"แม่ลักษณ์แห่งบ้านนางงาม" แม่ที่ไม่มีมดลูก แต่มีลูกกว่าครึ่งร้อย
"แม่" ในยุคปัจจุบันอาจมีหลายความหมาย ทั้งแม่ผู้ให้กำเนิด แม่ที่เลี้ยงดูให้ความรักและความผูกพันกับลูก หรือบางครั้งคำว่า "แม่" ก็นิยมใช้เรียกคนที่เป็นที่เคารพนับถือ เช่น ภูมิรัตน์ เลิศวิศิษฎ์ชัย ผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวดมิสอินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เจ้าของเพจและเว็บไซต์ Thaimiss.com และเจ้าของร้านขายส่งชุดเจ้าสาว Bride Wholesale ย่านประตูน้ำ ผู้คร่ำหวอดในวงการนางงามมากว่า 30 ปี จนได้รับคำนิยามในวงการว่า "แม่ลักษณ์"
ภูมิรัตน์ เล่าให้ทีมข่าว Sanook ฟังว่าคนในวงการประกวดนางงามเรียกตัวเองว่าคุณแม่มาแต่ไหนแต่ไร ก่อนที่คำว่าแม่จะกลายเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเธออยู่ในวงการการประกวดนางงามมานาน 30 กว่าปี ตั้งแต่ยุคอรอนงค์ ปัญญาวงศ์ ปี พ.ศ.2530 เริ่มต้นตั้งแต่พานางงามเดินสาย มีความผูกพันเหมือนเป็นครอบครัว ร่วมทุกข์ร่วมสุข ตกรอบเสียใจ ชนะดีใจ จนเข้าใจกัน เขาก็จะเรียกว่าแม่ และเมื่อมาถือลิขสิทธิ์ต่างๆ กับเวทีต่างประเทศ ความเป็นครอบครัวในวงการนางงามก็ใหญ่ขึ้น มีลูกทั้งนางงาม ช่างแต่งหน้าทำผม คนทำชุด คนในวงการการประกวด หรือพนักงานในร้านชุดเจ้าสาวต่างๆ รวมแล้วกว่า 50 คน ซึ่งแต่ละคนก็รู้จักสนิทสนมกันมากว่า 10 ปี เวลามีเทศกาลหรือวันสำคัญก็จะมารวมตัวสังสรรค์กันที่บ้าน จนบ้านนี้มีชื่อว่า "บ้านนางงาม"
"พี่อาจจะไม่มีมดลูก พี่อาจจะให้กำเนิดคนไม่ได้ อาจจะให้กำเนิดเด็กทารกอะไรมาไม่ได้ แต่คำว่าแม่ พี่ว่ามันมากกว่านั้นนะ คำว่าแม่ที่แท้จริงมันคือการใส่ใจ รักและดูแล" ภูมิรัตน์ กล่าว
ทำทุกอย่างเหมือนแม่ แม้ไม่มีมดลูก
แม่ลักษณ์ เล่าให้ฟังว่า เธอและคู่ชีวิตก็ทำกิจกรรมหลายๆ อย่างกับลูก แล้วก็ได้รับการยอมรับหรือการปฏิบัติตอบกลับเหมือนเป็นพ่อกับแม่จริงๆ ทั้งมุมซึ้งๆ เช่น ติดยศร้อยตรี ปลงผมบวชนาค เอาดอกไม้พวงมาลัยมารดน้ำ ล้างเท้าในวันแม่หรือวันสงกรานต์ หรือมุมตลกๆ เช่น เวลาไปงานรับปริญญา ซึ่งเมื่อก่อนก็จะรู้สึกแปลกๆ เวลาที่ไปในงานแล้วลูกสาวที่เป็นนางงามตะโกนเรียกว่าแม่ คนอื่นก็อาจจะคิดว่าแม่อะไรผมก็ไม่มีหัวโปกขนาดนี้ หรือลูกบางคนโตแล้วอายุ 50 กว่ามีลูกมีเต้ามีครอบครัว พาลูกหลานกลับมาจากต่างประเทศ หรือมาหาที่บ้าน ก็จะสอนลูกให้เรียกยาย เป็นต้น
เธอบอกอีกว่า บางครั้งเราก็ได้บอกพวกเขาว่าเธออย่าทำขนาดนั้นเลย ฉันอาย แล้วฉันก็คงไม่ได้มีมงคลอะไรกับพวกเธอขนาดนั้น แต่ว่ามันก็คือสัญลักษณ์ที่พวกเขาอยากแสดงออกให้พวกเราว่าเขารักเรา ซึ่งบางทีเราก็ภูมิใจ
"ยิ่งเขาอยู่ไกลบ้านยิ่งต้องดูแลเขาเหมือนลูก" โมะลักษณ์ของลูกๆ ต่างชาติ
ภูมิรัตน์ กล่าวว่า แม่หลายคนที่ให้กำเนิดแต่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกก็มี แต่สำหรับหน้าที่แม่ของเธอคือ การดูแล คุ้มครอง ปกป้อง สอนงาน เป็นครู เป็นเพื่อนในชีวิตจริง แค่เธอคลอดลูกออกมาไม่ได้แค่นั้น โดยเฉพาะพนักงานชาวต่างชาติที่มาทำงานที่ร้าน เรากินอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรม ดูหนังดูละครร่วมกัน กินข้าวร่วมหม้อกัน เวลาไปเที่ยวก็ขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวกัน เวลาไปต่างประเทศก็ซื้อตั๋ว Business ให้ หรือเวลานอนโรงแรม เรานอนเกรดไหนก็นอนเท่ากันหมด ดูแลเขาเหมือนลูก ไม่ว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย ขัดสนเงินทอง ทะเลาะกับเพื่อนฝูง หรือปัญหาชีวิตด้านใดๆ ก็ตาม เราก็ทำหน้าที่เป็นแม่คอยช่วยเหลือแนะนำ จนพวกเขาเรียก "โมะ" เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่าแม่
"พี่มีความรู้สึกว่าเด็กๆ ที่บ้าน ยิ่งเขาอยู่ ไม่ใช่คนไทย อยู่ต่างประเทศอยู่ไกล ยิ่งเขาเป็นเด็กผู้หญิง เรายิ่งต้องดูแลเขา เสมือนแม่ เวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เราให้นอนพักไปเลย 10 วัน เราตื่นเช้าทำกับข้งกับข้าวส่ง 3 มื้อตลอด" ภูมิรัตน์ กล่าว
ไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่อยู่ที่บ้าน แต่ยังรวมไปถึงพวกน้องๆ เพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ตามโรงงานหรือทำงานที่อื่น ถ้าเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ต้องส่งรถ เอายาไปให้ ใส่เงินไปให้เขา เขาจะได้หยุดทำงาน ได้สบายใจ
ครอบครัวคือความผูกพัน แม้ไม่ใช่ DNA เดียวกันก็ตาม
เมื่อถามว่าอยากมีลูกบุญธรรมทางกฎหมายไหม เธอบอกว่าไม่อยากมี เพราะสิ่งที่ดูแลอยู่ปัจจุบันนี้ ก็มากพอแล้ว เราทำตรงนี้ให้ดีที่สุดดีกว่า ภูมิรัตน์ เปรียบเทียบว่า เธอเป็นคนรักสัตว์ เลี้ยงสุนัขเยอะมาก แล้วพอวันหนึ่งมันตายจากไปก็รู้สึกเสียใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ จึงไม่อยากมีลูกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตามกฎหมาย เพราะไม่อยากจากไปแบบยังมีห่วง
อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ที่อยู่กับเธอหรือว่าคนที่ผ่านๆ มาในชีวิตที่รักเหมือนลูกๆ เธอก็จะปูทางอนาคตเอาไว้ให้เสมอ หลายคนจะมีแฟนก็จะเอามาให้ดู จะวางแผนอนาคตในชีวิตก็จะมาขอคำปรึกษา ด้วยความที่มีประสบการณ์ชีวิตมามาก ซึ่งเราก็คิดไปถึงอนาคตระยะไกลๆ ของเขาด้วย เธอกล่าวว่าถ้าไม่ตายโดยอุบัติเหตุที่ไม่ได้สั่งเสีย เธอจะปูทางชีวิตให้ลูกๆ แน่ เพราะครอบครัวของเธอก็ดูแลตัวเองได้แล้ว ไม่ต้องห่วง
ภูมิรัตน์ ยังบอกอีกว่า เธอรู้สึกโชคดี ถึงแม้จะเกิดมาในเพศแบบนี้แต่โชคดีที่ว่าเราได้ทำหน้าที่แบบนี้ ที่ได้ให้ความรักความอบอุ่น ให้คำปรึกษา ให้การดูแล เวลามีความสุขต่างคนต่างมีความสุขก็ได้ แต่เวลาทุกข์ให้มาหาเรา เรามีอะไรที่เราช่วยได้ เราช่วยเต็มที่
"คำว่าครอบครัวมันเกิดขึ้นจากการรวมตัว เกิดจากความรักความอบอุ่นดูแลปกป้องกัน ไม่จำเป็นต้องมาจาก DNA เดียวกันก็ได้นะ แล้วฉันก็เชื่อเต็มเปี่ยมด้วยหัวใจฉันว่าฉันก็เป็นแม่ที่ดีคนหนึ่ง" ภูมิรัตน์ กล่าว
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