ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักวิชาการผู้รอบรู้ศาสตร์ด้านจิตวิทยา
เรียกได้ว่า ?ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม? ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์โครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นนักวิชาการมากความสามารถคนหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะศาสตร์ด้านจิตวิทยา
ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม
ทว่า กว่าจะมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จัก และประสบความสำเร็จในวิชาชีพได้อย่างทุกวันนี้ "ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม" ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการนานหลายปี กว่าจะค้นพบตัวตนที่แท้จริงแล้วเลือกทำในสิ่งที่รักบนถนนสายวิชาชีพเส้นนี้
ความรักเปลี่ยนชีวิต
สมัยเด็ก ๆ หาตัวเองไม่เจอ แรก ๆ อยากเรียนปรัชญา เพราะเป็นเด็กช่างคิด ชอบคิดอะไรเชิงปราช พอมัธยมปลายรู้สึกชอบศิลปะ เลยเลือกเรียนศิลปะ แต่สมัยก่อนใครเรียนศิลปะจะถูกเรียกว่าพวกเหลือขอ เพื่อนจะล้อและถูกว่าโง่ เลยเปลี่ยนไปเรียนวิทยาศาสตร์
พอเรียนวิทยาศาสตร์จบมาก็ไม่รู้จะเรียนอะไร นอกจากวิศวะกับแพทย์ ช่วงนั้นกำลังมีแฟนด้วยเพิ่งอายุ 15-16 เอง แฟนอายุ 11 ปี พอสอบเข้ามหาวิทยาลัย ติดคณะแพทย์ มหิดล แม่ก็ดีใจ บอกขออะไรจะให้หมด ผมเลยขอแต่งงาน แต่แม่ไม่อนุญาตผมเลยไม่เรียน
ถัดมาอีกปีสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ติดวิศวะจุฬาฯ แม่บอกอีกว่าขออะไรจะให้ ผมก็ขอแต่งงานอีก แต่แม่ไม่ให้เหมือนเดิม ผมเลยออกจากมหาวิทยาลัยอีกครั้ง โกรธที่แม่ไม่ให้แต่งงาน จริง ๆ แม่ไม่ผิดเพียงแต่แม่ห่วง เพราะยังเรียนไม่จบ กลัวจะรับผิดชอบไม่ได้
แม่จะบอกตลอดว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ได้รักผม เขารักเงิน ความที่เรายังเด็กก็ไม่เข้าใจ พ่อบอกถ้ารับผิดชอบได้จะให้แต่งงาน ตอนนั้นเลยบอกพ่อกับแม่ว่ารับผิดชอบได้ แล้วก็เริ่มทำงานหาเงิน พอดีมีเพื่อนจะไปเรียนที่ฟิลิปปิน ตั้งใจจะตามเพื่อนไป แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป
ตอนหลังพ่อเรียกไปคุยว่า ยังไงขอให้เรียนหนังสือก่อน เรื่องแต่งงานเอาไว้ทีหลัง ความที่เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเราไม่มีคุณค่า ความหล่อก็ไม่มี พี่ ๆ เรียนเก่งหมด แต่ผมเกเรไม่เรียนหนังสือ มัวแต่วิ่งหาความรัก เลยไปทำงานตอนกลางคืนเป็นนักดนตรี
รับจ้างต่อยมวย ขายเรียงเบอร์ ขายล็อตเตอร์รี่ ทำทุกอย่างเพื่อจะได้มีเงินไปแต่งงาน เรียกว่าหลงผู้หญิงคนนี้มาก พอดีมีเพื่อนเป็นโรบินฮู้ดอยู่ที่ L.A. เลยขอเงินพ่อก้อนหนึ่งไปอเมริกา เพราะคิดว่าถ้าอยู่เมืองไทยคงตั้งหลักไม่ได้แน่ ๆ
ไปอเมริกาเทอมแรกเลือกเรียนวิศวะ รู้สึกว่าเรียนได้แต่ไม่ชอบ อ่านแต่หนังสือปรัชญาทั้งวัน เทอมสองเลยเปลี่ยนเรียนคอมพิวเตอร์ แต่ก็ไม่ชอบอีก ยังชอบอ่านหนังสือปรัชญาอยู่ แล้วก็เปลี่ยนมาเรียน business เพราะแม่อยากให้เป็นนักธุรกิจ อยากให้ลูกรวย
ตอนนั้นผมมีอคติคือ ไม่อยากรวย ไม่อยากมีเงิน เพราะเห็นญาติหลายคนมีเงินแล้วไม่คบเพื่อน ไร้ญาติขาดมิตร เลยถามอาจารย์ผู้สอนว่าถ้าเรียน business แล้วไม่ต้องการรวยได้มั้ย อาจารย์บอก NO ผมเลยไม่เรียน ออกมาทั้ง ๆ ที่เรียนไปเกือบ 2 ปีแล้ว
จากนั้นก็เปลี่ยนมาเรียนปรัชญา มีวิชาเลือกคือ จิตวิทยา ทำให้ค้นพบตัวเองว่าจริง ๆ แล้วผมชอบจิตวิทยาไม่ใช่ปรัชญา เป็นการเรียนที่มีความสุขมาก ชอบมาก สนใจมาก เท่ากับผมใช้เวลา 5 ปีเต็ม ๆ ในการค้นหาตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราชอบอะไร
พอจบจิตวิทยาก็เลือกเรียนจิตวิทยาคลีนิกต่อ เพราะเด็ก ๆ รู้สึกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ความที่เป็นลูกคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้อง 10 คน มีความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก ถูกรังแก เลยเลือกเรียนด้านจิตวิทยาคลีนิกเพื่อหาคำตอบให้กับตัวเอง
10 ปีในอเมริกา ประสบการณ์ดี ๆ ในชีวิต
อยู่อเมริกา 2 วันแรกถูกไล่ออก 13 งาน ไม่เคยทำงานได้เกิน 8 ชม. จนกระทั่งได้งานเป็นคนล้างจาน เก็บจาน ทำงานเสร็จไปเรียนหนังสือ จากล้างจานมาเป็นบ๋อย เป็นผู้ช่วยกุ๊ก เป็นกุ๊ก ทั้ง ๆ ที่เกิดมาผมไม่เคยเข้าครัวเลย
พอเรียนจบไปอยู่ Boston ตื่นตี 5 ขับรถไปทำงานที่โรงพยาบาลโรคจิต ทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงบ่าย 3 จากนั้นขับรถกลับ มานอนในรถ 1 ชม.พอ 5 โมงเย็นออกไปทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์จนถึงตี 1 กลับถึงบ้านตี 2 แล้วตื่นตี 5 ทำอย่างนี้อยู่ 3 ปี
ตอนนั้นเงินเดือนดีมาก ไม่รู้สึกว่าลำบากเลย กลับสนุกกับการทำงาน มีความสุขที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาเกือบ 10 ปี
พอจบปริญญาเอกก็ทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวชวิสวอลล์ 3 ปี (Wiswal Psychiatric Hospital) ทำให้เข้าใจด้านจิตวิทยามากขึ้น และเปิดคลีนิกเป็นนักจิตบำบัดอีก 3 ปี ตอนนั้นมีบ้าน มีรถ 5 คัน แต่งงานมีลูกแล้ว
พอดีมีอาจารย์ท่านหนึ่งชวนกลับเมืองไทย บอกกลับมารวยแน่ เพราะเมืองไทยยังไม่มีนักจิตบำบัด ตัดสินใจกลับมาเมืองไทยมาทำงานรับราชการอยู่โรงพยาบาลรามา ตอนนั้นได้เงินเดือน 2,100 บาท ทำอยู่ 3 เดือนเลยเปิดคลีนิก เรียกว่าเป็นนักจิตบำบัดคนแรกที่เปิดคลินิกจิตบำบัด
ทำได้ 3 ปีรู้สึกไม่ไหว เหนื่อยมาก ไม่พอกิน สมัยอยู่อเมริกาเปิดคลีนิกกับทำงานที่โรงพยาบาล หักภาษีแล้วยังมีเงินเหลือ 80,000 กว่าบาท ช่วงนั้นคิดว่าจะเซ้งคลีนิคแล้วกลับอเมริกาแต่ยังลังเลอยู่ เพราะเริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มมีชื่อเสียง เรียกว่าตอนนั้นดังมากในวงการ
ผมติดอันดับ 10 ของโลก 2 ปีซ้อนในการเป็นนักจิตบำบัดที่รักษาโดยไม่ใช้ยา และเป็นคนแรกที่เสนอรายงานการรักษาคนไข้ด้วยวิธีการธรรมชาติ ได้รับรางวัล 3 ปีติดต่อกันในนามของสมาคมจิตแพทย์ และยังถูกเชิญไปเป็นวิทยากร ไปสอน ไปเป็นกรรมาธิการอีกมากมาย
เผอิญรู้จักกับอาจารย์ที่มศว.ท่านหนึ่ง เขาบอกเมืองไทยครูคุณภาพต่ำ มาช่วยกันเถอะ ผมรู้สึกเป็นเรื่องเสียหายมาก เพราะตั้งแต่เด็กผมเคว้งคว้าง ไม่รู้จะเรียนอะไร เหตุผลเพราะไม่มีครูคอยแนะแนว ทำให้เคว้งคว้างอยู่ถึง 5 ปี เลยไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังต้องมาเคว้งคว้างเหมือนเราในอดีต
เลยตัดสินใจโอนเข้ามาเป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชาการแนะแนวและจิตวิทยาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ สอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และเป็นหัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งใจจะทำงานแค่ 3-5 ปี ไป ๆ มา ๆ สอนจนเกษียณแล้วอยู่มาจนถึงทุกนี้
ในวัย 64 ปี ยังคงเดินหน้าด้านงานแพทย์
เมื่อก่อนทำงาน 7 แห่ง อยู่โรงพยาบาลมิชชั่น สมิติเวช บำรุงราษฏร์ กรุงเทพ คามิลเลี่ยน สุขุมวิท พญาไท แต่ตอนนี้เหลือแค่โรงพยาบาลสุขุมวิทแห่งเดียว วัน ๆ ผมรักษาคนไข้ได้เต็มที่วันละ 4-6 คน ๆ ละ 45 นาที ที่มศว.จะรักษาให้ฟรี ถือโอกาสให้นิสิตได้ฝึกรักษาคนไข้
การรักษาคนไข้ที่เมืองไทยจะต่างจากเมืองนอกมาก เพราะเมืองนอกคนไข้ต้องการให้เรานั่งฟังเขาระบาย แล้วช่วยปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมให้ เนื่องจากเมืองนอกไม่มีทักษะทางสังคม แต่คนไข้ที่เมืองไทยต้องการคำแนะนำ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองคิดถูกคิดผิด ทำตัวถูกไม่ถูก เขาต้องการให้เราวิเคราะห์ว่าเขาเป็นคนนิสัยอย่างไร
จริง ๆ ทำงานมา 30 กว่าปี รู้สึกพอแล้ว อยากเลิกแต่เลิกไม่ได้ เพราะถ้าเลิกก็ไม่มีใครรักษาโดยวิธีการธรรมชาติ ส่วนใหญ่รักษาโดยการใช้ยาหมด อีกเหตุผลที่ยังไม่เลิก เพราะคนไข้นับถือเรา ซึ่งผมจะมีคติในการทำงานคือ ความลับของคนไข้ต้องตายไปพร้อมกับผม
ถึงวันนี้ผมจะอายุ 64 ปีแล้ว แต่ยังอยากทำงานต่อ ยังไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะมีเป้าหมายในชีวิตการทำงานคือ อยากให้คุณภาพชีวิตสังคมไทยดีขึ้น
