“คอรีเยาะ มานุแช” ทนายหญิง กระโปรง และความสากลที่ถูกพันธนาการ

“คอรีเยาะ มานุแช” ทนายหญิง กระโปรง และความสากลที่ถูกพันธนาการ

“คอรีเยาะ มานุแช” ทนายหญิง กระโปรง และความสากลที่ถูกพันธนาการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“กระโปรง” ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพศหญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ทนายความของไทยที่มีข้อบังคับการแต่งกายกำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมกระโปรงขึ้นว่าความในห้องพิจารณาคดี และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ทำตาม อย่างไรก็ดี ข้อบังคับดังกล่าวมีการกำหนดใช้มากว่า 32 ปีแล้ว ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับเทรนด์การแต่งกายในปัจจุบันที่ได้ก้าวข้ามความเป็นเพศสภาพไปแล้ว จึงทำให้ทนายหญิงกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าข้อบังคับการแต่งกายได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของพวกเธอและออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้กับบุคลากรในวงการยุติธรรมอย่างแท้จริง และเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ปี 2563 Sanook จึงขอพาทุกคนไปรู้จักกับทนายหญิงที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ากระโปรงไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเป็นเพศหญิงอีกต่อไป

ทนายหญิงผู้ไม่เคยสวมกระโปรง

“ตั้งแต่เป็นทนายความมา ใส่กางเกงไปว่าความตลอด” คุณคอรีเยาะ มานุแช ทนายความอิสระ เล่าก่อนหัวเราะเสียงดังในบ่ายวันหนึ่ง ณ สำนักงานนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ย่านสุทธิสาร ก่อนจะเล่าถึงความพยายามในการขอแก้ไขข้อบังคับการแต่งกายทนายหญิงที่เธอกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

คุณคอรีเยาะอธิบายว่าสำหรับทนายความแล้ว จะมีกฎหมายเฉพาะที่เรียกว่า พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ซึ่งในมาตราที่ 51 ได้บัญญัติว่า “ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับมรรยาททนายความ...” และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกายของทนายความในข้อ 20 ได้ระบุว่า “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์...

“ข้อบังคับที่ออกในปี 2529 มีข้อหนึ่งที่ระบุไว้ชัดเจนว่าด้วยมรรยาทในการแต่งกายของทนายความ ซึ่งระบุชัดเจนว่าผู้ชายสวมอะไร ผู้หญิงสวมอะไรในการว่าความในศาล ของผู้หญิงระบุเลยว่า “ทนายความหญิงต้องแต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น” แบบนี้เลย” คุณคอรีเยาะกล่าว

แม้ข้อบังคับการแต่งกายที่ว่าด้วยความสุภาพและเป็นสากลจะกำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมกระโปรงในการว่าความ พร้อมกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ทำตาม ซึ่งโทษร้ายแรงสูงสุดคือ การเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ แต่คุณคอรีเยาะก็ยืนหยัดต่อต้านข้อบังคับดังกล่าวเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมที่จะผูกขาดความเป็นเพศด้วยกระโปรงหรือกางเกง

มันไม่ใช่ยุคที่จะมาบอกว่ากระโปรงคือสุภาพ กางเกงคือไม่สุภาพ มันก้าวไปมากกว่าเพศหญิงเพศชายแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่าการกำหนดเฉพาะว่าผู้หญิงควรใส่กระโปรงมันไม่ถูกต้อง ไม่ทันกับยุคสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หรือถ้าจะพูดให้แรงก็คือมันกดขี่ผู้หญิง” คุณคอรีเยาะกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

กฎหมายต้องวิวัฒน์ตามสังคม

แม้จะไม่มีข้อกฎหมายใดที่กีดกันเรื่องเพศสภาพในการประกอบอาชีพผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ แต่ปัญหาที่ตอกย้ำการเลือกปฏิบัติและจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงในพื้นที่ยุติธรรมก็คือ “การแต่งกาย” แม้ว่าสังคมจะพัฒนาไปแล้วก็ตาม สิ่งที่คุณคอรีเยาะพยายามยืนยัน คือการแต่งกายเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ต้องไม่จำกัดว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง หรือผู้ชายต้องใส่กางเกง ดังนั้น ข้อกฎหมายที่ยังกีดกันทนายความจากสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาพึงมี จึงต้องเปลี่ยนแปลงตามสังคมได้แล้ว ซึ่งคุณคอรีเยาะอธิบายว่า

“ทนายความมาทำหน้าที่ในการพิทักษ์ความยุติธรรมหรือรักษาสิทธิ์ให้กับลูกความ เราคิดว่าการสวมกางเกงหรือกระโปรงไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรค แต่ พ.ร.บ. มันบัญญัติมาตั้งแต่ปี 2528 -2529 ในขณะที่โลกมันหมุนไปแล้ว ตอนนี้มีคนข้ามเพศ คนที่ไม่พร้อมที่จะระบุสถานะ และกระโปรงไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเป็นเพศหญิงอีกต่อไปแล้ว เราเลยคิดว่ากฎหมายก็ต้องวิวัฒน์ไปพร้อมกับสังคม เรายืนยันเรื่องการหลักการที่ว่าเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกแต่งกาย ไม่ว่าจะกระโปรง กางเกง หรือจะเรียกสิ่งอื่นก็ตาม ดังนั้น การแก้ไข พ.ร.บ. ที่กำลังทำอยู่จะเป็นประโยชน์ และเราจะก้ามข้ามความเป็นเพศสภาพของทนายความ”

เพราะยืนยันว่าจะไม่สวมกระโปรงขึ้นว่าความ จึงทำให้คุณคอรีเยาะถูกเรียกตำหนิและตักเตือนหลายครั้ง คุณคอรีเยาะจึงยิ่งมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในสังคมจะเป็นการรักษาสิทธิและสร้างเสรีภาพให้เกิดขึ้นได้ 

