“เปิด Google vs หาหมอ” ทำไมการเช็กสุขภาพถึงเปลี่ยนไป?

“เปิด Google vs หาหมอ” ทำไมการเช็กสุขภาพถึงเปลี่ยนไป?

“เปิด Google vs หาหมอ” ทำไมการเช็กสุขภาพถึงเปลี่ยนไป?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่โลกออนไลน์มีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของทุกคนในสังคม เราสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยการเสิร์ชหาข้อมูลที่ตัวเองอยากจะรู้ได้ทันที โดยมี Google เป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของสุขภาพ ที่นับวันคนจะพึ่งหมอกูเกิลมากกว่าหมอจริง ๆ เสียอีก

หลายครั้ง Google ก็แสดงผลลัพธ์ที่ดี ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ก็นั่นก็ไม่เสมอไป เพราะบางอาการป่วย หาข้อมูลไป ๆ มา ๆ กลายเป็นโรคร้ายเสียได้ Tonkit360 จึงจะชวนทุกคนมาดูว่า เหตุผลที่คนสมัยนี้ชอบถามหมอกูเกิล เป็นเพราะอะไร

1. ไลฟ์สไตล์หาเช้ากินค่ำ

ไลฟ์สไตล์การทำงานของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ออกจากบ้านแต่เช้ามืด ออกจากออฟฟิศค่ำ กว่าจะถึงบ้านก็ดึก ในขณะที่เวลาทำงานของหมอในโรงพยาบาลรัฐจะนับตามเวลาราชการ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ทำให้ไม่สะดวกไปหาหมอโรงพยาบาลรัฐ และข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายที่ทำให้ไม่สะดวกไปหาหมอโรงพยาบาลเอกชน การถามอาการป่วยจาก Google จึงง่ายกว่า

2. เข้าถึงหมอยาก

คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าหมอโรงพยาบาลรัฐเก่งกว่าหมอโรงพยาบาลเอกชน อีกทั้งหากใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามนโยบายรัฐก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ซึ่งคนก็จะเยอะตามไปด้วย หาหมอแต่ละทีเสียเวลาทั้งวัน อย่างบางคนมาจองคิวแต่เช้ามืด แต่กว่าจะได้เจอหมอก็เกือบบ่าย ได้คุยกับหมอแค่ 3-5 นาที เรียกได้ว่าไม่ทันได้วิเคราะห์โรคใด ๆ เลยด้วยซ้ำ หมอกูเกิลจึงตอบโจทย์มากกว่า

3. มีทัศนคติที่ไม่ดีกับหมอ

มีคนจำนวนไม่น้อยมีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับอาชีพหมอ มองว่าคนที่เป็นหมอคือคนที่อยากรวย อยากมีเงินเดือนสูง ๆ ไม่ได้อยากช่วยเหลือใครจริงจัง ชอบเล่นตัว หยิ่งและไม่มีมารยาท เพราะถือว่าตัวเองเรียนจบสูง รวมถึงอาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับหมอมาก็ได้ จึงเลือกที่จะปรึกษา Google ก่อนเพื่อความสบายใจ หาก Google บอกว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก จะได้ไม่ต้องไปหาหมอให้เสียความรู้สึก

4. ไม่เชื่อใจหมอ

มีอยู่หลายกรณีเหมือนกันที่เป็นข่าว เป็นคดีความอยู่บ่อย ๆ อันเนื่องมาจากความผิดพลาดของหมอ ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักกว่าเดิม หรือถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อหมอยังวินิจฉัยโรคผิด หลายคนก็เลยไม่ไว้ใจ และไม่เชื่อใจหมอว่าจะวินิจฉัยโรคให้ตัวเองถูกหรือไม่ ยิ่งกับคนที่ถามหมอกูเกิลมา แล้วปักใจเชื่อไปแล้วว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแน่ ๆ ก็กลัวว่าถ้าไปตรวจจริง หมอจะวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไร แล้วสุดท้ายอาจอาการหนักกว่าเดิม

5. เช็กอาการเบื้องต้นแล้วไม่เป็นไร ซื้อยามากินก็พอ

เมื่อเสิร์ชถามอาการเบื้องต้นจากหมอกูเกิลแล้วก็พบว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไรมาก ถ้าเป็นไข้ปวดหัวตัวร้อน แค่พักผ่อนเยอะ ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ แล้วหายากินเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาลให้เสียเวลา และที่สำคัญหลายคนฝังใจกับการที่ไปหาหมอทีไร ไม่ว่าจะด้วยอาการใดก็ตาม จะได้มาแต่พาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อทั่วไป ฉะนั้นไปครั้งนี้ก็น่าจะไม่ต่างกัน ไม่ไปซะเลยจะดีกว่า

6. กลัว

กรณีนี้เกิดขึ้นได้กับคนที่ไม่ถูกโรคกับทั้งหมอและโรงพยาบาล ด้วยสาเหตุเดียวคือ “กลัว” บางคนไม่ชอบกลิ่นโรงพยาบาล บางคนกลัวเข็มฉีดยา บางคนกลัวหมอ และบางคนกลัวคนใส่ชุดขาว (หมอและพยาบาล) ซึ่งอาการกลัวคนชุดขาวมีศัพท์ทางวิทยาศาสตร์สวย ๆ ว่า white coat hypertension อาการคือความดันโลหิตสูงทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล จึงทำให้คนกลุ่มนี้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไปหาหมอ แล้วเปิด Google ดูอาการเอง

7. กลัวข่าวร้ายจากปากหมอ

ถึงจะดูไม่น่าเชื่อ แต่เชื่อเถอะว่ามีคนคิดแบบนี้จริง ๆ เพราะบางคนเสิร์ชลักษณะอาการต่าง ๆ นานาจาก Google คละกันไปมาหลายเว็บไซต์ ผลลัพธ์ออกมากลายเป็นโรคร้ายโรคหนึ่ง ที่อาการเป็นแบบที่เป็นอยู่เป๊ะ ๆ ถึงจะทำให้จิตตกกันอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีคนที่ยังไม่ยอมไปหาหมอเพื่อตรวจดูให้แน่ใจอีกครั้ง ด้วยกลัวคำยืนยันจากปากหมอนี่เอง กลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคร้ายตามที่ Google บอกจริง ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook