แพทย์ยัน! “เส้นเลือดขอด” ทายาไม่หาย!
เฟซบุ๊คเพจ “หมอแล็บแพนด้า” นำข้อมูลจากเพจ “โรคร้ายไม่ตายง่ายๆ by หมอท๊อป” มาบอกต่อกันถึงเรื่องอาการเส้นเลือดขอด ว่าไม่สามารถทายาแล้วอาการจะหายขาดได้ 100% ทำได้เพียงลดอาการไม่ให้กลายเป็นเส้นเลือดขอดใหญ่ๆ แต่หากเป็นเส้นเลือดขอดที่มองเห็นได้ชัด จะไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการทายาได้ โดยเฉพาะยาทาแก้เส้นเลือดขอดตามอินเตอร์เน็ต ที่ไม่มีรายงานวิจัยยืนยันที่เชื่อถือได้
วิธีรักษาเส้นเลือดขอดในปัจจุบัน มีดังนี้
1.กินยา แต่เส้นเลือดใหญ่ๆ จะไม่ลดลง เพียงแค่ทำให้อาการเหน็บชาจะดีขึ้น
2.ใส่ถุงน่องทางการแพทย์ เส้นเลือดจะยุบลงบ้างแต่ไม่หมด
3.ผ่าตัด มีหลายวิธีและเส้นเลือดจะยุบลงชัดเจน
และก่อนซื้อยาตามร้านขายยามาทา ก็ต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยว “เส้นเลือดขอด” จาก อ.นพ. ระวี พิมลศานติ์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาฝากกัน
____________________
ถาม : เส้นเลือดขอดที่แท้จริงคืออะไร
ตอบ : หมายถึง เส้นเลือดดำส่วนหนึ่งอยู่ใต้ผิวหนังเกิดมีการเสียความยืดหยุ่น เกิดมีการเส้นเลือดขยายตัว ขึ้นทั้งด้านกว้างและด้านยาว ทำให้คดเคี้ยวไปมา ทำให้ลักษณะเหมือนตัวหนอนหรือไส้เดือนใต้ผิวหนัง และเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นกับส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้แล้วแต่สาเหตุเกิดจากอะไร พบบ่อยคือที่ หลอดอาหารต่อกันระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร เส้นเลือดขอดของหลอดอาหารนี้ส่วนใหญ่เป็นพยาธิสภาพที่เกิดจากมีตับแข็ง และทำให้เกิดเป็นความดันในระบบช่องท้องสูงขึ้น ทำให้มีเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นบริเวณข้อต่อของอาหารและกระเพาะอาหาร ส่วนอื่นอาจพบได้ เช่น แขน
ถาม : อาการของคนที่เป็นเส้นเลือดขอดมีลักษณะอย่างไร
ตอบ : โดยทั่วไปแล้วคนไข้จะมาพบเพราะมีลักษณะไม่สวยงาม อาการจริง ๆ มักจะไม่มีอาการอะไรเลย หรืออาจจะยืนนาน ๆ ในตอนเป็นอาจมีความรู้สึกปวดหรือเท้าหนัก ๆ ถ้าเป็นมากขึ้นคนไข้จะรู้สึกเจ็บที่ตัวเส้นเลือดขอดเองก็ได้ หรือเท้าจะบวมขึ้น ถ้าเป็นมาก ๆ อาจจะมีการอักเสบที่เส้นเลือดขอดบริเวณผิวหนัง จะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือแตกเป็นแผล แล้วแต่ระยะของคนไข้
ถาม : เป็นเส้นเลือดขอด ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการรักษาจะเกิดอันตรายอย่างไรบ้าง
ตอบ : อาการที่น่ากลัวที่สุดคืออาการแตกของเส้นเลือดขอด มีอาการตกเลือด ซึ่งบางครั้งเป็นที่หลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และการตกเลือดเส้นเลือดขอดที่ขาก็จะไม่มีอาการใดมาก ถ้าผู้ป่วยไม่ตกใจจนเกินไปสามารถกดเส้นเลือดเอาไว้ และไปพบแพทย์ นอกจากนี้เส้นเลือดขอดที่มีการอักเสบจะมีการเจ็บปวด มีการแตกของผิวหนังเรื้อรัง แผลพวกนี้จะหายยากเนื่องจากความดันของผิวหนังบริเวณนั้นเพิ่มสูงขึ้น
ถาม : อันตรายที่จะสังเกตได้ว่าเป็นเส้นเลือดขอดที่กระเพาะอาหาร
ตอบ : ในหลอดอาหารนอกจากคนไข้จะแสดงอาการอาเจียนออก
ถาม : ถ้าเส้นเลือดขอดที่ขาที่มีอาการจะมีอาการอย่างไร
ตอบ : เส้นเลือดขอดที่ขาถ้ายังมองไม่เห็น จะมีอาการปวดมาก และเป็นตะคริวในตอนกลางคืน
ถาม : เส้นเลือดขอดเป็นกรรมพันธุ์หรือไม่
ตอบ : ส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวโยงกับกรรมพันธุ์
ถาม : สถิติของคนที่เป็นเส้นเลือดขอด
ตอบ : สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีความดันเส้นเลือดเพิ่มมาก ส่วนใหญ่จะพบกับคนที่มีอาชีพยืนนาน ๆ เช่นช่างทำผมหรือแพทย์ผ่าตัด อีกประการหนึ่งความยืดหยุ่นของเส้นเลือดดำขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะ ดังนั้นผู้หญิงจึงเป็นมาก โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์จะเกิดการอุดตันการปรับของเส้นเลือดดำจากสาเหตุสองประการเราจะพบมากในผู้หญิงอายุ 20-30 ปีขึ้นไป
ถาม : การรักษาอาการเส้นเลือดขอดมีกี่วิธี
ตอบ : การรักษา หากไม่มีอาการและคนไข้มีอายุมากแล้วจะแนะนำให้ยกขาให้สูงไว้ และพันผ้ายืดก็เพียงพอ หากคนไข้มีอาการนอกจากที่แนะนำแล้ว อาจจะทำการฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือดขอดหรือนัดมาผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
ถาม : การรักษาที่กล่าวมาแล้ว 2 วิธี วิธีไหนที่ได้ผลมากที่สุด
ตอบ : ขึ้นอยู่กับระยะของการเป็นและขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นเลือดขอด โดยทั่ว ๆ ไปแล้วเส้นเลือดขอดเป็นไม่มาก ไม่ได้เป็นบริเวณเส้นเลือดใหญ่ของเส้นเลือดดำเราใช้วิธีฉีดสารเข้าไปและร่างกายก็จะค่อย ๆ ดูดซึม เอาส่วยที่อุดตันออกไป บริเวณนั้นจะเพียงเหมือนผิวหนังปกติ ถ้าเส้นขนาดใหญ่มากนิยมใช้วิธีการผ่าตัดออกเลย
ถาม : ถ้าผ่าตัดเส้นเลือดขอดบริเวณน่องจะมีแผลเป็นเห็นชัดหรือไม่
ตอบ : เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดจะมีลักษณะเหมือนลวด ซึ่งจะสอดเข้าไป เพราะฉะนั้นจะมีแผลเป็นเพียง 1-2 รอย แผลเป็นจะมีความยาว 1-2 ซ.ม. มองไม่เห็น
ถาม : วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นเส้นเลือดขอด
ตอบ : หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ พยายามยกขาให้สูงขึ้นเวลานั่ง
ถาม : อาหารที่เรารับประทานมีส่วนเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดขอดหรือไม่
ตอบ : สำหรับอาหารคงไม่เกี่ยวข้อง การออกกำลังกายเป็นการทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นบีบตัวมากขึ้นทำให้ดีขึ้น
______________________
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล