ดื่มน้ำอย่างไร? ให้เพียงพอและได้ประโยชน์สูงสุด
เมื่อร่างกายคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จึงควรให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำมากเป็นพิเศษ ซึ่งสูตรที่ใช้กันอย่างเป็นสากลคือ 8×8 นั่นคือ ดื่มน้ำปริมาณ 8 ออนซ์ให้ได้ 8 แก้วในทุกวัน ซึ่งจะเท่ากับปริมาณ 2 ลิตร หรือ 2,000 มิลลิลิตรนั่นเอง
แต่หากนับรวมน้ำที่มาจากเครื่องดื่มอื่น ๆ และอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบด้วย จะต้องดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้นด้วย เพราะ 20 เปอร์เซ็นต์ของของเหลวที่เราบริโภคเข้าไปมักมาจากอาหารหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ นั่นเอง โดยปริมาณที่แนะนำสำหรับเพศชายอยู่ที่ 15.5 แก้ว (3.7 ลิตร) และเพศหญิงอยู่ที่ 11.5 แก้ว (2.7 ลิตร)
ทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดหรือบอกเราได้ว่าดื่มน้ำในแต่ละวันเพียงพอแล้วหรือยัง คือ “สีของปัสสาวะ” หากดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ สีของปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ แต่ถ้าปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม นั่นหมายความว่า เราดื่มน้ำน้อยเกินไป
อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็อาจทำให้ต้องดื่มน้ำในปริมาณที่มากกว่าปกติด้วย อาทิ
ออกกำลังกาย : หากเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออก ต้องดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป โดยดื่มทั้งก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังกาย
สภาพอากาศ : หากอยู่ในสภาวะที่อากาศร้อนจนทำให้เหงื่อออกมากกว่าปกติ อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ จึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป
สุขภาพ : หากร่างกายสูญเสียน้ำ เนื่องจากมีไข้, อาเจียน , ท้องเสีย จนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ให้ดื่มน้ำมากขึ้น หรือดื่มน้ำเกลือแร่ตามคำแนะนำของแพทย์
ตั้งครรภ์-ให้นมบุตร : ต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์คือ 10 แก้วต่อวัน (2.4 ลิตร) และผู้ให้นมบุตร 13 แก้ว (3.1 ลิตร)
นอกจากนี้ การดื่มน้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาต่าง ๆ ในการดื่มน้ำด้วยเช่นกัน