''ไอแทป บิ๊กอิมแพค''

''ไอแทป บิ๊กอิมแพค''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดันเทคโนโลยีช่วย 3ภาคการผลิตสำคัญ

ปรับกลยุทธ์ มาแนวใหม่กับโครงการไอแทป (iTAP) ของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

หลังจากเป็นตัวกลางในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการกว่าหมื่นราย ภายในเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา

วันนี้... ไอแทปประกาศยุทธศาสตร์เชิงรุกใหม่เรียกว่า ไอแทป บิ๊กอิมแพค (iTAP Big Impact)

ศาสตราจารย์ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการทีเอ็มซี และรองผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า โครงการไอแทป บิ๊กอิมแพค นี้ ตั้งเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยภาคการผลิตที่มีผลกระทบสำคัญระดับประเทศ โดยเทคโนโลยีที่นำไปใช้ต้องง่าย ได้ ผลเร็วและประหยัดพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการอย่างชัดเจน

ระยะเวลาโครงการ 3 ปี นำร่องใน 3 ภาคการผลิตหลักของประเทศคือ ข้าว ยางพารา และกุ้ง ซึ่งมีตัวอย่างผลงานที่ประสบความสำเร็จแล้วเป็นต้นแบบ

อาทิ เรื่องข้าว ซึ่งไทยถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก มีเกษตรกรปลูกข้าวกว่า 3,700,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ และมีโรงสีข้าวกว่า 43,000 แห่ง ปัจจุบันการสีข้าวประสบปัญหาต้องสีซ้ำ สิ้นเปลืองพลังงานและข้าวที่ได้มีการแตกหักสูง เนื่องจากขาด ความรู้ในการปรับตั้งเครื่องจักรทำให้การทำงานของเครื่องสีข้าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ไอแทปและผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเข้าไปช่วยพัฒนากระบวนการสีข้าว ด้วยเทคนิควิศวกรรมที่ไม่ซับซ้อน บปรุงการตั้งค่าเครื่องจักรและตั้งระยะห่างของลูกยางกะเทาะข้าวให้เหมาะสม สามารถเพิ่มกำไรให้กับโรงสีข้าวนำร่องได้ถึง 20% ข้าวที่ออกมามีคุณภาพ ไม่แตกหักและลดการสีซ้ำ ซึ่งลดการใช้ไฟได้กว่า 50% ทีเดียว

ส่วนเรื่องยางพารา พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศ ไอแทปร่วมกับเครือข่ายคือผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาเตาอบยางพารา แบบใหม่ ที่ช่วยประหยัดเวลาในการใช้อบยางรมควันลง 25% ให้ความร้อนสม่ำเสมอทำให้ได้ยางที่มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงลงถึง 40%

สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ผอ.ทีเอ็มซี บอกว่า ได้ประโยชน์จากโครงการนี้เช่นเดียวกัน โดยไอแทปให้ความสำคัญกับการหาเทคนิคง่าย ๆ ที่ผู้ประกอบการจะประยุกต์ใช้ได้เพื่อลดต้นทุนจากการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต จากที่ได้ดำเนินโครงการนำร่องพบว่า การปรับเปลี่ยนพัดลมระบายอากาศที่ใช้ในโรงเลี้ยงไก่เป็นจุดง่าย ๆ ที่จะสร้างผลกระทบได้มาก ที่จะช่วยให้เกิดบิ๊กอิมแพคกับผู้ประกอบการโรงเรือนเลี้ยงไก่ได้ โดยอาศัยการลงทุนที่ต่ำ

พัดลมที่นิยมใช้ในปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และออกแบบได้ไม่เหมาะสำหรับใช้กับโรงเรือนไก่ในประเทศไทย และเสียงของใบพัดที่ดังทำให้ไก่เครียด ซึ่งทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ออกแบบพัดลม 3 ใบพัดให้เหมาะกับเมืองไทย แทนที่แบบเดิมจะเป็น 6 ใบพัด ช่วย ลดความดังของเสียง และลดความเครียดของไก่ ทห้ไก่เจริญเติบโตได้ดีขึ้น คุณภาพและน้ำหนักเหมาะสม ที่สำคัญพัดลมระบายอากาศที่พัฒนาขึ้นนี้ ประหยัดพลังงาน ทำให้โรงเลี้ยงไก่ใช้ไฟน้อยลงประมาณ 23% หรือคิดเป็น 20,000 บาทต่อโรงเรือนต่อปี

ผอ.ทีเอ็มซี ผู้ก่อตั้งโครงการไอแทป บอกอีกว่า ผู้ประกอบการที่สนใจมีปัญหาสามารถเข้าไปติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ทันที ซึ่งปีแรกนี้ ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 ภาคการผลิตให้ได้อย่างน้อย 1,000 แห่ง

เห็นตัวอย่างความสำเร็จแล้ว เทคโนโลยีไม่ได้ไฮเทค แต่สามารถช่วยได้ เหมือนกับที่ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช บอกว่า จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทุก คนเคยบอกว่ายากและจับต้องไม่ได้ วันนี้เปลี่ยนไป บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาในทุกภาคส่วน

และนี่ก็คือมุมเล็ก ๆ อีกมุมหนึ่งที่เป็นตัวอย่างในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสการแข่งขันเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง!!!.

นาตยา คชินทร

nattayap@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook