจลำบาก รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดข้อต่อ และมีภาวะสูญเสียการรับรู้ด้านสถานที่ เวลา และบุคคลได้ ปกติการติดเชื้อในลักษณะนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว และอาจพบฝีทั่วร่างกาย โดยเฉพาะในตับ ม้าม หรือต่อมลูกหมาก สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือช้าเกินไป

หากเชื้อกระจายทั่วร่างกาย เชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายจากผิวหนังผ่านเลือดไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย จนกลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังที่อาจส่งผลต่ออวัยวะสำคัญ อย่างหัวใจ สมอง ตับ ไต ม้าม ต่อมลูกหมาก ข้อต่อ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก และดวงตา

โดยการติดเชื้อเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือเรื้อรังก็ได้ สามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยที่อาจมีไข้ น้ำหนักลด ปวดท้อง เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ ปวดศีรษะ หรือเกิดอาการชัก

อันตรายของโรคเมลิออยโดสิส ส่วนใหญ่มาจากการวินิจฉัยโรคช้าเกินไป เนื่องจากอาการของโรคไปคล้ายคลึงกับโรคอื่น ซึ่งทำให้แพทย์ต้องวินิจฉัยซ้ำ ทำให้รักษาไม่ทันเวลา โดยเฉพาะหากเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดภาวะไตวาย กระดูกอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดฝีในสมอง ม้าม หรือตับ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จนทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องก็เป็นอันตรายที่ถึงตาย

อีกทั้งการรับยาไม่ถูกโรค ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้ ฉะนั้น หากมีไข้หรือมีอาการป่วยควรรีบพบแพทย์ อย่าปล่อยไว้นาน เพื่อที่จะรักษาได้ทันเวลา และป้องกันอาการรุนแรงแทรกซ้อนที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต

ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเมลิออยโดสิส

ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคเมลิออยโดสิส ส่วนใหญ่คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำอยู่เป็นประจำ ในช่วงหน้าฝน คนที่เดินลุยน้ำท่วมขัง น้ำโคลนก็ติดเชื้อได้ แม้จะเป็นผู้ที่ร่างกายแข็งแรงดี แต่ได้รับเชื้อมา อาการป่วยก็สาหัสได้

ยิ่งหากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต โลหิตจาง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มะเร็งตามอวัยวะต่าง ๆ หรือมีสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ด้วยแล้วนั้น ก็จะมีความเสี่ยงที่จะป่วยโรคนี้แทรกซ้อนได้ ซึ่งอันตรายมาก

ในคนดูแลผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส หากสัมผัสไปโดนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยก็มีโอกาสติดเชื้อได้ รวมไปถึงผู้ที่ดูแลวัวหรือควาย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้าน ซึ่งสัตว์สามารถเป็นโรคเมลิออยโดสิสได้ จึงมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน หากเชื้ออยู่ในซากสัตว์ที่ตายแล้วและถูกฝัง เชื้อจะฝังอยู่ในดินบริเวณนั้นตลอดไป หากไปสัมผัสที่ดินบริเวณนั้นเข้า ก็มีโอกาสได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน มักจะมีน้ำท่วมขังตามพื้นที่ต่าง ๆ บริเวณที่เคยเป็นพื้นดิน เมื่อมีฝนตกจะกลายเป็นโคลน หากไปเดินลุยน้ำ ลุยโคลนด้วยเท้าเปล่า หรือไม่มีการป้องกันโรค ก็จะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อที่ปะปนอยู่ในดินหรือน้ำได้

การป้องกันและรักษาโรคเมลิออยโดสิส

การปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค คือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น ทำการเกษตร ลุยโคลน ลุยน้ำที่ท่วมขัง ตากฝน หรือสัมผัสกับลมฝุ่น หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูท กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยการฟอกสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดทันทีที่ทำได้ รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลขึ้นหากจำเป็นต้องสัมผัสดินและน้ำ ถ้ามีแผลถลอกแล้วไปสัมผัสกับดินและน้ำเข้า จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ

ถึงจะดูเป็นโรคที่น่ากลัวและมีอัตราการตายสูง แต่โรคเมลิออยโดสิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องรวดเร็วตั้งแต่แรก แต่การจะรักษาให้หายขาดใช้นานหลายเดือนเลยทีเดียว โดยแพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะในช่วง 2 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาชนิดกินต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรักษาตามอาการ และปรับยาตามความเหมาะสม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook