โรคหัวใจวายเฉียบพลัน ตรวจร่างกายปกติอาจไม่พบ ต้องใช้วิธี EST
Thailand Web Stat

โรคหัวใจวายเฉียบพลัน ตรวจร่างกายปกติอาจไม่พบ ต้องใช้วิธี EST

โรคหัวใจวายเฉียบพลัน ตรวจร่างกายปกติอาจไม่พบ ต้องใช้วิธี EST
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับวันข่าวการพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจวายเฉียบพลันค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว และที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นคือ ผู้ที่เสียชีวิตมักเป็นคนที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน หรือแม้กระทั่งเป็นนักกีฬา นักวิ่ง หรือผู้ที่ชอบทำกิจกรรมตลอดเวลาอีกด้วย

อ่านต่อ >> ทำไม? ออกกำลังกายบ่อย-เป็นนักกีฬา ยังหัวใจวาย?

 

หลายคนที่สงสัยว่า การตรวจสุขภาพประจำปีของพวกเรา ไม่สามารถแจ้งได้หรือว่าเราเป็นโรคหัวใจหรือไม่ คำตอบคือ การตรวจร่างกายประจำปีในแพ็กเกจของบริษัทเอกชนทั่วๆ ไป ไม่ได้ตรวจละเอียดถึงขั้นนั้น แม้กระทั่งการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG ที่หลายๆ คนนิยมไปตรวจเพื่อเช็คสุขภาพของหัวใจ หรือการตรวจสุขภาพประจำปีบางแพ็กเกจที่มีการตรวจด้วยวิธีนี้ ยังไม่สามารถตรวจได้ละเอียดมากพอที่จะบอกเราได้ว่า เรามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายเฉียบพลันจริงๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) หรือที่เรียกกันว่า EST จะสามารถตรวจได้ละเอียดมากกว่า และสามารถระบุได้ชัดว่าหัวใจของคุณมีความผิดปกติหรือไม่

 

การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) คืออะไร

การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เป็นการตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกายโดยตรง แพทย์จะสามารถพบความผิดปกติระหว่างที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจได้ทันที โดยสังเกตจากอาการระหว่างที่ทำการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืด หัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลง และอื่นๆ ที่อาจบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงต่อการขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจระหว่างออกกำลังกาย

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หรือหัวใจขาดเลือด ที่ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย

ผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านหัวใจขณะออกกำลังกาย เช่น เหนื่อยง่าย หายใจหอบ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม และอาจเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่พบความผิดปกติ เช่น การอัลตร้าซาวด์ หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

 

วิธีเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย

- งดทานอาหารทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารมัน อาหารทอด ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนเข้ารับการตรวจ 3-4 ชั่วโมง

Advertisement

- หากเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจอยู่แล้ว และทานยารักษาอยู่เป็นประจำ อาจต้องแจ้งแพทย์ว่ากำลังทานยาอะไรอยู่ เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าก่อนเข้ารับการตรวจ ต้องหยุดยาตัวนั้นๆ ก่อนเข้ารับการตรวจหรือไม่ เพราะตัวยาบางชนิดอาจทำให้ผลการทดสอบผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้

- สวมเสื้อผ้าสบายๆ และรองเท้าที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย

 

 

ขั้นตอนในการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย

เจ้าหน้าที่จะทำการซักประวัติของผู้ป่วย โดยเน้นไปถึงประวัติของโรคหัวใจในสมาชิกภายในครอบครัว และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในตอนนี้ จากนั้นก็จะนำแผ่นขั้วไฟฟ้ามาติดที่หน้าอกของผู้ป่วย เพื่อส่งสัญญาณจังหวะ และอัตราการเต้นของหัวใจไปแสดงในเครื่องตรวจ ขณะที่ผู้ป่วยเริ่มเดินบนสายพานออกกำลังกาย ความเร็ว และความชันของสายพานจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุก 3 นาที มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต และคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่ตลอด เมื่ออัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในจังหวะที่ต้องการ หรือผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้ต่อ อาจมีอาการแน่น แสบร้อนหน้าอก หรือคลื่นไส้ หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เจ้าหน้าที่ก็จะหยุดทำการทดสอบ แล้วนำผลการตรวจไปวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง ใช้ระยะเวลาในการตรวจราว 1 ชั่วโมง

 

ผลการตรวจ บอกอะไรได้บ้าง

หากผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม หรือแน่นหน้าอกภายในระยะอันสั้น แสดงว่าผู้ป่วยอาจเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ หัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกาย และแปลว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจวายเฉียบพลัน เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนเข้าไปในหัวใจขณะออกกำลังกายได้เร็ว และมากพอ จนทำให้เกิดอาการดังกล่าว

 

ข้อจำกัดของการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย

แม้ว่าวิธีตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นหัวใจ ความดันโลหิต และคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายได้เลย แต่ก็ไม่สามารถเห็นโครงสร้างของหัวใจได้ หรือผู้ป่วยบางกลุ่มที่ร่างกายไม่ปกติ เช่น พิการขา ปวดเข่าเพราะอายุมาก ก็จะไม่สามารถเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้ได้ นอกจากนี้ผลของการตรวจก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่าจะสามารถระบุได้ทันทีว่าเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจขาดเลือดหรือไม่ ทราบแต่เพียงมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หัวใจจริงๆ ดังนั้นผู้ป่วยจึงอาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้