ซิสโก้ เน็ตเวิร์คกิ้ง อะเคเดมี

ซิสโก้ เน็ตเวิร์คกิ้ง อะเคเดมี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปั้นผู้เชี่ยวชาญระบบเครือข่าย

ทุกวันนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ไอที โดยเฉพาะแรงงานด้านระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

ซึ่งจากการคาดการณ์ของไอดีซี ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2009 ตลาดแรงงานของประเทศไทยจะมีความต้องการผู้ที่มีทักษะด้านระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศประมาณ 30,680 ราย แต่มีแรงงานด้านนี้รองรับเพียง 25,974 ราย ยังขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 6,600 ราย ปัจจุบันจึงเกิดการแย่งซื้อตัวแรงงานระหว่างองค์กรธุรกิจต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา

บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจด้านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตชั้นนำระดับโลก จึงเกิดแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีเครือข่ายเข้ามาช่วยในเรื่องการศึกษาด้วยการจัดตั้งโครงการซิสโก้ เน็ทเวิร์คกิ้ง อะเคเดมี หรือ แน็ทอะแคด (Cisco Networking Academy Program : NatAcad) ขึ้น เพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการติดตั้งและดูแลระบบเครือข่าย เป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยการเข้าไปร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการปรับปรุงระบบการเรียนการสอน หลักสูตร และระบบการประเมินผลให้ทันสมัย สอดคล้องกับระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ดร.ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี ค.ศ. 2000 ถือเป็นเด็กในยุคคอนเน็กเต็ด เจเนอเรชั่น (Connected Generation) ที่เติบโตขึ้นมากับอินเทอร์เน็ต ข้อมูลข่าวสาร การแชต และเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้นโรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนรู้ เพราะการเรียนการสอนในอนาคตไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถเข้ามาช่วย ให้กระบวนการเรียนการสอนเชื่อมโยงกันใน ทุก ๆ ด้าน ทั้งการเรียนรู้ ค้นคว้าด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนข้อมูลสารข่าว และการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ

โครงการซิสโก้ เน็ทเวิร์คกิ้ง อะเคเดมี เรปิดตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือน ต.ค. พ.ศ. 2540 ในสถาบันการศึกษา 64 แห่งใน 7 รัฐ ปัจจุบันได้ขยายโครงการ ครอบคลุมกว่า 160 ประเทศทั่วโลก มีสถาบันที่เปิดสอนกว่า 10,000 แห่ง มีผู้สมัครเข้าเรียนมากกว่า 1.6 ล้านคน สำหรับประเทศไทยได้นำโครงการนี้เข้ามาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ 43 แห่งทั่วประเทศ โดยหลักสูตรที่เปิดสอน คือ หลักสูตร ไอทีเอสเซนเชียล เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นด้านพีซี ฮาร์ดแวร์ และพีซีซอฟต์ แวร์ และระบบเครือข่ายเบื้องต้น

หลักสูตร ซีซีเอ็นเอ (Cisco Certified Network Associate) ที่ให้ความรู้พื้นฐาน ในการออกแบบติดตั้งดูแลระบบเครือข่ายพื้น ฐานเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนเพื่อสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตรซีซีเอ็นเอ ซีเคียวริตี้ (Cisco Certified Network Associate-Security) ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานในเรื่องการสร้างความปลอดภัยบนระบบเครือข่ายพื้นฐาน ให้ผู้เรียนเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซีซีเอ็นเอ ซีเคียวริตี้ และหลักสูตรซีซีเอ็นพี (Cisco Certified Network Professional) ที่เป็นหลักสูตรที่เน้นการออกแบบ ติดตั้ง ดูแลระบบที่มีความซับซ้อน ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งมุ่งเน้นเตรียมความพร้อมเพื่อสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพซีซีเอ็นพี ทั้ง นี้ตั้งแต่เปิดโครงการมาจนถึงปัจจุบันมีนักเรียนที่จบหลักสูตรจากโครงการแล้วประมาณ 18,622 ราย และมีผู้สนใจสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพจนผ่านประมาณ 2,715 ราย และในปีนี้มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 5,500 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สำหรับการประเมินผลนักเรียนในโครงการจะต้องผ่านการทดสอบจากระบบการประเมินผลแบบเรียลไทม์ในมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะเรียนในสถาบันไหน และในประเทศใด เพื่อให้ได้มาตรฐานระบบสากลตามที่ซิสโก้กำหนด นอกจากนี้ทางโครงการยังได้จัดการแข่งขัน เน็ตเวิร์คกิ้ง สกิลส์ คอมพีทิชั่น 2009 เพื่อหานักเรียนในโครงการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขัน เอเชีย แปซิฟิก เน็ตไรเดอร์ส 2009 ในระดับภูมิภาคเอเชียผ่านระบบเทเลพรีเซนซ์ (TelePrese) แบบเรียลไทม์ โดยตัวแทนประเทศไทย คือ นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ประกอบด้วย นายนวิน ธรรมรักษ์ นายศรัณย์ อรุณการณ์ และนายธนาวุฒิ พิชญ บุญวงศ์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือนายมาหะมะ เซะบากอ ซึ่งเด็กไทยคว้าอันดับ 8 จากทีมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 16 ประเทศ

น้อง ๆ ทั้งสาม กล่าวว่า การแข่งขันแบ่งเป็นภาคทฤษฎีทำข้อสอบจำนวน 100 ข้อ และภาคปฏิบัติในการแก้ปัญญาโจทย์ที่คณะกรรมการตั้งขึ้น สำหรับการเข้าร่วมโครงการและได้เป็นตัวแทนแข่งขันครั้งนี้ช่วยเพิ่มความรู้และประสบการณ์ในด้านระบบเครือข่าย ที่ทำให้เราพร้อมเมื่อจะต้องออกไปทำงานในองค์กรจริง ๆ

ดร.ธัชพล โปษยานนท์ กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาหรือบุคคลทั่วไปที่สอบผ่านมีใบประกาศวิชาชีพ ได้เข้าอบรมเกี่ยวกับทักษะทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานด้านไอที โดยจะเป็นการอบรมระยะเวลา 2 เดือน และฝึกงานจริงแบบมีค่าตอบแทนระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งผู้ที่ผ่านโครงการนี้ จะมีตำแหน่งงานในองค์กรธุรกิจชั้นนำของ ไทย 10 แห่ง อาทิ บริษัท ทรู, ปตท., เมโทร ซีสเต็มส์ และเครือซิเมนต์ไทย รองรับ ตั้งเป้าหมายรับผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 500 ราย โดยจะมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์...JirawatJ@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook