เตือนภัย ผู้สูงอายุ “สำลัก” อาจเสี่ยง “ปอดติดเชื้อ” อันตรายถึงชีวิต

เตือนภัย ผู้สูงอายุ “สำลัก” อาจเสี่ยง “ปอดติดเชื้อ” อันตรายถึงชีวิต

เตือนภัย ผู้สูงอายุ “สำลัก” อาจเสี่ยง “ปอดติดเชื้อ” อันตรายถึงชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จะพบอัตราเสียชีวิตด้วยภาวะปอดติดเชื้อ จากการสำลักสูงถึงเกือบ 30%

  • การสำลักเงียบไม่มีอาการแสดงให้เห็น หากขาดความระมัดระวังและไม่ทราบว่ามีการ สำลักอาหาร หรือน้ำดื่มลงในทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดอักเสบติดเชื้อ (Aspiration pneumonia) ซึ่งนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

  • หากผู้สูงอายุมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก ซึมลง อาจเป็นสัญญาณอันตรายจากภาวะสำลักเงียบจนเกิดภาวะหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบติดเชื้อ ต้องหยุดป้อนอาหารทางปากและมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

สำลักเงียบ (Silent Aspiration) คือ การสำลักอาหารหรือน้ำดื่มลงในทางเดินหายใจโดยไม่มีอาการไอ (cough) หรือ เสียงพร่า (wet voice) ตอบสนองให้เห็น เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนผิดปกติ สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย

สำลักเงียบและภาวะกลืนลำบากในผู้สูงอายุ

ดร.พญ.กันต์นิษฐ์ พงศ์พิพัฒไพบูลย์ แพทย์สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า ผู้สูงอายุที่มีโรคทางระบบประสาท เช่น stroke, Parkinson’s, dementia พบภาวะกลืนลำบากได้สูงถึง 50-75% และพบว่ามีภาวะสำลักเงียบร่วมได้ถึง 40 – 70 %  ส่งผลให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงตามมา ในกรณีผู้สูงอายุที่มีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อแล้ว พบมีภาวะสำลักเงียบสูงถึง 71% และในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี พบอัตราเสียชีวิตด้วยภาวะปอดติดเชื้อจากการสำลักสูงถึงเกือบ 30%

อาการที่มองไม่เห็นจากสำลักเงียบ

เนื่องจากการสำลักเงียบไม่มีอาการแสดงให้เห็น ทำให้ผู้ป่วยรวมถึงผู้ดูแลขาดความระมัดระวังและไม่ทราบว่ามีการสำลักอาหารหรือน้ำดื่มลงในทางเดินหายใจ จนเกิดภาวะแทรกซ้อน มีความผิดปกติให้เห็นรุนแรง เช่น ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ (Aspiration pneumonia) ซึ่งนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ภาวะสำลักเงียบอาจไม่สามารถพบจากการตรวจประเมินทางคลินิกได้ เนื่องจากไม่แสดงอาการขณะทำการตรวจคัดกรองและการตรวจร่างกาย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องได้รับประเมินจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยการกลืนแป้งทางรังสีหรือการส่องกล้องเพื่อตรวจหาว่าผู้ป่วยมีภาวะสำลักเงียบหรือไม่และทำการป้องกันรักษาได้ทันท่วงที

กรณีผู้ป่วยมีการสำลักเงียบจนเกิดภาวะหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบติดเชื้อ อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้ ไอมีเสมหะ
  • หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • ซึมลง

ซึ่งเมื่อพบสัญญาณเหล่านี้ต้องหยุดป้อนอาหารทางปากและพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

สังเกตอย่างไรว่าผู้สูงอายุมีปัญหา กลืนลำบาก

  • กลืนน้ำลายไม่ลง หรือมีน้ำลายไหลตลอด
  • มีเศษอาหารค้างในช่องปาก
  • มักบ่นว่า "กลืนไม่ลง" รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกอยู่ในลำคอ
  • ต้องกลืนซ้ำหลายๆ ครั้ง
  • ไอ หรือสำลักขณะกินอาหารหรือดื่มน้ำ
  • อาหารและน้ำขย้อนออกมาหลังจากกลืนไปแล้ว
  • กินได้น้อย น้ำหนักตัวลดลง

วิธีการป้องกันการเกิดอาการสำลักเงียบ

เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินแล้ว ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้การดูแลรักษาภาวะกลืนลำบากตามปัญหาที่พบเพื่อป้องกันการสำลักอาหารและน้ำ ประกอบด้วย การปรับรูปแบบอาหารที่เหมาะสม การปรับท่าทางของผู้ป่วย การปรับวิธีการให้อาหาร ปริมาณน้ำและอาหารที่ควรได้ต่อวัน การดูแลสุขอนามัยในช่องปาก รวมถึงการออกกำลังกายฟื้นฟูความสามารถในการกลืนของผู้ป่วยด้วย

การฝึกกลืน ในผู้ที่มีอาการสำลักอาหารบ่อย

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาและฝึกกลืนอย่างเหมาะสมสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้อย่างปลอดภัย รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดตามมาได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรงของผู้ป่วย ส่วนการใส่สายยางให้อาหารต้องประเมินตามความจำเป็นและความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป เช่น ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืนรุนแรงอาจจำเป็นต้องใส่สายยางให้อาหารเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการสำลัก หรือการรับประทานทางปากเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารน้ำ และยาไม่เพียงพอ

เคล็ดลับการป้องกัน การสำลักอาหารในผู้สูงอายุ

  • พักผ่อนก่อนเริ่มมื้ออาหาร
  • กัดชิ้นเล็กๆ หรือหั่นอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ
  • รับประทานอาหารให้เสร็จ แล้วค่อยดื่มน้ำ
  • นั่งตัวตรง 90 องศา ขณะรับประทานอาหาร
  • เลือกประเภทอาหารที่เคี้ยวและกลืนได้ง่ายขึ้น
  • ฝึกเทคนิคการเคี้ยวและกลืน
  • พบทันตแพทย์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากล่อมประสาทหรือยาที่ทำให้น้ำลายแห้งก่อนรับประทานอาหาร

หากพบว่าผู้สูงอายุมีการกลืนที่ผิดปกติ ร่วมกับภาวะต่อไปนี้  ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ 

  • มีปัญหาในการเคี้ยวหรือกลืนลำบาก (ไม่ว่าจะมีอาการไอหรือไม่ก็ตาม)
  • มีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะเป็นซ้ำๆ
  • มีความผิดปกติทางระบบประสาท
  • มะเร็งศีรษะและลำคอ (Head and neck cancer)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook