2005 United States Grand Prix : เมื่อแฟนนับแสนลุกฮือขอเงินค่าตั๋วคืน เพราะมีรถแข่ง "แค่ 6 คัน"

2005 United States Grand Prix : เมื่อแฟนนับแสนลุกฮือขอเงินค่าตั๋วคืน เพราะมีรถแข่ง "แค่ 6 คัน"

2005 United States Grand Prix : เมื่อแฟนนับแสนลุกฮือขอเงินค่าตั๋วคืน เพราะมีรถแข่ง "แค่ 6 คัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งที่แฟนกีฬาอย่างเรา ๆ คาดหวังในการซื้อตั๋วเข้าไปชมการแข่งขันสักรายการคืออะไร?

สตาร์ดังของวงการที่มารวมตัวอยู่ด้วยกัน และการแข่งขันอันสนุกตื่นเต้น คงเป็นหนึ่งในคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2005 แฟนกีฬาความเร็วนับแสนต่างเป็นงง เพราะสิ่งที่พวกเขาพบในการแข่งขันรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ... Formula 1 รายการ United States Grand Prix คือมีรถแข่งเข้าร่วมชิงชัยในสนาม "แค่ 6 คัน" ทั้ง ๆ ที่ฤดูกาลดังกล่าวมีรถแข่งที่ส่งชื่อไว้ 20 คัน จนวิ่งไปขอเงินค่าตั๋วคืนแทบจะไม่ทัน

อีก 14 คันหายไปไหน ? มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ? Main Stand ขอพาไปดูเบื้องหลังหนึ่งในการแข่งขันที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ F1

ยางนั้นสำคัญไฉน

เมื่อพูดถึงยานพาหนะ ไม่ว่ารถยนต์, จักรยานยนต์ หรือจักรยาน หนึ่งในชิ้นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดคงหนีไม่พ้น "ยาง" เพราะนี่คือชิ้นส่วนเดียวของรถที่สัมผัสกับพื้นถนนโดยตรง ยิ่งเป็นรถแข่งความเร็วสูงด้วยแล้ว ยางที่ใช้ต้องมีการยึดเกาะสูง บวกกับมีความทนทานมากเป็นพิเศษ


Photo : www.crash.net

สำหรับการแข่งรถยุคปัจจุบัน ทั้ง F1 หรือมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลก MotoGP สิ่งที่แฟนกีฬาคุ้นเคย คือการที่รถทุกคันใช้ยางจากผู้สนับสนุนของการแข่งขันเจ้าเดียว โดยในปี 2021 F1 ใช้ยาง Pirelli แบรนด์ดังจากประเทศอิตาลี ขณะที่ MotoGP ใช้ยาง Michelin แบรนด์จากประเทศฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม กฎของการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ย้อนกลับไปในต้นยุค 2000s F1 ได้อนุญาตให้บริษัทยางสามารถเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนได้มากกว่า 1 เจ้า และนั่นคือที่มาของ "สงครามยาง" โดยช่วงเวลาดังกล่าว มี 2 แบรนด์ยางที่ร่วมวงไพบูลย์ คือ Michelin และ Bridgestone จากญี่ปุ่น 

แน่นอน เมื่อมีการแข่งขัน รายละเอียด สเปคต่าง ๆ ของยางที่แต่ละค่ายผลิตออกมาย่อมไม่มีวันเหมือนกัน และเพื่อการชิงชัยสู่ความเป็นหนึ่งของสองแบรนด์ ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้น ...

เค้าลางความวุ่นวาย

F1 ฤดูกาล 2005 แม้สงครามยางจะยังคงมีอยู่ โดย Michelin ให้การสนับสนุนทีมแข่งถึง 7 ทีม (Renault, Toyota, McLaren-Mercedes, Williams-BMW, BAR-Honda, Red Bull-Cosworth, Sauber-Petronas) ขณะที่ Bridgestone เป็นสปอนเซอร์ยางให้กับอีก 3 ทีมที่เหลือ (Ferrari, Jordan-Toyota, Minardi-Cosworth) แต่ในซีซั่นดังกล่าว มีการเปลี่ยนกฎเรื่องยางที่สำคัญมาก ๆ ประการหนึ่ง


Photo : twitter.com/msi_images

 

กฎที่ว่านั้นคือ ในรอบควอลิฟายจัดอันดับสตาร์ต ตลอดจนในการแข่งขันจริง รถแต่ละคันจะใช้ยางในแต่ละรอบได้เพียง 1 ชุด 4 เส้นเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนยางโดยเด็ดขาด

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนกฎ นัยยะที่ทางสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA และฝ่ายจัดการแข่งขัน F1 ต้องการสื่อคือ เพื่อทำให้การแข่งขันมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งการห้ามเปลี่ยนยางในปี 2005 ก็เช่นกัน เพราะสิ่งที่ฝ่ายจัดฯ คาดหวัง คือต้องการให้แต่ละทีมเลือกยางที่มีเนื้อแข็งขึ้น ทนทานพอที่จะลากยาวรวดเดียวจนจบ แต่ในขณะเดียวกัน ยางเนื้อแข็งก็จะมีการยึดเกาะที่น้อยลง ทำให้ต้องใช้ความเร็วที่ลดลงกว่าเดิมเวลาเข้าโค้งด้วยเช่นกัน

ถึงกระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งจริง อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากเห็น...

ยูโรเปี้ยน กรังด์ปรีซ์ สนามที่ 7 ของ F1 ฤดูกาล 2005 ที่ เนอร์เบิร์กริง ประเทศเยอรมัน สัญญาณเตือนว่ากฎที่วางไว้ชักจะไม่เวิร์กได้เกิดขึ้น เมื่อช่วงล่างหน้าขวารถ McLaren ของ คิมี่ ไรค์โคเน่น เกิดพัง ทำให้ต้องออกจากการแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่เหลืออีกรอบเดียวเขาก็จะชนะแล้ว


Photo : maxf1.net

เมื่อนำรถของคิมี่ไปตรวจสอบก็พบสาเหตุว่า จุดเริ่มต้นมาจากยางหน้าขวาที่เกิด Flat Spot จากการเบรกหนัก ๆ จนหน้ายางเสียรูป ซึ่งสิ่งที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงคือ หน้ายางที่เสียรูปนั้น ส่งผลต่อช่วงล่างจนเสียหายอย่างหนัก

ฝ่ายจัดการแข่งขันได้มีการแก้ไขกฎเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยหากยางของรถคันไหนเกิดความเสียหายที่อาจส่งผลกับความปลอดภัย ทีมสามารถเรียกเข้ามาเปลี่ยนยางเส้นที่มีปัญหาได้

แต่อีก 2 สนามต่อมา ปัญหาเรื่องยางก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ...

เหตุที่โค้ง 13

F1 ฤดูกาล 2005 ดำเนินมาถึงสนามที่ 9 ยูไนเต็ด สเตทส์ กรังด์ปรีซ์ ณ อินเดียนาโปลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สังเวียนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมศตวรรษ และโด่งดังจากการแข่งขัน Indy 500 หนึ่งใน 3 การแข่งขันกีฬาความเร็ว 4 ล้อระดับ "Triple Crown" (อีก 2 รายการคือ F1 โมนาโก กรังด์ปรีซ์ และ เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง)

 

และที่นี่เอง ที่ความวุ่นวายได้เกิดซ้ำรอย...

เหตุการณ์เริ่มขึ้นตั้งแต่การฝึกซ้อมรอบที่ 2 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 2005 เมื่อรถ Toyota ของ ราล์ฟ ชูมัคเกอร์ เสียหลัก พุ่งชนโค้ง 13 อันเป็นโค้งสุดท้าย ก่อนเข้าทางตรงหน้าเส้นสตาร์ท-เส้นชัย อย่างรุนแรงด้วยความเร็ว 282 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจากการที่โค้งดังกล่าว คือส่วนหนึ่งของสนามแข่ง IndyCar นั่นหมายความว่า โค้งนี้ไม่มีเซฟโซน พลาดเมื่อไร พุ่งใส่กำแพงเต็ม ๆ


Photo : us.motorsport.com

แม้ตัวนักแข่งจะไม่ได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ทำให้ทีมแพทย์ของฝ่ายจัดการแข่งขัน ไม่อนุญาตให้เขาลงสนามต่อ ทีม Toyota ต้องเรียก ริคาร์โด้ ซอนต้า นักขับสำรองมาทำหน้าที่แทน

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นไม่นานคือ ซอนต้าก็ประสบอุบัติเหตุที่โค้งเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ทีมอื่น ๆ ที่ใช้ยางของ Michelin ยังบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาเจอปัญหาที่โค้ง 13 เพียงแต่โชคดีที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ

 

Michelin รีบเปิดการสืบสวนวิเคราะห์หาสาเหตุทันที แต่ด้วยข้อมูลที่ยังมีน้อย พวกเขาจึงยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด สิ่งเดียวที่พวกเขาพอจะการันตีได้คือ หากต้องเข้าโค้ง 13 ด้วยความเร็วสูง ค่ายยางจากประเทศฝรั่งเศสเจ้านี้ รับรองความปลอดภัยของยางได้แค่ 10 รอบสนาม

ด้วยการที่เลย์เอาท์ของ อินเดียนาโปลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ ที่ใช้ในการแข่ง F1 ตอนนั้นมีความยาว 4.192 กิโลเมตรต่อรอบ นั่นหมายความว่า Michelin การันตีว่ายางของพวกเขาจะใช้งานได้อย่างปลอดภัยเพียงราว 42 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่การแข่งจริงถูกกำหนดไว้ที่ 73 รอบ รวมระยะทาง 306.016 กิโลเมตร

แนวทางมากมาย สุดท้ายคือ 0

แม้ยังมืดแปดด้าน Michelin ก็รู้ดีว่าพวกเขากำลังเจอกับปัญหาใหญ่ แต่ถึงจะมีการเสนอแนวทางแก้ไขหลายข้อ แต่ทุกข้อ กลับไม่เป็นที่ตอบรับของทุกฝ่ายอย่างพร้อมเพรียง


Photo : autosport.com

FIA ได้เสนอแนวทางกับทาง Michelin และทีมแข่ง โดยเสนอให้รถแข่งทุกคันที่ใช้ยางของ Michelin ลดความเร็วลงระหว่างเข้าโค้ง 13 ซึ่งอีกฝ่ายค้านว่า การทำแบบนั้น อาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับการใช้ยางสเปคอื่น เนื่องจากยางอีกสเปคของ Michelin ที่ถูกส่งมาอย่างเร่งด่วนจากประเทศฝรั่งเศส และเคยใช้ในการแข่งขันรายการ สแปนิช กรังด์ปรีซ์ ที่ประเทศสเปนเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ก็เจอปัญหาลักษณะเดียวกัน รวมถึงการอนุญาตให้เปลี่ยนยางระหว่างการแข่งขัน เพราะ Michelin ไม่มียางเพียงพอที่จะให้ทุกทีมใช้ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้

ขณะเดียวกัน Michelin และทีมแข่ง เสนอให้มีการติดตั้งชิเคน หรือจุดดักความเร็วที่โค้ง 13 เพื่อบังคับให้รถทุกคันต้องลดความเร็วลง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบรับจาก FIA เช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่เคยมีการทดสอบสนามในเลย์เอาท์ดังกล่าว หากมีการเปลี่ยนแปลง FIA จะไม่รับรองการแข่งขันทันที 

ไม่เพียงเท่านั้น การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นยังเจออุปสรรคสำคัญอีกประการ เพราะมีอยู่ 1 ทีมที่หายไปจากการเจรจา นั่นคือ Ferrari ทีมที่เก่าแก่ที่สุดในการแข่งขัน ซึ่ง ฌอง ทอดท์ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการ F1 และประธาน FIA คนปัจจุบัน เป็นผู้จัดการทีมในตอนนั้น

เพียงเท่านั้นก็พอจะเดาได้ว่า ทีมม้าลำพองต้องการให้ทุกอย่างเป็นแบบเดิม ซึ่งเป็นแนวทางที่ Ferrari ทีมใหญ่ทีมเดียวที่ใช้ยาง Bridgestone ได้ประโยชน์ที่สุด

จาก 20 เหลือ 6

ถึงจะพูดคุยเสนอแนะไปมากมายสักเพียงใด แต่สุดท้ายก็มีค่าเท่าเดิม ทุกทีมจึงต้องยอมรับในคำตัดสินของ FIA ที่ต้องการให้การแข่งขันดำเนินไปตามปกติ ทว่าพวกเขาก็พร้อมแสดงออกว่า ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่เต็มไปด้วยเกมการเมืองแบบนี้

ทุกอย่างมาแสดงออกเอาในวันแข่งขันจริง 19 มิถุนายน 2005 ... รถแข่งทั้ง 20 คัน ลงสนามเข้าประจำกริด เพื่อวิ่งในรอบวอร์มอัพ 1 รอบ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ในขณะที่กำลังจะกลับมาประจำกริดอีกครั้งเพื่อเข้าสู่การแข่งขันจริง สิ่งที่แฟนกีฬาความเร็วไม่คิดว่าจะเห็นก็ได้บังเกิด


Photo : www.autobild.es

รถแข่งของทีม Renault, Toyota, McLaren, Williams, BAR, Red Bull, Sauber ซึ่งเป็นทีมที่ใช้ยาง Michelin เลือกที่จะไม่วิ่งผ่านโค้ง 13 เพื่อเข้ากริดสตาร์ท แต่กลับเลี้ยวขวาเข้าพิท แล้วเก็บรถ ไม่ร่วมการแข่งขัน 

นั่นทำให้รถที่เข้าร่วมการแข่งขัน เหลือเพียง 6 คันเท่านั้น ประกอบด้วย ไมเคิล ชูมัคเกอร์ กับ รูเบนส์ บาร์ริเคลโล่ ของทีม Ferrari, ติอาโก มอนเทียโร่ กับ นเรนทร์ การ์ติเกยาน ของทีม Jordan และ แพทริก ฟรีซาเชอร์ กับ คริสเตียน อัลแบร์ส ของทีม Minardi 

แค่ชื่อชั้นของทีม Ferrari ที่ดูดีกว่าอีก 2 ทีมอย่างชัดเจน ก็คงเดาได้แล้วว่าการแข่งขันจะออกมาในรูปแบบไหน ... "กร่อยสนิท" ทั้ง 73 รอบ มีการแซงเปลี่ยนอันดับแบบนับครั้งได้ ก่อนที่รถทั้ง 6 คันจะเข้าเส้นชัย ไม่มีใครออกจากการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนว่า ชาวอเมริกันที่มีอารมณ์ร่วมกับกีฬาสูง พวกเขาไม่ทนแน่นอน


Photo : www.autosport.com

เพราะเพียงแค่การแข่งขันผ่านไปเพียง 10 รอบ ผู้ชมนับแสนคนที่อยู่บนอัฒจันทร์ ก็เริ่มทยอยลุกจากที่นั่ง โดยมีรายงานว่า หลายพันคนรีบตรงไปที่ห้องจำหน่ายตั๋วด้วยเจตจำนงเดียวกัน คือให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน "คืนเงินมา" จนเกิดเหตุวุ่นวายและตำรวจต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ส่วนคนที่เลือกดูการแข่งขันต่อ พวกเขาก็โห่แข่งกับเสียงของรถ มีการขว้างปาสิ่งของ ทั้งกระป๋องเบียร์และขวดน้ำเข้าไปในพื้นแทร็กตลอดการแข่งขัน

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พิธีมอบรางวัลหลังจบการแข่งขันจึงเป็นไปอย่างเงียบงัน ไมเคิล ชูมัคเกอร์ ที่ชนะการแข่งขันสนามนี้ และ รูเบนส์ บาร์ริเคลโล่ ที่คว้าอันดับ 2 รีบลงจากโพเดียมทันทีหลังรับถ้วยเสร็จ เหลือเพียง ติอาโก มอนเทียโร่ คนเดียวเท่านั้น ที่ขอฉลองกับการคว้าอันดับ 3 เพราะนี่คือการขึ้นโพเดียมครั้งแรก (และครั้งเดียว) ในชีวิตนักแข่ง F1 ของเขา

สาเหตุคืออะไร ?

แม้การแข่งจะจบลง แต่การสืบสวนเพื่อค้นหาสาเหตุไม่จบตาม ที่สุดแล้ว พวกเขาก็เจอต้นตอจนได้ ซึ่งต้องกลับมาว่ากันที่เรื่องของสนามอีกครั้ง

โค้ง 13 ของ อินเดียนาโปลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ เลย์เอาท์ที่ใช้แข่ง F1 ในตอนนั้น เป็นโค้งความเร็วสูง เอียงขึ้นมา 9.2 องศา นี่คือโค้งที่นักแข่งสามารถใส่ได้แบบเต็ม ๆ โดยที่ไม่ต้องลดความเร็วมาก และด้วยการที่โค้งนี้คือโค้งสุดท้ายก่อนเข้าทางตรงหน้าเส้นสตาร์ตและเส้นชัย "เหยียบมิด" คงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ตรงที่สุด


Photo : autosport.com

โค้งความเร็วสูง คือสิ่งที่แฟนกีฬาความเร็วและนักแข่งชอบ แต่ในขณะเดียวกัน แรงกดทั้งจากน้ำหนักรถและความเร็วที่ใช้ ก็ส่งผลต่อยางมาก ยิ่งเป็นโค้งที่มีองศาแล้ว น้ำหนักจะถูกถ่ายเทออกจากจุดศูนย์กลางของรถ ทำให้ไหล่ยางต้องรับแรงมากกว่าปกติ ซึ่งดูเหมือนยาง Michelin จะรับไม่ไหว ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนการแข่งขันในปี 2005 ทางสนามได้มีการปรับปรุงพื้นแทร็คใหม่ให้เรียบขึ้น แต่ก็ส่งผลให้กินยางมากกว่าเดิมเช่นกัน

ถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเกิดคำถามว่า ในขณะที่ Michelin มีปัญหา แล้วเหตุใด Bridgestone ถึงไม่มีปัญหากับเขาบ้าง? 

ประเด็นนี้คือสิ่งที่ทำให้สงครามยางมีความหมายมากกว่าที่เคย เพราะสนามแห่งนี้ ไม่ได้ถูกใช้เป็นสนามทดสอบของ F1 ดังนั้นข้อมูลในการพัฒนายาง จึงมาจากการแข่งในปีก่อนหน้า และการเข้าซิมูเลเตอร์ทดสอบ

ปรากฏว่า Bridgestone มีแต้มต่อที่สำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะกับสนามแห่งนี้ นั่นคือในการแข่งขัน IndyCar ซึ่งใช้สนามแข่งเดียวกัน (แต่เป็นเลย์เอาท์สนามวงรี) รถทุกคันในรายการนี้ถูกบังคับให้ใช้ยางได้เพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น นั่นคือ Firestone ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ Bridgestone

ปัจจัยที่กล่าวมา ส่งผลให้ Bridgestone กุมความได้เปรียบด้วยข้อมูลที่มากกว่า ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนายางที่เหมาะกับสนามนี้ได้ ในขณะที่ Michelin ไม่สามารถทำได้ด้วยข้อมูลในมือที่น้อยกว่านั่นเอง

