ผมเพื่อนโชค คืออะไร ทำไมคนเตรียมทำเป็นสติ๊กเกอร์ติดรถ หวังแคล้วคลาดทุกด่านตรวจ
คำว่า "ผมเพื่อนโชค" มีการค้นหาในอินเทอร์เน็ตพอสมควรตลอดวันนี้ (10 พ.ค.) และเริ่มเป็นกระแสพูดถึงในโซเชียลมีเดีย หลายคนถึงกับบอกว่า จะนำคำนี้ไปทำสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์ เพื่อให้เวลาไปถึงด่านตรวจ ตำรวจจะได้ไม่ต้องตรวจใบขับขี่ หรือรอดจากการปรับและตรวจค้นต่างๆ
กระแสนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการรายงานว่า ชายคนหนึ่งขับรถโดยมีผู้หญิงอีกคน ที่คาดว่าเป็นภรรยา โดยสารมาด้วย และเมื่อไปถึงด่านตรวจแห่งหนึ่ง ตำรวจขอตรวจดูใบขับขี่ แต่ชายคนนี้ปฏิเสธให้ดู แถมอ้างว่าเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและทุจริตภาค 8 จากนั้นจึงบอกให้ตำรวจคนนี้เรียกผู้บังคับบัญชามาเจรจา และเมื่อตำรวจตำแหน่งสูงกว่ามาถึง ก็อ้างว่าตนเป็นเพื่อนกับผู้กำกับชื่อ "โชค" ก่อนจะขับรถออกจากจุดดังกล่าวไป
"อธิบดีศาลอาญา ทุจริต ภาค 8 เพื่อนผู้กำกับโชค โทรไปเลย" ชายคนดังกล่าว พูด"โชคปัจจุบันนี่แหละ เพิ่งย้ายมาแทนคนเก่า อืมมมม แต่มันจะเอา (ขอดู) ให้ได้"
>> หนุ่มใหญ่อ้างเป็นอธิบดีศาล ปัดให้ตำรวจดูใบขับขี่ ชาวเน็ตประณามยับ
เหตุการณ์นี้สร้างเสียงวิจารณ์ให้คนจำนวนมากในสังคม หลายคนตั้งคำถามว่า การใช้เส้นสายเพื่อเลี่ยงกฎหมายหรือการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้อย่างนั้นหรือ ขณะที่บางคนวิจารณ์ถึงขั้นที่ว่า ชายคนดังกล่าวทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย
สะท้อนเสื่อมศรัทธา
ต่อมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนจึงหยิบกระแสนี้มาล้อเลียนว่า วันหลังจะทำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่า "ผมเพื่อนโชค" มาติดรถยนต์ของตัวเอง เพื่อให้ตำรวจเห็นว่า ตัวเองมีเส้นสาย จะได้ไม่กล้าตรวจเอกสารหรือรถยนต์ของตนเช่นกัน
สิ่งนี้กำลังสะท้อนถึงความไม่พอใจลึกๆ ต่อการทำงานของตำรวจบางคน เพราะคนจำนวนหนึ่งมองว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อคนธรรมดาและคนที่มีอำนาจต่างกัน ขณะเดียวกันหลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อตำรวจบางราย อย่างเช่น การพูดจาไม่สุภาพ หรือการแจ้งความผิดที่เกินกว่าเหตุ แต่เห็นเจ้าหน้าที่นอบน้อมถ่อมตนกับคนที่อยู่ระดับเหนือกว่า ไม่ว่าจะฐานะหรือตำแหน่ง ทั้งๆ ที่อาจมีความผิด อย่างในหลายกรณีตามที่เป็นข่าว
เส้นสายชนะกฎหมาย
คำนี้ยังย้ำว่า เส้นสายมีพลังเหนือกฎหมายในบางครั้ง เพียงแค่อ้างขึ้นมาสถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไปทันที
ผมเพื่อนโชคจึงไม่ได้เป็นเพียงประโยคธรรมดา หรือประโยคฮิตในอินเทอร์เน็ต เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตือนให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตัวเอง โดยเฉพาะในยุคข่าวสาร ภาพ และเสียง ส่งต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว และจุดกระแสวิจารณ์ได้ง่ายเช่นนี้
>> ค่าแรง "หมู่แทค" ตำรวจในคลิปด่านตรวจ เทียบกับความเคร่งครัดในหน้าที่ไม่ได้เลย