รู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” (B.1.1.529) ที่อาจกลายพันธุ์จนต้านวัคซีนได้
นายโจ ฟาห์ลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่าค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดกลายพันธุ์แบบใหม่ ที่ขณะนี้ใช้ชื่อว่าชนิด B.1.1.529 (ภายหลัง WHO ตั้งชื่อเรียกว่าสายพันธุ์ "โอไมครอน") กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศ โดยภายหลังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถูกตรวจพบครั้งแรกที่บอตสวานา ประเทศในทวีปแอฟริกา
ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์หลายคนเริ่มกังวล เป็นเพราะสายพันธุ์นี้ถือเป็นเชื้อโควิด-19 ที่ร้ายแรงที่สุดตัวใหม่เท่าที่เคยพบเห็น เนื่องจากมันมีการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่ง จนถูกขนานนามว่า super-mutant COVID-19 หรือ เชื้อโควิด-19 ซูเปอร์กลายพันธุ์ ทำให้ไวรัสชนิดนี้สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้
ดร.มาเรีย แวน เคอร์คโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ของ WHO กล่าวว่า “เรายังไม่ทราบรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ สิ่งที่เราทราบในขณะนี้ก็คือว่าไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์จำนวนมาก และสิ่งที่เรากังวลก็คือเมื่อเรามีไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์จำนวนมาก มันก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมของไวรัส”
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ยังต้องติดตามการระบาดของสายพันธุ์ B.1.1.529 อย่างใกล้ชิด ข้อมูลในขณะนี้พบว่าอาจจะติดและแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นมากกว่าเดลต้า แต่ยังไม่มีข้อมูลที่บอกว่าทำให้วินิจฉัยยาก อาการรุนแรงหรือวัคซีนไม่ได้ผล (เพราะขนาดสายพันธุ์เบต้าที่ดื้อต่อวัคซีนมากๆ วัคซีนก็ช่วยยังลดอาการรุนแรงได้)
ในขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวล หรือตื่นตระหนก เพราะการเปลี่ยนของไวรัสเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้น ขณะนี้ตนกำลังเตรียมถอดรหัสพันธุกรรมและติดตามไวรัส B.1.1.529 ว่าตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์คือจุดไหน
ทานด้านของ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้พบการระบาดของไวรัส B.1.1.529 แค่ 10 คน ในแอฟริกาและมีการเดินทางมาต่อที่ ฮ่องกง 1 คนเท่านั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบมีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง แต่ในส่วนนี้จะมีผลให้เชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่ ต้องใช้เวลาให้ไวรัสได้พิสูจน์กับสิ่งแวดล้อม ประมาณ 3-6 เดือน ค่อยกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง หากเชื้อเข้ากับสิ่งแวดล้อม แข็งแรงแพร่เร็ว เชื้อนั้นก็ยังคงอยู่ แต่หากการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้อ่อนแอลง หรือเชื้อพิการ เชื้อไวรัสนั้นก็จะค่อยๆ หายไปกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นสำหรับในประเทศไทย ยังไม่น่าวิตกกังวล แต่สามารถติดตามอัปเดตการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ได้เรื่อยๆ สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ การป้องกันอย่างเต็มที่ที่ไม่ควรละเลย สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อไปที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนสัมผัสร่างกายและก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่แออัดคนเยอะ รักษาระยะห่างต่อกัน กินร้อนช้อนคนเดียว กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาภูมิคุ้มกันของตัวเองให้แข็งแรง และที่สำคัญคือ เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบจำนวนโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงต่ออาการหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์