"Walkers Crisps" : ขนมมันฝรั่งทอดผู้เป็นสหายคู่ใจของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้
Walkers Crisps สำหรับคนไทย คงไม่ใช่ชื่อขนมที่เรารู้จักกันสักเท่าไหร่ ยกเว้นว่าคุณจะเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ หรือบินไปเที่ยวอังกฤษบ่อยๆ เพราะนี่คือขนมมันฝรั่งทอดยอดนิยมประจำแดนผู้ดี
แต่ถ้าคุณเป็นฟุตบอลอังกฤษช่วง 20-30 ปีก่อน ขนม Walkers Crisps จะอยู่ใกล้ตัวคุณขึ้นมาอีกหน่อย เพราะเจ้าขนมนี้คือสปอนเซอร์คาดหน้าอก สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ชุดแชมป์ลีกคัพ ปี 1997 และ 2000
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ Walkers Crisps กลายเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกให้กับทีมจิ้งจอกสีน้ำเงินนานหลายปี และเป็นผู้สนับสนุนมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเรื่องราวระหว่างสององค์กร มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากกว่าพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ตามแบบฉบับสปอนเซอร์กับสโมสรฟุตบอลทั่วไป
สุดยอดขนมจากเลสเตอร์
Walkers Crisps อาจไม่ใช่ขนมที่คนไทยคุ้นหูนัก (แม้จะมีขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเกรดไฮเอนด์ที่มีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ) แต่อันที่จริงแล้ว ชาวไทยคุ้นเคยกับขนมลักษณะนี้เป็นอย่างดี ในชื่อ เลย์ (Lay's) ที่วางขายทั่วทุกหนแห่งในบ้านเรา ซึ่งเป็นขนมเดียวกันกับ Walkers Crisps ที่โด่งดังทั่วประเทศอังกฤษจากเมืองเลสเตอร์
ความสัมพันธ์ของบริษัท Walkers กับเมืองเลสเตอร์ ผูกพันตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ในฐานะร้านขายเนื้อสัตว์ประจำเมือง.. แต่เดิมร้าน Walkers ตั้งอยู่ทีเมืองแมนส์ฟิลด์ ในย่านอิสต์มิดแลนด์ ก่อนจะขยับมาอยู่ที่เลสเตอร์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด ของย่านอิสต์มิดแลนด์
ร้าน Walkers ยังคงขายเนื้อสัตว์มาตลอด จนกระทั่งหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ร้านประสบปัญหาหลายอย่างในการทำธุรกิจ ทำให้ต้องมาหาสินค้าใหม่ที่จะมาวางจำหน่ายเพื่อช่วยพยุงสภาพการเงินของร้าน
ช่วงเวลานั้น กระแสขนมมันฝรั่งทอด กำลังเป็นที่นิยมในประเทศอังกฤษ อันเป็นผลมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขนมมันฝรั่งทอด คือขนมโปรดของชาวอเมริกัน เมื่อทหารอเมริกันเข้ามามีบทบาทในประเทศอังกฤษช่วงสงครามโลก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เหล่าทหารจากแดนไกลจะพาของกินชนิดโปรดเข้ามามีอิทธิพลในอังกฤษ
ร้าน Walkers จึงเริ่มผลิตมันฝรั่งทอดของตัวเองออกจำหน่ายภายในเมืองเลสเตอร์เมื่อปี 1948 ด้วยการทำมันฝรั่งทอดราดเกลือ บรรจุในถุงวางขาย หรือที่เราคุ้นชินในปัจจุบัน ด้วยชื่อรสออริจินัล และมันฝรั่งรสเค็ม แต่เคี้ยวเพลินไม่หยุด สร้างยอดขายให้กับทางร้านได้อย่างรวดเร็ว
ปี 1954 ร้าน Walkers ปรับตัวการทำงานเป็นระบบบริษัทและเลิกขายเนื้อสัตว์ หันมาเดินหน้าเต็มกำลังกับธุรกิจมันฝรั่งทอดและเริ่มผลิตรสชาติอื่นๆตามมา เช่น รสชีสและหัวหอม, รสค็อกเทลกุ้ง, รสไก่ย่าง, รสเกลือและน้ำส้มสายชู (อย่าเพิ่งตกใจ รสชาตินี้ดัดแปลงมาจากอาหาร Fish & Chips อาหารประจำชาติของชาวอังกฤษ เพียงแต่การตั้งชื่ออาจจะดูแปลกไปหน่อย) ซึ่งล้วนได้รับความนิยมทั้งสิ้น
ยอดขายที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทเติบโต และไม่มีใครจะได้ประโยชน์มากไปกว่าชาวเมืองเลสเตอร์ เพราะทุกกระบวนการผลิตของขนม Walkers Crisps เริ่มต้นและจบในเมืองเลสเตอร์ ยิ่งบริษัทเติบโตมากเท่าไหร่ การว่าจ้างงานในเมืองยิ่งมากขึ้น ผู้คนในเมืองได้มีงานทำกับบริษัท Walkers เป็นความผูกพันที่แยกกันไม่ขาด
