เข้าใจผู้หญิงจาก PMS ภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนก่อนมีประจำเดือน
ผู้หญิงอาจมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและอารมณ์ระหว่างก่อนมีรอบเดือนจากภาวะ PMS
อ. พญ.วิลาสินี อารีรักษ์ แพทย์ประจำฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นอาการไม่สุขสบายทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย สามารถพบได้ในผู้หญิงปกติทั่วไป ช่วงประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน
อาหารที่พบได้ในภาวะ PMS
อาการทางด้านอารมณ์
- อารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย
- ซึมเศร้าร้องไห้ง่าย
- ไม่มีสมาธิ
- เครียด วิตกกังวล และนอนไม่หลับ
- หิวบ่อย หรือเบื่ออาหาร
อาการทางด้านร่างกาย
- เจ็บเต้านม
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหนื่อยและอ่อนเพลีย
- มีสิวขึ้น
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ท้องผูก หรือท้องเสีย
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อมีภาวะ PMS
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ ระบุว่า ในช่วงก่อนมีประจำเดือนเราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งยาใดๆ เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัดหรือหวานจัด พยายามอย่าเครียด นอนหลับให้เพียงพอ งดการดื่มเหล้า กาแฟ และชา เป็นต้น
นอกจากนี้ อ. พญ.วิลาสินี ระบุเพิ่มเติมว่า การบันทึกเวลาที่มีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และร่างกายได้ดีขึ้น หากอาการ PMS รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์