"หมึกบลูริง" กับอันตรายจากพิษร้ายแรง เสี่ยงเสียชีวิต

"หมึกบลูริง" กับอันตรายจากพิษร้ายแรง เสี่ยงเสียชีวิต

"หมึกบลูริง" กับอันตรายจากพิษร้ายแรง เสี่ยงเสียชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวที่มีคนพบเห็นหมึกบลูริงเสียบไม้เตรียมย่างขายในตลาด พร้อมเตือนว่าหมึกบลูริงอันตราย ไม่ควรรับประทาน Sanook Health มีข้อมูลมาฝากว่า หมึกบลูริง อันตรายมากแค่ไหน

อันตรายจากหมึกบลูริง

หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง เป็นหมึกในสกุล Hapalochlaena อันดับหมึกยักษ์ จัดเป็นหมึกขนาดเล็กจำพวกหนึ่ง มีจุดเด่น คือสีสันตามลำตัวที่เป็นจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินหรือสีม่วงซึ่งสามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม ตัดพื้นลำตัวสีขาวหรือเขียว 

หมึกบลูริง เป็นหมึกที่มีพิษทั้งจากการกัด หรือต่อยเหยื่อ เพื่อฉีดพิษเข้าสู่ร่างของเหยื่อ และหากมีสัตว์หรือคนไปสัมผัสกับหมึกบลูริง ก็อาจได้รับสารพิษจากตัวหมึกเองได้

หมึกบลูริง มีต่อมพิษที่สามารถกัดและปล่อยพิษได้ รวมถึงอวัยวะส่วนต่างๆของตัวมันเองก็มีพิษที่แฝงอยู่ด้วย ทำให้ใครเผลอกินไปก็สามารถติดพิษได้เช่นกัน

พิษของหมึกสายวงน้ำเงินเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมัน (เป็นแบคทีเรียสกุล Bacillus และ Pseudomonas) พิษเตโตรโดท็อกซินและแบคทีเรียยังพบได้ในไข่ของหมึก

สันนิษฐานว่าเป็นกระบวนการส่งถ่ายความสามารถในการสร้างพิษจากแม่หมึกไปยังลูก โดยพบได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยด้วยซ้ำ

ในน่านน้ำของประเทศไทยนั้นมีหมึกสายวงน้ำเงินอย่างน้อย 1 สปีชีส์ (จากทั้งหมด 3-4 สปีชีส์) คือ Hapalochlaena maculosa สามารถพบได้ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย

ต่อมพิษของหมึกชนิดนี้จะอยู่ที่ปาก (ต่อมน้ำลาย salivary gland) ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นจึงมักเกิดจากการถูกมันกัด ไม่ใช่จากการสัมผัสโดนตัว  โดยพิษของหมึกชนิดนี้จะไม่สลายเมื่อถูกความร้อน หากนําไปปรุงอาหารจนสุก แล้วรับประทานเข้าไป ก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้เช่นกัน จึงไม่ควรซื้อมาปรุงเป็นอาหารรับประทานเด็ดขาด

นอกจากนี้ พิษของหมึกบลูริงยังทนต่อความร้อนสูงถึง 200 องศา ดังนั้นการปิ้งย่างธรรมดาๆ จึงไม่สามารถลดพิษของหมึกบลูริงได้

พิษของหมึกบลูริง รุนแรงแค่ไหน?

หมึกบลูริง นับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก แรงกว่างูทะเลหลายเท่า และยังแรงกว่าพิษงูเห่าถึง 20 เท่า สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า เตโตรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า และอาจทำให้ผู้ที่ได้รับพิษมีอาการ ดังนี้

  • หายใจไม่ออก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • กระบังลมเป็นอัมพาตในทันที ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้
  • อาจเสียชีวิตภายใน 2-3 นาที

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อถูกพิษหมึกบลูริง

การปฐมพยาบาล ต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนสมองตาย

วิธีรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากหมึกบลูริง

พิษของหมึกบลูริง ไม่มียารักษาโดยตรง คนที่ได้รับพิษจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ ICU จนกว่าพิษจะสลายไปเอง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีอาจรอดปลอดภัย แต่หากใครภูมิคุ้มกันไม่ดีมาก ร่างกายสู้ไม่ไหว ก็อาจเกิดภาวะระบบการหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตลงได้ในที่สุด

ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัส รับประทานหมึกบลูริงโดยสิ้นเชิง และควรหลีกเลี่ยงร้านค้าที่ไม่ทราบที่มาที่ไป หรือชนิดของอาหารที่ขายจะดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook