รู้จัก “PTSD” โรคเครียดหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต
“PTSD” หรือ “โรคเครียดหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต” เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งคำว่า PTSD ย่อมาจาก Post-traumatic Stress Disorder หรือ “ความผิดปกติที่จากความเครียดหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต” เป็นสภาวะป่วยทางจิตใจหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดจนกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาทิ อยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ (สึนามิ, น้ำท่วม, หรือติดในถ้ำ) ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ พบเหตุการณ์สะเทือนใจแบบไม่คาดฝัน หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์นั้นๆ
นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง แต่รับรู้ข้อมูลผ่านข่าวหรือคำบอกเล่าจากผู้อื่น จนเกิดความเครียดหรือตื่นกลัว ประหนึ่งว่าเป็นผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นเองด้วย
อาการของผู้ป่วย PTSD มีลักษณะใดบ้าง
อาการโดยทั่วไปของ PTSD ที่พบ คือมีอาการหวาดกลัว สิ้นหวัง หวาดผวา ซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้เหมือนไม่มีใครหรืออะไรช่วยตนเองได้ และที่สำคัญ คือมักจะเห็นภาพเหตุการณ์รุนแรงหรือสะเทือนใจอยู่บ่อยๆ แม้จะพยายามไม่นึกถึง หรือพยายามลืมก็ตาม
ขณะที่บางคนอาจมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากเดิม อาทิ พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างกรณีเคยประสบเหตุเรือล่ม อาจไม่กล้าขึ้นเรือโดยสาร หรือไม่กล้าอยู่ใกล้น้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงหรือสะเทือนใจ ไม่ได้เป็นโรค PTSD ทุกคน เนื่องจากบางคนสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจกลับมาได้เร็ว ขณะที่บางคนมีอาการผิดปกติทางจิตใจระยะสั้นเท่านั้น แต่ถ้าใครมีอาการตามที่กล่าวมาในข้างต้นเกิน 1 เดือน แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรค PTSD ได้
บุคคลประเภทใด ที่อาจเป็นโรค PTSD
สำหรับกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรค PTSD นั้น อาทิ
– ผู้ที่ประสบเหตุร้าย หรือเคยได้รับประสบการณ์เลวร้ายมาจากอดีต
– ผู้ที่มีเรื่องเครียด กังวลใจ หรือประสบเหตุร้ายๆ อยู่บ่อยครั้ง
– ผู้ที่ไม่ค่อยมีเพื่อนหรือครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ
– ผู้ที่มีเรื่องให้เครียดกังวลใจอยู่ก่อน แล้วมาเจอเหตุร้ายซ้ำ ฯลฯ
โรค PTSD มีวิธีรักษา แบบใดบ้าง
โดยทั่วไปโรค PTSD สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ การรักษาด้วยยา และการรักษาทางจิตวิทยา แต่ในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาทั้ง 2 แบบควบคู่กันก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย รวมถึงการวินิจฉัยของแพทย์
สำหรับระยะเวลาที่ใช้รักษานั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ ตลอดจนสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้คนรอบข้างว่า มีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด โดยบางคนอาจใช้เวลารักษาเพียง 6 เดือน ในขณะที่บางคนต้องเข้ารับการรักษาไปตลอดชีวิต
วิธีการรักษาโรค PTSD ทั้ง 2 แบบ มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
- การรักษาด้วยยา
เป็นการให้ยาในกลุ่มยาแก้โรคซึมเศร้า อาทิ ยาฟลูอ็อกเซทีน หรือยาพาโรเซทีน โดยยากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มออกฤทธิ์ หลังจากนั้น แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอีกครั้งว่ายาที่ให้ผู้ป่วยไปนั้นได้ผลหรือไม่ หรือมีผลกระทบอะไรบ้าง หากปรากฏว่าอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น อาจมีการปรับตัวยาใหม่
อย่างไรก็ตาม ยาคลายกังวลในกลุ่มไดอะซีแพม (ยาแวเลียม) หรืออัลปราโซแลม เป็นกลุ่มยาที่แพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยง นอกจากว่าจะมีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ และใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ใช้ผู้ป่วยเสพติดการใช้ยาคลายกังวล
- การรักษาทางจิตวิทยา
คือการรักษาด้วยวิธี “พฤติกรรมบำบัด” เป็นการให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับเหตุร้ายอย่างค่อยเป็น ค่อยไป อาทิ ให้ดูวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องนั้นซ้ำๆ กระทั่ง ผู้ป่วยสามารถทำความเข้าใจกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น และไม่หวาดกลัวหรือมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นอีก
แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องปรับมาใช้วิธี “จิตบำบัด” คือการรักษาด้วยการพูดคุยกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา หาสาเหตุของปัญหา แก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา ความทุกข์ ความคับข้องใจของผู้ป่วย
- หากผู้ป่วยโรค PTSD เป็นเด็กเล็ก
สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือการทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และกล้าเผชิญกับความกลัวนั้น โดยผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดด้วย เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งจะช่วยให้การบำบัดเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแพทย์ และครอบครัวเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เด็กหายจากโรคนี้ได้
ถ้าเราเป็นโรค PTSD ควรทำอย่างไร
- ทำความเข้าใจกับตัวเอง
อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคุณไม่ได้เป็นโรคจิต สิ่งที่เป็นอยู่นั้น เป็นเพราะพบเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงมา จนส่งผลให้มีอาการเครียด ฉะนั้น หากเข้าใจและยอมรับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ ก็จะสามารถรับมือต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้
- อย่าแยกตัวอยู่คนเดียว
หลังประสบเหตุร้าย คุณไม่ควรอยู่คนเดียว เพราะอาจทำให้คิดวนคิดมา จนเกิดอาการเครียดหนักกว่าเดิมได้ แต่พยายามหากิจกรรมทำร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว อาทิ ดูหนัง ออกกำลังกาย เพื่อให้หลุดออกจากสภาวะเครียด
- กล้าที่จะรับการบำบัด
เมื่อรู้ว่ามีอาการเครียด หวาดผวา หรือรู้สึกสิ้นหวัง ขอให้รีบไปพบแพทย์และขอรับการรักษาทันที เพื่อให้อาการที่มีอยู่นั้นหายไป