ทำไม? ออกกำลังกายบ่อย-เป็นนักกีฬา ยังหัวใจวาย?
เป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกันที่ช่วงนี้คนรอบตัวทั้งพี่ที่ทำงาน พี่สาว และเพื่อนรอบตัวล้วนแต่หยิบเอาเรื่องคนที่เขารู้จักเสียชีวิตกะทันหันขณะออกกำลังกาย ไม่ว่าจะระหว่างเตะฟุตบอลกับเพื่อน ระหว่างงานวิ่งการกุศล หรือระหว่างเล่นฟิตเนสมาเล่าให้ฟัง ที่น่าแปลกใจคือพวกเขาเหล่านี้เป็นนักออกกำลังกายตัวยง นักวิ่งมาราธอนเจ้าของเพจวิ่งยอดไลค์หนักแสน นักฟุตบอลประจำจังหวัดอดีตตัวแทนทีมชาติชุดเยาวชน แต่ก็ต้องจากไปกะทันกันด้วยสาเหตุเดียวกัน คือ หัวใจวายเฉียบพลัน
ทำไมบุคคลที่ควรจะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าคนปกติ ถึงยังเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บได้?
หัวใจวาย แข็งแรงระดับนักกีฬาก็เป็นได้?
คนที่มีอายุระหว่าง 35-40 ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ จากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
- กล้ามเนื้อหัวใจหนา
- โดนกระแทกหน้าอกอย่างรุนแรง หรือบ่อยๆ จนทำให้หัวใจหยุดเต้น (เช่น นักกีฬาฮอกกี้)
- เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจออกมาผิดตำแหน่ง จนทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส
- ลิ้นหัวใจตีบ หรือผิดรูป
- หัวใจล้มเหลวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ
- ฮีทสโตรค
- เส้นเลือดหัวใจ (โคโรนารี่) ตีบ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับสุขภาพแต่ละบุคคล สำหรับ 2 ปัจจัยสุดท้ายอาจพบได้น้อย แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน
แต่ทั้งหมดนี้ หมายความว่า ต่อให้คุณออกกำลังกาย ภายนอกดูแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็ยใดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าหัวใจของคุณจะแข็งแรงตามไปด้วยเสมอไป โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายแล้วเคยมีอาการดังนี้
iStock
สัญญาณอันตราย หัวใจทำงานผิดปกติ
- วูบ หน้ามืด ไม่ว่าจะขณะออกกำลังกาย หลังออกกำลังกาย หรือในเวลาปกติ
- เจ็บหน้าอก จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- หายใจสั้น หอบ
- มีอาการปวด ร้าว บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม
- ใจสั่น เหงื่อออกท่วมตัว
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงตามข้อ 1 คือ กล้ามเนื้อหัวใจหนา อาจเกิดขึ้นกับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำได้เช่นกัน
ทำไมออกกำลังกายแล้ว กล้ามเนื้อหัวใจหนา?
อธิบายง่ายๆ ว่า การออกกำลังกายมีทั้งการออกกำลังกายกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนของร่างกาย เช่น ขา แขน หน้าท้อง ฯลฯ และการออกกำลังหัวใจ หรือที่หลายคนรู้จักว่า คาร์ดิโอ การออกกำลังหัวใจ หรือคาร์ดิโอ เป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานต่อการออกกำลังกายได้นานขึ้น เหนื่อยน้อยลง เช่น วิ่งได้นานขึ้น ในขณะที่การออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ เป็นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้ออกกำลังกายได้หนักขึ้น เช่น ยกเวทได้หนักขึ้น เป็นต้น
การออกกำลังกายโดยเน้นที่การยกเวท เน้นเพาะกล้ามอย่างเดียว มีโอกาสที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายจะหนาขึ้น มากกว่าการออกกำลังกายชนิดอื่นๆ เช่น แอโรบิค ที่กล้ามเนื้อหัวใจจะขยายออก แต่กล้ามเนื้อหัวใจจะไม่หนามาก และคนที่ปั่นจักรยาน จะได้ทั้งหัวใจที่ขยายออก และกล้ามเนื้อที่หนาขึ้นในคราวเดียวกัน
หากแพทย์ตรวจพบว่ากล้าเนื้อหัวใจของคุณมีความหนามากกว่า 13-15 มิลลิเมตร นั่นหมายความว่า คุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา เสี่ยงต่อโรคหัวใจวายเฉียบพลันได้เช่นกัน เพราะกล้ามเนื้อหัวใจหนาๆ จะเข้าไปขัดขวางการไหลเวียน การสูบฉีดของเลือด เข้าไปเบียดเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ หัวใจเหมือนถูกบีบไปเรื่อยๆ ทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนที่ชอบออกกำลังกายแบบสุดโต่ง ฝืนร่างกาย ฝืนความเหนื่อย ลากเกียร์จักรยานไปให้แรงและเร็วที่สุด หรือทนวิ่งในระยะไกลโดยไม่ห่วงสุขภาพบ่อยๆ บุคคลเหล่านี้อาจเข้าข่ายเสียงหัวใจวายเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัว
iStock
ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกลหัวใจวายเฉียบพลัน?
ทางแก้ไม่ยาก หากคิดจะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยรวมถึงการตรวจสุขภาพหัวใจด้วย ปรึกษาแพทย์ถึงการออกกำลังกายว่าควรจำทำแบบไหน หนักเบาเท่าไร ให้เหมาะสมกับร่างกายของเราเอง โดยอาจจะใช้ความหนัก ความเร็ว ความแรงไม่เท่ากับคนอื่น แต่ควรหาวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเองจะดีที่สุด ที่สำคัญ ควรประมาณกำลังร่างกายของตัวเองให้ดี ไม่ไหวอย่าฝืน หากพบอาการผิดปกติต่างๆ ควรหยุดออกกำลังกายแล้วปรึกษาแพทย์ค่ะ