"น้ำตาเทียม" ตัวช่วยของคนตาแห้ง กับข้อควรรู้ในการเลือกใช้ให้เหมาะสม
หลายคนอาจไม่เชื่อว่า หยดน้ำหยดเล็กๆ อย่าง “น้ำตา” จะมีหน้าที่สำคัญและส่งผลต่อสุขภาพของคุณได้ น้ำตาช่วยให้กระจกตาและเยื่อบุตาชุ่มชื้น ช่วยให้เรามองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ช่วยกำจัดของเสียออกจากกระจกตา ทั้งยังช่วยป้องกันกระจกตาติดเชื้อได้ด้วย หากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ ก็มักจะส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา ตาพร่า มองเห็นไม่ชัด เป็นต้น แต่ปัญหานี้ก็แก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการใช้ น้ำตาเทียม ว่าแต่น้ำตาเทียมจะมีกี่ชนิด แล้วคุณควรเลือกใช้อย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้คุณแล้ว
น้ำตาเทียม คืออะไร
น้ำตาเทียม (Artificial Tear) คือ สารละลายสำหรับหยอดตา เพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น และช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับดวงตาเนื่องจากตาแห้ง เช่น ระคายเคืองตา ตาแดง ตาพร่า ซึ่งภาวะตาแห้งที่เกิดขึ้นอาจมาจากอายุที่มากขึ้น การใช้ยาบางชนิด ปัญหาสุขภาพบางประการ การผ่าตัดดวงตา หรือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นควัน ลมแรง ก็ได้
ชนิดของน้ำตาเทียม
- น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย
การเติมสารกันเสียลงในน้ำตาเทียมจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตหลังจากเปิดใช้น้ำตาเทียมแล้ว โดยสารกันบูดหรือสารกันเสียที่นิยมใช้ในน้ำตาเทียม ได้แก่ เบนซัลโคเนียม คลอไรด์ (Benzalkonium Chloride หรือ BKC) คนส่วนใหญ่สามารถใช้น้ำตาเทียมแบบมีสารกันเสียได้อย่างปลอดภัย ยกเว้นคนที่เป็นโรคตาแห้งรุนแรง ซึ่งต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อยมาก เพราะหากใช้น้ำตาเทียมชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรง หรือภาวะเป็นพิษ และทำให้อาการแย่กว่าเดิมได้ หรือหากใครแพ้สารกันเสียที่ใส่ในน้ำตาเทียม หรือไม่แน่ใจว่าจะแพ้หรือไม่ ก็ควรเลี่ยงไปใช้น้ำตาเทียมชนิดอื่นแทน
- น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย
น้ำตาเทียมชนิดนี้มีสารเคมีน้อยกว่า และจะมาในลักษณะหลอดเล็ก ๆ ที่มีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้งานหนึ่งวัน น้ำตาเทียมชนิดไม่มีสารกันเสียเหมาะกับผู้ที่ต้องใช้น้ำตาเทียมติดต่อกันเกิน 4 วัน ผู้ที่มีปัญหาตาแห้งในระดับปานกลางและระดับรุนแรง
- น้ำตาเทียมที่มีสารเคลือบตา
น้ำตาเทียมชนิดนี้มีสารที่เรียกว่า Hydroxypropyl-guar (HP-guar) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเจล หรือเมือก เมื่อหยอดแล้วจะทำให้ตาพร่ามัวในช่วงแรกที่หยอด แต่สารนี้ก็ช่วยให้น้ำตาเทียมสามารถฉาบหรือเคลือบตาได้นานขึ้น ส่งผลให้เซลล์ลูกตาชุ่มชื้นขึ้น จึงลดความเสี่ยงในการเกิดอาการตาแห้งจนเซลล์ลูกตาระคายเคือง หรือเสียหายได้
- น้ำตาเทียมที่มีน้ำมัน
น้ำมันที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำตาเทียมชนิดนี้ เช่น น้ำมันละหุ่ง (Castor Oil) น้ำมันแร่ (Mineral Oil) ซึ่งจะช่วยปรับระดับของน้ำมันที่อยู่ในน้ำตาของเราให้สมดุล เพราะหากในน้ำตามีน้ำมันน้อยเกินไปจะทำให้น้ำตาระเหยเร็วกว่าปกติ จนตาแห้งและระคายเคือง หรืออาจทำให้เกิดโรค เช่น เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) ภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction หรือ MGD)
วิธีใช้น้ำตาเทียมที่ถูกต้อง
- ล้างมือให้สะอาด และซับให้แห้ง
- เงยหน้าเล็กน้อย ใช้นิ้วชี้ดึงเปลือกตาล่างลงมาให้เป็นกระเปาะ บีบน้ำตาเทียม 1-2 หยดลงในกระเปาะตาล่าง
- อย่าให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมโดนนิ้ว ดวงตา หรือพื้นผิวอื่นๆ
- หลับตาช้าๆ สัก 2-3 วินาที ให้น้ำตาเทียมเคลือบทั่วผิวลูกตา
- ล้างมือให้สะอาด และซับให้แห้ง
ผลข้างเคียงของการใช้น้ำตาเทียม
ผู้ใช้น้ำตาเทียมบางราย อาจเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้
- ปฏิกิริยาภูมิแพ้ ทำให้มีอาการ เช่น ผื่นผิวหนัง อาการคัน ลมพิษ อาการหน้าบวม ปากบวม หรือลิ้นบวม
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป
- ระคายเคืองตา หรือตาแดง
- อาการไม่ดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง เจ็บตา
หากคุณใช้น้ำตาเทียมแล้วอาการตาแห้งแย่ลง หรือเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวนานเกิน 72 ชั่วโมง ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที
วิธีเก็บรักษาน้ำตาเทียม
คุณควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส และไม่ควรนำน้ำตาเทียมไปแช่แข็ง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เมื่อเปิดน้ำตาเทียมแล้ว ไม่ควรใช้งานเกิน 30 วัน และหากหมดอายุก็ต้องทิ้งทันที