ลุงตู่เฮลั่น! ความสามารถแข่งขันไทยดีขึ้น 5 อันดับ สูงสุดรอบ 10 ปี
พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ประจำปี 2562 ซึ่งประเมินโดย International Institute for Management Development หรือ IMD ที่ปรากฏว่า ไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็น 25 ซึ่งนับเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ปี 2562 ผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน จากทั้งหมด 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนประสิทธิภาพของภาคธุรกิจยังเป็นประเด็นท้าทายที่ไทยจะต้องพัฒนาต่อไป
โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และท้ายที่สุดคนไทยและประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์โดยตรง ซึ่งรัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จึงทำให้อันดับเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศดีขึ้นมาก เช่นเดียวกับการปรับปรุงกระบวนการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจผ่านระบบดิจิทัล ทำให้การบริการรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างก้าวกระโดด สิ่งสำคัญคือ การสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมมือกันยกระดับการทำงานของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดยรัฐบาลเร่งส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ รวมทั้งพัฒนาคนให้พร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน
ทั้งนี้ สถาบัน IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2019 ซึ่งเป็นการรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ 63 ประเทศทั่วโลก
ผลการจัดอันดับดังกล่าว พบว่า ในปีนี้ประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนที่สหรัฐอเมริกาที่ลดลงไปเป็นอันดับที่ 3 ตามด้วยฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ประเทศที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นมากที่สุด ได้แก่
- ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีอันดับสูงขึ้นถึง 13 อันดับจากอันดับที่ 39 ในปี 61 เลื่อนมาอยู่ในอันดับที่ 26 ในปี 62
- รองลงมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย ที่เลื่อนขึ้นมาถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 43 ในปี 61 เลื่อนมาอยู่ในอันดับที่ 32 ในปี 62
หากพิจารณาเฉพาะ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ซึ่งได้แก่
- สิงคโปร์ ที่ครองแชมป์
- มาเลเซีย ยังคงที่อันเดิมจากปี 61 คือ อันดับที่ 22
- ไทย จากอันดับที่ 30 เป็นอันดับที่ 25
- ฟิลิปปินส์ จากอันดับที่ 50 เป็นอันดับที่ 46
- อินโดนีเซีย จากอันดับที่ 43 เป็นอันดับที่ 32
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในปี 2562 ผลปรากฏว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 63 ประเทศ โดยเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 30 ในปี 2561 ถึง 5 อันดับ ซึ่งจากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1. สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance)
2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
ปรากฏว่าผลการจัดอันดับดีขึ้นทุกด้านยกเว้นประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ โดยด้านสภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 10 มาเป็นอันดับที่ 8
อย่างไรก็ตาม สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สรุปผลการจัดอันดับในปีนี้ไว้ว่า
"นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยสนับสนุนของการพัฒนายังคงเป็นปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยมีพื้นฐานค่อนข้างดี นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับในปีนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในหลายด้าน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวคือ โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีประเด็นท้าทายในการพัฒนาศักยภาพของคนให้มีความรู้เท่าทันความรู้ เทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงในบริบทใหม่ของโลก รวมถึงการกระจายโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เหล่านี้ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มผลิตภาพและรายได้ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือและช่องทางในการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยเช่นกัน"