พฤติกรรมเสี่ยงทำร้าย “กระดูกสันหลัง” โดยไม่รู้ตัว
เราอาจไม่เห็นความสำคัญของ “กระดูกสันหลัง” และอาจจะเริ่มมาใส่ใจก็ต่อเมื่อเราเริ่มมีอาการปวดหลัง ลามไปถึงคอ จนสุดท้ายไปเป็นโรคต่างๆ ที่ต้องเข้ารับการรักษา ตั้งแต่การกินยาไปจนถึงการผ่าตัด
เราอาจกำลังทำร้ายกระดูกสันหลังโดยไม่รู้ตัวอยู่ทุกวันก็เป็นไปได้ รู้ตัวอีกทีก็นอนโรงพยาบาล ทำกายภาพบำบัดนานๆ ไปเสียแล้ว รีบมาเช็กก่อนจะสายเกินไปกันดีกว่า Sanook Health มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผ่านอีเมลกับ นพ.สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม ศัลยแพทย์ระบบประสาท หัวหน้าศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน โดยความร่วมมือกับ บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายกระดูกสันหลังโดยไม่รู้ตัว รวมถึงวิธีป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูกวันหลังอย่างละเอียดกัน
พฤติกรรมเสี่ยง ทำร้าย “กระดูกสันหลัง” โดยไม่รู้ตัว
- อิริยาบถหรือท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งทำงานในท่างอหลังเป็นเวลานาน การก้มลงยกของจากพื้นโดยไม่ย่อเข่า นั่งทำงานด้วยโต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่ได้ระดับสัมพันธ์กับสรีระร่างกาย เอียงคอคุยโทรศัพท์เป็นเวลานาน ทำงาน / เล่นคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอนคว่ำหน้าเป็นประจำ หรือเงยคอทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น
- ภาวะเครียดทางจิตใจ อาจมีสาเหตุจากหน้าที่การงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัว การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็งนานผิดปกติ มีอาการปวดคอและศีรษะแถวท้ายทอยได้
- อุบัติเหตุบริเวณคอ ภาวะดังกล่าวทำให้คอต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เอ็นหรือกล้ามเนื้อต้องถูกยืดอย่างมากจนเกิดอาการฉีกขาด เกิดอาการปวดและกล้ามเนื้อหดเกร็งจนเคลื่อนไหวไม่ถนัด หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุรุนแรงอาจมีกระดูกคอหักหรือเคลื่อนที่ได้
- สาเหตุอื่นๆ เช่น มีกระดูกคอผิดปกติแต่กำเนิด สายตาผิดปกติ โรคของอวัยวะภายในที่ทำให้เกิดการปวดร้าวลงมาหลังได้ เช่น โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก โรคหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้อง หรือมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูกสันหลัง เป็นต้น
อาการปวดหลังที่ควรได้รับการรักษา
- ปวดตึง หรือตื้อบริเวณคอ อาจร้าวมาที่บ่า สะบักหรือแขน
- ในบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงร่วมกับอาการชา
- เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง
- ปวดบริเวณบั้นเอว หรืออาจมีอาการปวดร้าวมาที่สะโพกหรือขา
- อาการปวดอาจเป็นๆ หายๆ หรือปวดตลอดเวลาสัมพันธ์กับท่าทาง เช่น ปวดมากขึ้นเมื่อยืน เดิน
- ในบางรายอาจมีอาการชา อ่อนแรงของขา หรือมีปัญหาอุจจาระและปัสสาวะผิดปกติร่วมด้วย
โรคที่มักพบที่กระดูกสันหลัง
- โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน
ภาวะหมอนรองกระดูกส่วนที่เป็นเหมือนวุ้นเจลเคลื่อนผ่านรูเล็กๆ ที่ฉีกขาดของเส้นใยออกมา ส่วนใหญ่เกิดจาก อุบัติเหตุที่หลังหรือการใช้งาน เช่น ยกของหนักเกินไป ยกของผิดท่า
- โรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบกดทับเส้นประสาท
ความเสื่อมของร่างกายทั้งจากอายุและการใช้งาน ทำให้เกิดการยุบตัวของหมอนรองกระดูกสันหลัง มีข้อกระดูกสันหลังที่โตขึ้น มีการหนาตัวของเนื้อเยื่อรอบข้อกระดูกสันหลัง
- หมอนรองกระดูกคอเสื่อม
หมอนรองกระดูกคอเกิดความเสื่อมได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ การสะบัดคอเร็วแรงบ่อยๆ หรือการก้มเงยมากๆ เป็นเวลานาน
- โรคกระดูกสันหลังคด
เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กหรือวัยรุ่น ในช่วงที่มีการเจริญเติบโต แนวกระดูกจะโค้งเป็นรูปตัว “C” หรือตัว “S” เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
การรักษาโรคกระดูกสันหลัง
วิธีรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด
- หัตถการระงับปวด วิธีการลดปวดด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวด การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท เพื่อลดอาการอักเสบและบวมของปมประสาทที่เกิดจากหมอนรองกระดูกกดทับหรือโพรงประสาท
- ใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อบำบัดปวดข้อต่อฟาเซ็ต ทำให้ลดการส่งสัญญาณปวดและลดอาการปวด
- ฉีดยาเข้าข้อต่อฟาเซ็ตหรือเข้าเส้นประสาทฟาเซ็ต ด้วยการฉีดยาชาอาจผสมกับยาสเตียรอยด์ไปบริเวณข้อต่อฟาเซ็ตหรือเส้นประสาทฟาเซ็ตที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุปวด
วิธีรักษาโรคกระดูกสันหลังแบบผ่าตัด
- ผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป การผ่าตัดจะทำผ่านกล้องเอ็นโดสโคปความละเอียดสูง โดยสอดกล้องผ่านแผลเล็กๆ ทางผิวหนังเข้าไปยังกระดูกสันหลัง ผลดีที่ได้รับจากการผ่าตัด แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ แผลผ่าตัดเล็ก ขนาด 8 มิลลิเมตร อาการปวดแผลผ่าตัดน้อยความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง
- ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า รักษาโรคหรือภาวะหมอนรองกระดูกต้นคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท หรือทับไขสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกต้นคอที่เสื่อมร่วมกับมีกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท
- ผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอเทียม ผ่าตัดโดยใช้กล้องไมโครสโคปเพื่อนำหมอนรองกระดูกต้นคอที่เคลื่อนกดทับเส้นประสาทออก แล้วแทนที่ด้วยหมอนรองกระดูกสันหลังต้นคอเทียม
- ผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังระดับเอวแบบผ่านทางรูออกเส้นประสาท พร้อมกับนำหมอนรองกระดูกออกทั้งหมด แล้วใส่หมอนรองกระดูกเทียม ใส่สกรูยึดระหว่างข้อ และเศษกระดูกเพื่อให้เกิดการเชื่อมของกระดูก
- การผ่าตัดกระดูกสันหลัง OLIF เป็นการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันระดับเอว โดยใช้วิธีผ่าตัดจากด้านข้างและเฉียง โดยใช้กล้อง
- ฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี เป็นการฉีดซีเมนต์ผ่านผิวหนัง ผ่านทางแผลเล็กๆ ที่มีขนาดราวหลอดกาแฟเข้าไปเสริมกระดูกส่วนที่หักโดยไม่ต้องยึดสกรู