คิดค้นศาสตร์ "หัวเราะบำบัด"
จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา 30 กว่าปี ทำให้ผมคิดค้นเรื่องการหัวเราะบำบัดขึ้นมา โดยแบ่งการหัวเราะออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.หัวเราะแบบธรรมชาติ เกิดจากการถูกกระตุ้นให้มีอารมณ์ขัน ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
2.หัวเราะบำบัด (หรือหัวเราะ สยาม) เป็นการหัวเราะแบบรู้ตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากการหัวเราะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนประเภท "ปลุกเร้า" เพื่อบำบัดจิตใจและฟื้นฟูร่างกาย หัวเราะบำบัดจะทำให้คนเข้าใจสุขภาพชีวิตดีขึ้น
การมองโลกในแง่ดี คิดถึงความปราถนาดีของคนอื่นที่มีต่อตัวเราจะช่วยให้เป็นคนเครียดน้อยลงและมีความสุขมากขึ้นได้ เพราะการหัวเราะบำบัดจะช่วยให้หายซึมเศร้า หายเครียด โรคภัยไข้เจ็บหายหมด ตอนนี้ผมเกษียณแล้วแต่ยังอยากให้บริการสังคม เลยจัดอบรมฟรีทุกวันพฤหัสบดี เวลา 14.00-13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เลือกทำในสิ่งที่รักและรักในสิ่งที่ทำ
แบบอย่างที่ดีในการทำงานของผมคือ คุณพ่อ ๆ เป็นหมอ สมัยก่อนรักษาคนไข้ทีตี 1 ตี 2 พ่อมักจะปลุกผมไปเป็นเพื่อนเสมอ จำได้ว่าพ่อไม่เคยรับเงินจากคนไข้เลย ทำให้ผมเชื่อว่า เมื่อเราทำได้เรามีสิทธิ์ที่จะเลือก ๆ ที่จะทำให้กับสังคมหรือทำเอาแต่ได้
สำหรับผมเลือกมาอยู่ตรงนี้เพื่อทำให้สังคม ไม่งั้นคงไม่รับราชการมาจนเกษียณและยังทำงานมาจนถึงวันนี้ เพราะผมทำในสิ่งที่รักนั่นคือ งานที่ผมทำอยู่ ฉะนั้นเงินทองไม่สำคัญ ผมอยากให้คนไทยรู้จักมองโลกแง่ดี ยกย่องคนไทยซึ่งกันและกัน โดยผ่านกิจกรรมหัวเราะบำบัด
ค้นหาตัวเองให้พบ แล้วสนุกกับการทำงาน
ผมมีคติจิตวิทยาฝากไว้เป็นข้อคิดคือ ถ้าปล่อยให้เด็กพบกับความลำบาก โตขึ้นเขาจะเกิดความอดทน ถ้าปล่อยให้เด็กพบกับความขัดแย้งอย่างมีเหตุผล โตขึ้นเขาจะเกิดการพัฒนา
ถ้าปล่อยให้เด็กพบกับปัญหาและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โตขึ้นเขาจะเกิดปัญญา ถ้าให้เด็กรู้จักลองผิดเพื่อถูกอย่างถูกกาลเทศะ โตขึ้นเขาจะเกิดความมั่นใจในชีวิต
การทำงานจะทำให้เราเกิดความอดทน แต่ต้องเลือกงานที่ชอบ ต้องสนุกกับการทำงาน และทำงานอย่างมีความสุข เพราะการทำงานคือ การได้ออกไปแก้ปัญหาภายนอกร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะทำให้อารมณ์เราหนักแน่นขึ้น ถ้าเราไม่ได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นอารมณ์เราจะแปรปรวน หงุดหงิดง่าย ทำให้อารมณ์เสีย
เปรียบได้กับชีวิตครอบครัวที่ต้องมีความอดทน ไม่เช่นนั้นครอบครัวอาจแตกแยกได้ หรือการเรียน ถ้าเราไม่อดทนชีวิตอ