“น้ำต้มสมุนไพร” ป้องกัน “โควิด-19” ได้จริง หรืออันตรายต่อร่างกาย?
ในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังระบาดท่ามกลางความไม่พอเพียงของวัคซีน เตียงในโรงพยาบาล หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงยารักษาโรค การหันมาพึ่งพาตนเองด้วยสมุนไพรไทยในครัวเรือนจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่คนไทยหลายคนสนใจ จนเกิดเป็นเทรนด์ “น้ำต้มสมุนไพร” รวมหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน
แต่น้ำต้มสมุนไพรเหล่านี้ จะมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยป้องกันโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน
น้ำต้มสมุนไพร ป้องกัน “โควิด-19” ได้จริงหรือ?
ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สมุนไพรไทยอย่าง หัวหอมแดง กระเทียม กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ แต่ละอย่างมีสรรพคุณหลักคล้ายๆ กัน คือ
- บรรเทาอาการไอ
- แก้หวัด คัดจมูก
- สารสำคัญ อาทิ เควอซิติน (quercetin) เคมเฟอรอล (kaempferol) อัลลิซิน (Allicin) จินเจอรอล (gingerol) ช่วยต้านการอักเสบ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ศึกษาค้นคว้าจนพบว่าสารสกัดที่ได้จากกระชายขาว ได้แก่ แพนดูราทินเอ (Panduratin A) และพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างนั้นการค้นคว้านี้ยังคงอยู่ภายใต้การทดลอง เพื่อพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หากต้องนำมาใช้กับผู้ป่วยจริงๆ
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า จากคุณสมบัติทั้งหมดของสมุนไพรไทยเหล่านี้ จะเห็นได้ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายในแง่ของการบรรเทาอาการหวัด ลดอาการอักเสบ และเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันจากโควิด-19 ได้ 100%
ระวัง! น้ำต้มสมุนไพร อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากดื่มไม่ถูกวิธี
ดร.วนะพร ระบุว่า เราควรศึกษาถึงปริมาณที่ควรบริโภคของสารสำคัญที่มีในวัตถุดิบนั้น เพราะอะไรที่มากเกินไปก็มักจะทำให้เกิดโทษด้วยเช่นกัน และสารบางอย่างก็อาจจะมีอันตรกิริยากับยาบางตัว ที่ส่งผลต่อต้าน หรือเพิ่มฤทธิ์ของยา ซึ่งจะให้ผลเสียกับบุคคลนั้นๆ มากกว่าได้ประโยชน์ อีกทั้งเมื่อนำมาปรุงแต่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำตาล ก็อาจจะส่งผลเสียกับผู้ป่วยบางกลุ่ม อย่างเช่นผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อทำให้รสชาติดีขึ้นผู้ป่วยก็จะกินได้มากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นด้วย
กินสมุนไพรไทยเป็นอาหาร ได้ประโยชน์และปลอดภัย
หากพิจารณาถึงการป้องกัน หรือการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เรามองหาแต่ข้อดีของวัตถุดิบนั้นๆ จนลืมนึกถึงปริมาณที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยจนกลายเป็นโทษแทน ดังนั้นหากเปลี่ยนสมุนไพรเหล่านั้นให้มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในอาหารเพื่อเพิ่มกลิ่นรสสัมผัสที่ดี ให้กับอาหาร เพราะกลิ่นรสสัมผัสที่ดีจะช่วยให้เราใช้เครื่องปรุงน้อยลง ร่วมกับการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้เราได้คุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เชื่อได้ว่าเมื่อร่างกายเราแข็งแรง เราก็จะมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้