ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรงดยาอะไรบ้าง?
แพทย์แนะ ก่อนฉีดวัคซีนทุกตัว รวมถึงวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิด ควรงดกินยาอะไรก่อนบ้าง เพื่อเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับวัคซีน นอกจากต้องงดออกกำลังกายและยกของหนัก รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ยังมียาที่กินอยู่ประจำบางตัวที่ควรงดก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนทั่วไป รวมถึงวัคซีนโควิด-19 ด้วย
ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรงดยาอะไรบ้าง?
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนแม้จะเกิดได้น้อยมากๆ ก็ตาม แต่ถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด กลไกของผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด ที่สำคัญประการหนึ่ง (นอกจากการแพ้เฉียบพลัน) คือการจุดให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง และมีผลต่อเนื่อง ทำให้เส้นเลือดหดตัว และลิ่มเลือด และเป็นเหตุผลที่ต้องละเว้นยาที่มีผลทำให้เส้นเลือดหดตัวอยู่แล้ว เช่น ยาแก้ปวดไมเกรน และยาแก้หวัด คัดจมูกกลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้กระทบต่อเส้นเลือดและหัวใจ
ยาที่แนะนำให้งดก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
ยาที่มีผลต่อเส้นเลือดทำให้หดตัว ได้แก่
- ยาแก้ปวดไมเกรนชนิดเออก็อท เช่น คาเฟอก็อท cafergot (มีหลายยี่ห้อ) กลุ่มทริปแทน triptan (มีหลายยี่ห้อ) ยาแก้หวัดคัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธ์ทางระบบประสาทอัตโนมัติ (sympathomimetic)
ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้ในวันที่ฉีดวัคซีนและ 14 วันหลังจากนั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น
- ฮอร์โมน เช่น ยาคุม นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีผลทำให้เลือดข้นอยู่บ้างแล้ว ถ้าจะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนจะได้ไม่เกิดปัจจัยซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ ควรงด 14 วันก่อนและหลังฉีดวัคซีน
วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ระบุว่า ฉีดวัคซีนโควิดได้ โดยไม่ต้องหยุดยาคุมกำเนิด เพราะไม่มีหลักฐานวิชาการว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเลือดเลือดดำจากการได้รับวัคซีนโควิด
อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่า การได้รับยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานชนิดที่ประกอบด้วย cyproterone acetate, desogestrel, drospirenone, หรือ gestodene
หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
- ยากลุ่ม NOACs วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ระบุว่า สำหรับ NOACs (Non- vitamin K antagonist oral anticoagulants) ที่รับประทานวันละ 1 ครั้ง ตอนเช้า แนะนำให้ฉีดวัคซีนช่วงบ่าย แต่ถ้าฉีดวัคซีนช่วงเช้า ให้งดยามื้อเช้า และรับประทานยาหลังฉีดวัคซีน อย่างน้อย 6 ชม.
สำหรับ NOACs ที่รับประทานวันละ 1 ครั้ง ตอนเย็น แนะนำให้รับประทานยาหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
สำหรับ NOACs ที่รับประทานวันละ 2 ครั้ง แนะนำให้ฉีดวัคซีนช่วงบ่าย โดยไม่ต้องงดยา แต่กรณีฉีดวัคซีนช่วงเช้า แนะนำให้งดยามื้อเช้า และรับประทานทานยามื้อเย็นตามปกติ - ยาต้านฮีสตามีน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา (Center for Disease Control and Prevention ไม่แนะนำให้รับประทานยาต้านฮีสตามีนก่อนฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพ้วัคซีน เนื่องจากยาต้านฮีสตามีน ไม่สามารถป้องกันการแพ้วัคซีนแบบ anaphylaxis ได้ ในทางตรงกันข้าม อาจส่งผลบดบังอาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้นใน
บุคคลที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านฮีสตามีนอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ที่รักษาประจำก่อนฉีดวัคซีน รวมถึงผู้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านฮีสตามีนอย่างต่อเนื่องไม่ควรใช้ยาก่อนฉีดวัคซีน
ยาที่ไม่ได้เป็นข้อห้าม สามารถกินก่อน-หลังฉีดได้ตามปกติ
- ยานอนหลับ
- ยาแก้วิตกกังวล
- ยาซึมเศร้า รวมทั้งยาจิตเวชอื่นๆ ส่วนใหญ่ปลอดภัยต่อการฉีดวัคซีน (ไม่ควรหยุดยา หรือปรับลด-เพิ่มยาเอง)
- กัญชาทางการแพทย์ที่ใช้อยู่แล้ว สำหรับบรรเทาอาการเจ็บป่วยและคุณภาพชีวิต ไม่ต้องหยุดเพราะกัญชามีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ อาจจะเป็นการช่วยทางอ้อมด้วยซ้ำในกรณีของการฉีดวัคซีน กัญชาที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายของกรมการแพทย์แผนไทย เช่น สูตรตำรับของอาจารย์เดชา เป็นต้น
- ชา กาแฟ ถ้าดื่มอยู่แล้วก็ไม่ต้องหยุด เพราะปริมาณที่ดื่มเป็นประจำก็ทราบอยู่แล้วว่าไม่ได้ทำให้เกิดมีใจสั่น แต่ถ้าต้องหยุดไปกระทันหันอาจมีอาการปวดหัว และเข้าใจผิดว่าเกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีนไปอีก
- ผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับเคมีบำบัด รังสีรักษา
- ผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการบำบัดทดแทนไต
- ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ
- เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดทุกชนิด
- อิมมูโนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ
- ยาควบคุมอาการของโรคต่างๆ
- ยาลดความดันโลหิต
- ยาพ่นเข้าลำคอ-จมูกในกลุ่มสเตียรอยด์ (inhaled corticosteroids)
- ยาวาร์ฟาริน และยาต้านหรือเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ใช่วาร์ฟาริน วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย ระบุว่า กรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย หรือ เลือดหยุดไหลยาก รวมถึงผู้ป่วยที่มีประวัติควบคุมค่า INR ไม่ได้ตามเป้าหมาย (แนวโน้มมากกว่าค่าเป้าหมาย) ควรพิจารณาให้ตรวจ INR ก่อนได้รับวัคซีน
- ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คอตีบ หัด หัดเยอรมัน ฉีดได้ แต่ควรฉีดหากจากวัคซีนโควิด-19 2-4 สัปดาห์
คำแนะนำเพิ่มเติม
- เฟซบุ๊กเพจ Drama-Addict นำข้อมูลจาก อ.อรวิน วัลลิภาก อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และ อ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ยาคุมกำเนิดชนิดรวมแบบมีเอสโตรเจน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน 6-15 ราย ต่อหมื่นราย (สถิติจากอังกฤษ) ส่วนของไทย ความเสี่ยงน้อยกว่าของอังกฤษประมาณห้าเท่า (ก็ประมาณ หนึ่งรายต่อหมื่นราย) ส่วนยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) ยาฝังคุมกำเนิด พวกนี้เป็นยาคุมแบบไม่มีเอสโตรเจน ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะน้อยกว่าแบบมีเอสโตรเจน ดังนั้นถ้าใช้ยาคุมกลุ่มที่ไม่มีเอสโตรเจน ความเสี่ยงจะน้อยกว่า
- กลุ่มที่ใช้ยาคุมกลุ่มที่ความเสี่ยงน้อยอยู่แล้ว เพราะไม่มีเอสโตรเจน เช่น ยาคุมแบบฝัง ยาคุมแบบฉีด ห่วงคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน พวกนี้ไม่ต้องหยุด ใช้ต่อไปได้เลย เพราะความเสี่ยงลิ่มเลือดต่ำอยู่แล้ว ยาคุมกลุ่มนี้ไม่เพิ่มความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน
- เฟซบุ๊กเพจ Drama-Addict แนะนำว่า ใครที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีนแล้ว แต่หยุดยาคุมไม่ทัน ก่อนไปฉีด และหลังฉีดวัคซีน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณวันละ 13 แก้ว (หรือราวๆ 3 ลิตร) และพยายามขยับตัวบ่อยๆ อย่านั่งนิ่งๆ นอนนิ่งๆ ทั้งวัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลิ่มเลือดได้
- ผู้ที่ใช้น้ำมันกัญชาอยู่แล้ว สามารถใช้ต่อได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ
- ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ สามารถทานยาได้ตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอสังเกตอาการในบริเวณสถานที่ฉีดอีก 30 นาที
- ผู้ที่มีประวัติบาดเจ็บศีรษะ หรือเพิ่งเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับศีรษะ มาไม่ถึง 3 เดือน หรือมีโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ต้องให้แพทย์วินิจฉัยอาการก่อนฉีด ถ้าอาการยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมไม่ได้ ต้องเลื่อนออกไปก่อน
- คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ที่อาการไม่คงที่ หรือควบคุมอาการของโรคได้ไม่ดี ก็ให้พิจารณาเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปก่อนด้วย
อ่านเพิ่มเติม