“เราเคยโดนเรียกไปตำหนิว่าทำไมใส่กางเกงมาว่าความ ทำไมไม่ใส่กระโปรง เราก็พยายามชี้แจงกับศาลว่าการสวมกางเกงเป็นการแต่งกายที่สุภาพและไม่ได้ทำให้กระบวนการพิจารณาหรือกระบวนการยุติธรรมเสียไป แต่ศาลก็ยืนยันว่าในเมื่อมีกฎหมายกำกับอยู่ ก็ควรต้องทำตามกฎหมาย เลยรู้สึกว่ามันถึงเวลาที่เราต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ให้มีความทันสมัย เพราะมันเป็นกฎหมายที่ถูกตราขึ้นและสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้” คุณคอรีเยาะกล่าว

ความสากลที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ในข้อบังคับการแต่งกายของทนายความ ระบุคำว่า “สากลนิยม” ซึ่งในมุมมองของคุณคอรีเยาะแล้ว คำว่าสากลในที่นี้เป็นคำที่สำคัญ แต่ไม่ควรขยายความว่าในความเป็นสากล ผู้หญิงต้องสวมกระโปรง เพราะกระโปรงไม่ใช่สัญลักษณ์ของความสุภาพเรียบร้อยและความเป็นสากลของผู้หญิงแล้ว

“ในฐานะทนายความผู้หญิง เรารู้สึกว่าการแต่งกายของเรามีอิสระที่จะแต่งกายด้วยกระโปรงหรือกางเกงก็ได้ ภายใต้นิยามคำว่าสุภาพ เคารพสถานที่ เคารพบุคคลที่เราไปทำงานด้วย ซึ่งคำว่าสุภาพในที่นี้ต้องเป็นสากล ไม่ใช่ว่าสุภาพของไทยเป็นอย่างหนึ่ง ของต่างประเทศอีกอย่างหนึ่ง เราคิดว่าคำว่าสุภาพเป็นที่เข้าใจ วิญญูชนทั่วไปเข้าใจได้อยู่แล้ว เราก็ไม่ได้สวมกางเกงยีนส์ไปในห้องพิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้น ความเป็นสากลตรงนี้แหละที่เราต้องให้น้ำหนักมัน” คุณคอรีเยาะชี้

เมื่อคุณคอรีเยาะเข้ามาเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อบังคับการแต่งกายทนายความหญิง ก็มีหลายเสียงสะท้อนกลับมาว่าหากจะแก้ไขก็ไม่ควรจะทำแค่เรื่องกระโปรง แต่คุณคอรีเยาะยังยืนยันว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ใช่ “แค่เรื่องกระโปรง” แต่เป็นเรื่องสิทธิสตรี เรื่องเสรีภาพในการแต่งกาย และไม่ควรจำกัดคำว่า “สากล” ด้วย “เพศสภาพ” พร้อมกันนั้น เธอก็ต้องรับมือกับความคิดของกลุ่มทนายความที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นการขอแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว

“ประเด็นนี้เป็นประเด็นสุภาพ ไม่ได้ต่อต้านใคร ไม่ได้ต่อสู้กับอะไร เราคิดว่ามันเป็นประเด็นทั่วไปที่คนทั่วไปก็เข้าใจได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีฝ่ายหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่โอเคที่ทนายความรุ่นใหม่จะมาขอแก้ไขระเบียบข้อบังคับที่มีมาแต่เดิม ดังนั้นการเปลี่ยนทัศนคติคนเป็นอะไรที่ทำได้ยาก แต่สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องยืนยันหลักการและสิทธิ์ของเรา ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้ขัดหรือแย้งกับหลักการใหญ่”

อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องรับมือกับทัศนคติและข้อคัดค้านที่มีอยู่บ้าง แต่คุณคอรีเยาะก็มั่นใจว่าเธอยังมีเพื่อน ๆ ทนายความที่เห็นด้วยกับเธอ และเข้าใจว่า พ.ร.บ. ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้เป็นปัญหา เพราะทนายความทุกคนทราบดีว่ากฎหมายต้องปรับตามวิวัฒน์ของสังคมและถูกตราขึ้นเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ก่อนที่ทิ้งท้ายว่า

“เราคิดว่าผู้หญิงสวมกางเกงไม่ใช่สิ่งผิดเลย ดังนั้น คนที่สวมกางเกงไปว่าความในศาล คุณไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร นี่เป็นสิทธิเสรีภาพที่จริง ๆ แล้วเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาที่ประเทศไทยรับรองก็ยืนยันหลักการนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่อาชญากรรมเลย ผู้หญิงแต่งกายไปว่าความไม่ใช่อาชญากรรม ดังนั้น ใส่ไป ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเปลี่ยนกางเกงเป็นกระโปรงในห้องน้ำ เพื่อเข้าไปในห้องพิจารณา เราต้องยืนยันแบบนั้น”

ขอเชิญชวนทนายความร่วมผลักดันให้ทนายหญิงมีอิสระในการเลือกเครื่องแต่งกาย โดยสามารถดาวน์โหลด แบบแสดงรายละเอียดเพื่อเสนอร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการแต่งกายของทนายความหญิง (http://naksit.net/2020/02/ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้-2/) และพิมพ์ลงกระดาษ A4 กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน แนบสำเนาใบอนุญาตว่าความของทนาย และส่งมาที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เลขที่ 109 ซอยสิทธิชน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2563 เพื่อสมาคมฯ จะได้ดำเนินการเสนอเรื่องพร้อมรายชื่อต่อคณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขในวันที่ 24 มีนาคม 2563

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook