มารยาทเกี่ยวกับบ้านญี่ปุ่น ทำไมถึงห้ามเหยียบธรณีประตูบ้านญี่ปุ่น
เวลาไปวัดวาต่าง ๆ ทุกคนน่าจะเคยได้ยินความเชื่อที่ว่าห้ามเหยียบธรณีประตูอยู่บ่อย ๆ ใช่ไหมคะ เราได้รับการสอนแบบนั้นมาบ่อย ๆ จนเคยชินไปแล้วว่าเวลาเจอธรณีประตูต้องก้าวข้าม อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้นนะคะ แต่ประเทศญี่ปุ่นก็มีความเชื่อแบบนี้เช่นกันค่ะ ลองมาดูเหตุผลที่ห้ามเหยียบธรณีประตูของบ้านญี่ปุ่นกันดูค่ะ
มารยาทเกี่ยวกับห้องแบบญี่ปุ่น (washitsu; 和室) มีหลายข้อเลยค่ะ แต่ที่สำคัญข้อหนึ่งเลยก็คือ เวลาไปบ้านคนอื่น ห้ามเหยียบธรณีประตูบริเวณประตูบานเลื่อนของห้องญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะได้รับการสอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าห้ามเหยียบธรณีประตูเช่นกัน บ้างก็ว่าเหมือนเป็นการเหยียบหัวของเจ้าของบ้านบ้าง หรือเหมือนเป็นการเหยียบหน้าพ่อแม่บ้าง แต่ดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงห้ามเหยียบธรณีประตู
มีทฤษฎีเกี่ยวกับความเชื่อนี้หลายแบบ อย่างเช่น ธรณีประตูเป็นที่กั้นระหว่างนอกห้องและในห้อง เปรียบเสมือนเป็นที่กั้นระหว่างโลกมนุษย์กับดินแดนศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ให้เหยียบเพื่อเป็นการให้ความเคารพ หรือมีทฤษฎีที่น่าสนใจอย่าง แต่ก่อนนินจาจะแอบอยู่ใต้พื้นบ้าน เฝ้าดูตำแหน่งที่ฝ่ายตรงข้ามยืนอยู่จากแสงที่ส่องผ่านธรณีประตู เมื่อไม่มีแสงส่องลงมาก็รู้ทันทีว่ามีคนยืนอยู่ตรงธรณีประตู นินจาก็จะโจมตีโดยใช้ดาบแทงขึ้นระหว่างเสื่อทาทามิและธรณีประตู เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้เหยียบธรณีประตูเพื่อหลบเลี่ยงจากการโจมตีนั่นเองค่ะ
หรือเหตุผลที่ว่าห้องญี่ปุ่นมักจะใช้สำหรับทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างพิธีชงชาหรือไว้สำหรับไหว้บรรพบุรุษ การเหยียบธรณีประตูจึงเป็นการไม่เคารพและทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ค่ะ แต่ก็มีความเชื่อแบบจับต้องได้อย่าง ถ้าเหยียบมาก ๆ ร่องบริเวณธรณีประตูจะผิดรูปทรง ทำให้ประตูบานเลื่อนเปิดปิดยากด้วย
นอกจากห้ามเหยียบธรณีประตูแล้ว ยังมีข้อห้ามเหยียบขอบเสื่อทาทามิอีกด้วยค่ะ สำหรับข้อห้ามนี้ว่ากันว่า เมื่อก่อนจะมีการปักตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของคนญี่ปุ่นไว้ที่ขอบเสื่อ การเหยียบขอบเสื่อจึงเป็นเรื่องที่เสียมารยาท อีกทั้งขอบเสื่อเป็นพื้นต่างระดับทำให้สะดุดง่ายอีกด้วย
ปัจจุบันอาจจะมีโอกาสเห็นห้องแบบญี่ปุ่นยากหน่อย แต่ถ้าทุกคนมีโอกาสไปบ้านคนญี่ปุ่นหรือเรียวกังต่าง ๆ ก็ระวังมารยาทของห้องญี่ปุ่นกันไว้ด้วยนะคะ