นอกจากนี้ ขนม Walkers Crisps โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ในประเทศอังกฤษ แต่เป็นทั่วสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศไอร์แลนด์ และเริ่มสร้างชื่อที่สหรัฐอเมริกา รวมถึงทวีปยุโรป.. ขนมมันฝรั่งทอด กลายเป็นหน้าเป็นตาของเมืองเลสเตอร์ ที่เมื่อนึกถึงเมืองนี้ ภาพของขนมซองรสอร่อยจะตามมาแบบทันทีทันใด
เมื่อขนม Walkers Crisps มีความสำคัญ และเป็นจิตวิญญาณของเมืองเลสเตอร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากขนมชนิดนี้จะเข้าผูกกับอีกหนึ่งจิตวิญญาณสำคัญของเมือง "สโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ ซิตี้"
Walkers Crisps เพื่อนแท้ Leicester City
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นหลังจากปี 1982 บริษัท Walkers สร้างโรงงานผลิตขนมมันฝรั่งทอดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งไว้ที่เมืองเลสเตอร์ ข่าวนี้โด่งดังไปทั่วโลก.. หากใครเป็นแฟนคลับขนมขบเคี้ยว ไม่มีทางไม่รู้จักขนม Walkers
Walkers ต้องการต่อยอดธุรกิจ และพวกเขาต้องการพรีเซ็นเตอร์ที่จะเข้ามาโปรโมตแบรนด์ โดยต้องเป็นพรีเซ็นเตอร์ที่ภาพลักษณ์ดี เข้ากับสินค้าของแบรนด์ และต้องเป็นที่รู้จักสร้างความดึงดูดให้กับผู้คน
สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ คือทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ท้ายที่สุด ในปี 1983 ทีมจิ้งจอกได้เลือกไปจับมือกับ Ind Coope แบรนด์ผลิตภัณฑ์วิสกี้ มาเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกเจ้าแรกของสโมสร
Walkers Crisps จึงต้องหาทางเลือกใหม่ และพบกับตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เขาเป็นนักฟุตบอลหนุ่มไฟแรง เลือดเนื้อเชื้อไขเมืองเลสเตอร์ และกำลังเล่นให้กับเลสเตอร์ ซิตี้ นามว่า "แกรี่ ลินีเกอร์"
ลินีเกอร์เข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของขนม Walkers Crisps ในปี 1984 (และยังคงเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ลินีเกอร์ภูมิใจอย่างมาก เพราะตัวของลินีเกอร์เป็นแฟนพันธ์ุแท้ของขนมประจำเมืองยี่ห้อนี้
"รสเกลือและน้ำส้มสายชู อร่อยที่สุด คุณไม่ต้องถามคำถามนี้กับผมอีก เพราะมันอร่อยที่สุดมาตลอด และจะเป็นแบบนี้ตลอดไป" ลินีเกอร์เล่าถึงขนมวอล์คเกอร์รสโปรด
อย่างไรก็ตาม ด้วยผลงานที่ร่วงหล่นของสโมสรเลสเตอร์ ทำให้แกรี ลินีเกอร์ ย้ายออกจากทีมไปอยู่กับเอฟเวอร์ตัน แบรนด์ Walkers Crisps จึงมีทิศทางต้องการหาพรีเซ็นเตอร์เข้ามาเพิ่ม เพื่อแสดงถึงความเชื่อมโยงกับเมืองเลสเตอร์เอาไว้
โอกาสนั้นได้มาถึง เมื่อปี 1987 หลังการตกชั้นจากดิวิชั่น 1 (พรีเมียร์ลีกในปัจจุบัน) ทำให้เลสเตอร์ไม่มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนคาดหน้าอก และเป็น Walkers Crisps ที่เป็นพระเอกขี่ม้าขาวกลายเป็นสปอนเซอร์คาดอกให้กับทีมนับตั้งแต่นั้น
ถ้าถามว่าการจับมือกันครั้งนี้ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน? ต้องชี้ชัดไปที่สโมสรเลสเตอร์.. ยุคสมัยที่เจ้าของทีมฟุตบอลยังเป็นนักธุรกิจท้องถิ่น ไม่มีเศรษฐีพันล้านเข้ามาทำทีม ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหาศาล รายได้จากสปอนเซอร์คือสิ่งสำคัญที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงสร้างรายได้ให้กับสโมสร
เลสเตอร์ในช่วงปลายยุค 80's จนถึงต้นยุค 90's เป็นเพียงทีมฟุตบอลในลีกระดับ 2 หากว่ากันตามตรง การที่ Walkers Crisps เข้ามาสนับสนุนเลสเตอร์ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก เพราะแบรนด์ชื่อดังระดับโลกแบบนี้ คงจะดีกว่าหากพวกเขายอมไปแย่งตลาดสนับสนุนทีมฟุตบอลชั้นนำ เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล หรือ ลีดส์ ยูไนเต็ด เพื่อหาทางโปรโมตแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้
แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่ทำให้ Walkers Crisps ยืนเคียงข้างสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ แม้ในวันที่ยากลำบาก เพราะว่าแบรนด์ Walkers Crisps ย้ำตัวตนอยู่เสมอว่า พวกเขาคือขนมจากเมืองเลสเตอร์
แม้ว่าบริษัท Walkers จะถูกบริษัท PepsiCo จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาซื้อกิจการในปี 1989 แต่บริษัท Walkers ไม่มีทีท่าที่จะเปลี่ยนแนวทางการสนับสนุนสโมสรเลสเตอร์ และให้การสนับสนุนเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ไม่มีทางที่ Walkers Crisps จะไม่ให้การสนับสนุนทีมฟุตบอลที่เป็นความภูมิใจของคนทั้งเมือง ไม่ว่าจะลงเล่นในลีกฟุตบอลลีกไหนก็ตาม
ความเชื่อมั่นของบริษัท Walkers ที่มีต่อสโมสรฟุตบอลประจำเมือง แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในที่สุด จากการคว้าแชมป์ลีกคัพของเลสเตอร์ในฤดูกาล 1996-97 และ 1999-2000
ช่วงเวลาที่ทัพจิ้งจอกสีน้ำเงินชูถ้วยแชมป์ขึ้นเหนือศรีษะ โลโก้ของ Walkers Crisps คือส่วนหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์นั้นและถูกออกฉายไปทั่วโลก
หากแบรนด์ Walkers Crisps ต้องการโปรโมตแบรนด์ของตัวเอง พวกเขาประสบความสำเร็จแล้ว ที่สำคัญไปมากกว่านั้น คือการก้าวสู่จุดสูงสุดร่วมกับสโมสรฟุตบอลที่เป็นเพื่อนคู่ใจ
เพื่อเลสเตอร์ ซิตี้
ความสำเร็จของเลสเตอร์บวกกับความโด่งดังของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ทำให้ Walkers หลีกทางการเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกให้กับ LG แบรนด์จากเกาหลีใต้ ในปี 2001 ที่พร้อมทุ่มเงินสนับสนุนมากกว่า
แม้จะไม่ได้เป็นสปอนเซอร์หลักให้กับทีมอีกต่อไป แต่แบรนด์ Walkers Crisps ยังคงเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีกับสโมสรเลสเตอร์อยู่เสมอ และไม่พลาดที่จะยืนอยู่เคียงข้างกันในโอกาสสำคัญๆ โดยเฉพาะการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของเลสเตอร์ในฤดูกาล 2015-16
Walkers Crisps ได้ออกวางจำหน่ายรสชาติพิเศษ เนื่องในโอกาสที่ทัพจิ้งจอกสีน้ำเงินคว้าแชมป์ลีก ในชื่อรสเกลือและชัยชนะ (Salt & Victory) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อมาจากรสเกลือและน้ำส้มสายชู (Salt & Vinegar)
หรือเมื่อครั้งที่ เจมี วาร์ดี กองหน้าตัวเก่งของทีมสามารถยิงประตูได้ 11 นัดติดต่อกัน ทำลายสถิติของพรีเมียร์ลีกในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาลประวัติศาสตร์ ทาง Walkers Crisps ได้ทำสินค้ารสชาติพิเศษ ในชื่อ Vardy Salted (แผลงมาจาก Ready Salted) อีกด้วย
ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายครั้งที่สโมสรเลสเตอร์ร่วมมือกับ Walkers Crisps ทำสินค้าแบบลิมิเต็ดอิดิชั่น ที่จะไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป และมีแจกให้เฉพาะแฟนเลสเตอร์ที่เข้ามาชมเกมในสนามเท่านั้น
ตลอดเวลามากกว่า 30 ปี ความสัมพันธ์ระหว่าง Walkers Crisps และ เลสเตอร์ ซิตี้ เป็นเหมือนเพื่อนคู่กายที่ยืนเคียงข้างกันเสมอ หากจะหาเหตุผลว่าทำไม คำตอบไม่ได้หายากจนเกินไป
เพราะทั้ง Walkers Crisps และสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ มีต้นกำเนิดเดียวกัน คือเมืองเลสเตอร์ ในฐานะคนบ้านเดียวกัน แค่มองตากัน ทั้งสององค์กรก็รู้ถึงจุดมุ่งหมายที่พวกเขามีร่วมกัน และพยายามทำมาโดยตลอด
นั่นคือการสร้างความภูมิใจให้กับเมืองเลสเตอร์ และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