เรื่องราวหลังจากนั้น

แม้ต้นตอของปัญหาจะมาจากปัญหาของยาง แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า FIA กลับตั้งข้อหาให้กับ 7 ทีมแข่งที่ถอนตัวจากการแข่งขันเสียอย่างนั้น ประกอบด้วย

- ไม่สามารถจัดหายางที่เหมาะสมให้กับรถแข่ง
- ปฏิเสธให้รถแข่งเข้าร่วมทำการแข่งขัน
- ปฏิเสธให้รถแข่งทำการแข่งขันภายใต้การจำกัดความเร็วซึ่งปลอดภัยสำหรับยางที่อนุญาตให้ใช้
- ร่วมมือกับทีมอื่นในการสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของการแข่งขัน
- ไม่แจ้งฝ่ายจัดการแข่งขันถึงความตั้งใจที่จะไม่ร่วมการแข่งขัน

ในตอนแรก ทาง FIA ตัดสินว่า ทั้ง 7 ทีมมีความผิดในข้อหา ไม่สามารถจัดหายางที่เหมาะสมให้กับรถแข่ง และ ปฏิเสธให้รถแข่งร่วมทำการแข่งขัน แต่เวลาต่อมา ทาง FIA ได้กลับคำตัดสินให้ทุกทีมไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา หลังทีมแข่งอ้างถึงกฎหมายของรัฐอินเดียนา สถานที่จัดการแข่งขันว่า การให้รถแข่งลงทำการแข่งขัน อาจทำให้ต้องขึ้นศาล ด้วยข้อหาเจตนาทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสี่ยง แม้จะไม่เกิดอุบัติเหตุใด ๆ ก็ตาม

ขณะเดียวกัน ทาง Michelin ที่แม้จะไม่ถูก FIA ตั้งข้อหาใด ๆ เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่ทีมที่ลงทำการแข่งขัน ก็แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการคืนเงินค่าตั๋วทั้งหมดให้กับผู้ชมที่ซื้อตั๋วเข้าไปชมในวันนั้น พร้อมกับซื้อตั๋วจำนวน 20,000 ใบ ของการแข่งขัน ยูเอส กรังด์ปรีซ์ ปี 2006 เพื่อแจกให้กับผู้ชมที่เข้าชมการแข่งแห่งปัญหาครั้งนี้ด้วย

ปัญหาเรื่องคดีความ และการชดเชยความเสียหายกับแฟน ๆ จบไป คำถามคือ การที่ Ferrari ตีมึน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของพวกเขา ทำให้สมหวังกับการคว้าแชมป์โลกหรือไม่ ?


Photo : maxf1.net

ปรากฏว่า บทสรุปของฤดูกาล 2005 ไม่เป็นไปอย่างที่ทีมม้าลำพองหวัง ... ยูเอส กรังด์ปรีซ์ คือสนามเดียวที่ Ferrari และยาง Bridgestone สามารถคว้าชัยชนะได้ พวกเขาเสียทั้งแชมป์โลกประเภทนักขับ และแชมป์โลกประเภททีมให้กับ เฟร์นานโด อลอนโซ่ รวมถึงทีม Renault ตามลำดับ

อินเดียนาโปลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ ถูกถอดออกจากปฏิทินการแข่งขัน F1 หลังจบฤดูกาล 2007 จากผลประโยชน์ที่ตกลงกันไม่ลงตัว ขณะที่กฎเรื่องยางได้รับการเปลี่ยนแปลง ให้สามารถเปลี่ยนยางระหว่างการแข่งขันได้อีกครั้งในฤดูกาล 2006 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ Michelin ให้การสนับสนุนทีมแข่ง

และตั้งแต่ปี 2007 สงครามยางก็ได้จบลง เมื่อมีผู้สนับสนุนยางแค่รายเดียวในการแข่งขัน F1 จนถึงทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook