ดีลจังหวะนรก : ทำไม เกป้า ถึงกลายเป็นผู้รักษาประตูที่แพงที่สุดในโลกได้ ?
เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า ครองสถิติผู้เล่นตำแหน่งผู้รักษาประตูที่แพงที่สุดในโลกมาแล้ว 4 ปี ซึ่งถ้ามองจากตอนนี้ที่เขาเป็นมือ 2 ของ เชลซี หลายคนคงรู้สึกว่านี่เป็นราคาที่แพงเกินไป
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ที่หลายสิ่งหลายอย่างบรรจบกันพอดีเป๊ะ ทำให้ที่สุดแล้วผู้รักษาประตูอย่างเกป้าต้องรับตำแหน่งอันสุดกดดันนี้
เกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนนั้น ทำไมผู้รักษาประตูอายุแค่ 22 ปีที่หลายคนที่ไม่ได้ดูฟุตบอลสเปนแทบไม่เคยได้ยินชื่อ จึงมีราคาแพงที่สุดในโลก ... ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand
เพราะความรีบ
เรื่องตำแหน่งผู้รักษาประตูค่าตัวแพงที่สุดในโลกสำหรับ เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า จะไม่เกิดขึ้นเลยหากในปี 2018 เชลซีไม่เสียนายทวารมือ 1 ที่วางตัวจะให้เป็นตัวหลักของสโมสรในระยะยาวอย่าง ธิโบต์ กูร์กตัวส์ ให้กับ เรอัล มาดริด ด้วยค่าตัว 35 ล้านปอนด์
เรื่องทั้งหมดเริ่มที่ตรงนี้ กูร์กตัวส์ในตอนนั้นเข้าขั้นเหนียวหนึบ ถ้าให้เรียงอันดับก็คงไม่เกินท็อป 5 ของโลก เขาติดทีมชาติเบลเยียมชุดใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย มีประสบการณ์ระดับสูงมากกว่า 250 เกมให้กับ เชลซี และ แอตเลติโก มาดริด คว้าโทรฟี่ทั้งฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วยในสเปนกับอังกฤษรวมทั้งหมด 9 รายการในเวลา 7 ปี ... ทั้งหมดนี้ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ในทันทีว่า 35 ล้านปอนด์ที่ มาดริด เสียไปให้ เชลซี เป็นอะไรที่ไม่มีทางขาดทุนแน่นอน
35 ล้านปอนด์ ราคาสุดคุ้มนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุผล 3 ประการ อย่างแรกคือครอบครัวของกูร์กตัวส์ทั้งลูก ๆ 2 คนและภรรยาของเขาอยู่ที่สเปน ซึ่งมาจากช่วงที่เขาถูกยืมตัวไปเล่นที่ แอตฯ มาดริด กว่า 3 ปี ประการที่ 2 คือกูร์กตัวส์เหลือสัญญากับเชลซีอีกแค่ 12 เดือน และข้อที่สุดท้ายคือเขาอยากจะย้ายไป เรอัล มาดริด จริง ๆ ต่อให้ต้องรอ 1 ปีเขาก็แจ้งกับทีมแล้วว่าจะไม่ต่อสัญญาและจะย้ายไปอยู่กับ มาดริด แบบฟรี ๆ ... ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เชลซีขายเขาในแบบที่ไม่ค่อยเต็มใจนัก
นี่คือการเสียโกลมือ 1 ไปแบบไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่เชลซีต้องคิดต่อในทันทีหลังนักเตะมีทีท่าจะไปคือ "แล้วใครจะเป็นมือ 1 คนต่อไป ?" แถมพวกเขายังมีเวลาคิดไม่กี่วันเท่านั้น เนื่องจากในวันที่กูร์กตัวส์ตัดสินใจชัดแน่ว่าจะไม่อยู่กับทีมต่อเป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคมแล้ว ซึ่งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกำลังจะเปิดฉากในอีกราว ๆ 1 สัปดาห์ที่จะถึงนี้
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเชลซีถึงต้องเร่งมือสุด ๆ เพื่อปิดดีลนายทวารคนใหม่ให้ได้ และพวกเขาล็อกเป้าไว้ที่ เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า ผู้รักษาประตูดาวรุ่งจาก แอธเลติก บิลเบา ... เรียกง่าย ๆ ว่านี่คือ "แพนิกบาย" (Panic Buy) หรือ การซื้อตัวนักเตะโดยที่โดนบีบคั้นด้วยกรอบของระยะเวลาก็คงไม่ผิดนัก
คว้าให้ได้ แพนิกบายก็ยอม
ถ้าคุณได้เปิดคลิปของ เกป้า สมัยที่อยู่กับบิลเบา คุณจะได้เห็นภาพของผู้รักษาประตูที่เซฟกระจุยกระจาย โดยเฉพาะจังหวะจ่อ ๆ นั้นถือเป็นของถนัดของเขาที่มีให้เห็นบ่อยมาก ๆ ตลอดจนการเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่จะมีอายุการใช้งานยาว ๆ และยังเป็นคนที่เล่นบอลกับเท้าได้ดีตามแบบฉบับผู้รักษาประตูในยุคโมเดิร์นฟุตบอล
"ผู้รักษาประตูที่ดีสามารถช่วยทีมคว้าแชมป์ได้หากเขาสร้างความมั่นคงแน่นอนให้กับทีม มันเป็นงานที่สำคัญ มันเป็นตำแหน่งที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้รักษาประตูที่ไม่แน่นอนสามารถทำลายฤดูกาลของทั้งทีมได้เช่นกัน สำหรับ เกป้า ฤดูกาลที่แล้วเขาทำได้ดีมาก แม้ว่าแอธเลติกจะมีผลงานไม่เข้าเป้าเพราะทีมไม่ได้ไปฟุตบอลยุโรป แต่ผลงานส่วนตัวของเขายอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่จะทำได้" อันโดนี กอยโคเชีย อดีตกองหลังของบิลเบา พูดถึงเกป้าตอนที่เขามีข่าวกับเชลซี
นอกจากจะเป็นแพนิกบายแล้ว ดีลของเกป้ายังมีจังหวะที่ไม่ค่อยจะดีนัก เพราะในช่วงก่อนที่เชลซีจะยื่นซื้อเกป้าได้ไม่ถึง 1 เดือน ลิเวอร์พูล เพิ่งปิดดีล อลีสซง เบ็คเกอร์ ผู้รักษาประตูของโรม่ามาในราคา 66.8 ล้านปอนด์ (72.5 ล้านยูโร) นั่นทำให้สถิติผู้รักษาประตูที่แพงที่สุดในโลกของ จานลุยจิ บุฟฟ่อน ที่คงอยู่มาเกือบ 20 ปีตั้งแต่ปี 2001 ต้องถูกทำลายลง
มันเป็นสัญญาณที่บอกไปยังบิลเบาว่าถ้าประตูทีมชาติบราซิลยังมีราคาเป็นสถิติโลกได้ แล้วทำไมประตูทีมชาติสเปนอย่างเกป้าที่เหลืออายุการใช้งานมากกว่า (เกป้าอายุน้อยกว่าอลีสซง 2 ปี) จะมีราคาในระดับนั้นบ้างไม่ได้ ?
ในตอนนั้นบิลเบาเตะถ่วงเชลซีทันที พวกเขายืนกระต่ายขาเดียวว่าอย่างไรเสียก็จะไม่ปล่อยเกป้าออกจากทีมแน่นอน เพราะนักเตะเพิ่งต่อสัญญาไปเมื่อเดือนมกราคม 2018 ทำให้ยังเหลือสัญญาอยู่อีกเยอะ รวมถึงเขาเป็นเด็กปั้นของสโมสรด้วย แต่ในความจริงทุกคนนั้นรู้ดีว่าบิลเบาคือทีมฟุตบอลที่อยู่ได้ด้วยการขายนักเตะที่พวกเขาปั้นมา และเกป้าก็ไม่ใช่คนแรก ฆาบี มาร์ติเนซ, อันเดร์ เอร์เรร่า, อายเมอริก ลาปอร์ต, เฟร์นานโด ญอเรนเต้ นักเตะลูกหม้อขวัญใจแฟนบิลเบาก็เคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้วทั้งนั้น
ผู้รักษาประตูในตลาดครั้งนั้นเหลือไม่มากแล้วที่เป็นตัวท็อปและมีโอกาสจะย้ายทีม ยาน โอบลัก ของแอตฯ มาดริด มีค่าฉีกสัญญามากกว่า 100 ล้านปอนด์, เคย์ลอร์ นาวาส ของเรอัล มาดริด ยืนยันจะขอแย่งตัวจริงที่สเปนต่อ, จานลุยจิ ดอนนารุมม่า แม้จะอายุแค่ 18 ปีแต่ก็เพิ่งต่อสัญญาฟันเงินก้อนโตจากมิลานไปไม่นานนัก ... ดังนั้นเกป้าจึงเป็นตัวเลือกที่น่าวัดดวงที่สุด
บิลเบายังคงยืนกรานไม่ขาย นั่นเป็นการบีบให้เชลซีต้องยกระดับข้อเสนอไปอีกขั้น กับการยื่นเงินที่บิลเบาไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือการยื่นตามค่าฉีกสัญญาของเกป้าที่มีราคาอยู่ที่ 71.6 ล้านปอนด์ (80 ล้านยูโร) ซึ่งสุดท้ายและท้ายสุดด้วยเวลาที่มีไม่มากนัก เชลซีซึ่งได้เงินจากการขายกูร์กตัวส์มา 35 ล้านปอนด์ก็ตัดสินใจบวกเงินเพิ่มอีกครึ่งและเดิมพันกับเกป้าตามที่พวกเราได้เห็นกัน
ตลาดปั่นป่วน
สัจธรรมอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตบนโลกที่หมุนด้วยเงิน นั่นคือไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนเดิมไปตลอดกาล ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ราคาก๋วยเตี๋ยวเมื่อหลายสิบปีก่อนกับทุกวันนี้ยังไม่เท่ากันทั้งที่ต้นทุนแปรผันเล็กน้อย นับประสาอะไรกับธุรกิจที่มีความผันผวนมาก และต้นทุนไม่เคยคงที่อย่าง "ฟุตบอล" กีฬาขวัญใจมหาชนอันดับ 1
ตลาดนักเตะช่วงนั้นเป็นอะไรที่บ้าคลั่งมาก มีการทุบสถิติกันเป็นว่าเล่น นักเตะกองหลังมีราคาขึ้นมามากกว่า 80 ล้านปอนด์ ในกรณีของ เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค และ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ นักเตะตัวรุกมีราคาทะลุหลัก 100 ล้านปอนด์แบบสบาย ๆ ในเคสของ เนย์มาร์ และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้
ยิ่งกับสโมสรจากพรีเมียร์ลีกที่มีรายรับมหาศาล การจ่ายเงินซื้อนักเตะก็เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน มีการเปิดเผยตัวเลขว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกกฤษ มีการจ่ายเงินซื้อนักเตะในตลาดนักฟุตบอลเกิน 1 พันล้านปอนด์มาตั้งแต่ปี 2006-07 จนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่มีมนุษย์ที่มีราคาเกิน 100 ล้านยูโรคนแรกอย่าง แกเรธ เบล เมื่อปี 2013 ในช่วงเวลา 6 ปีต่อมาก็มีนักฟุตบอลอีก 9 รายที่ค่าตัวของพวกเขาทะลุหลัก 100 ล้านยูโร หนึ่งในจำนวนนี้ถูกซื้อในราคา 220 ล้านยูโร
เมื่อเดิมพันสูงขึ้น เงินทุนสูงขึ้น นักเตะแต่ละคนจึงมีราคาที่ขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากยุคเก่า ๆ ที่มีแต่นักเตะตำแหน่งตัวรุกเท่านั้นที่จะมีราคาแพงระดับทุบสถิติ เปลี่ยนเป็นทุกตำแหน่งล้วนมีมูลค่าในทางการตลาดไม่ต่างกันนัก ยิ่งในยุคที่เกมรับคือหัวใจของการชี้ขาดผลการแข่งขัน เหล่ากองหลังหรือแม้แต่ผู้รักษาประตูก็เริ่มทำลายสถิติค่าตัวกันเป็นว่าเล่น
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่เชลซีสามารถพิจารณาได้ว่าค่าตัวของเกป้าในเวลานั้นไม่ได้แพงเกินไปแบบเวอร์วัง เพราะมันกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกฟุตบอลไปเสียแล้ว
ทว่าเมื่อลงสนามจริงที่สุดแล้วฝีมือจะเป็นตัวบอกราคาเท่านั้น ไม่ว่าจะซื้อมาเท่าไหร่ คุ้มหรือไม่คุ้ม ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับผลงานอย่างแท้จริง
อลีสซง กับ เกป้า ย้ายมาในตลาดเดียวกันด้วยราคาที่ทำลายสถิติโลก 2 ครั้งติดต่อกัน ทว่าด้วยฟอร์มของเกป้าที่มีปัญหาเรื่องทัศนคติในยุค เมาริซิโอ ซาร์รี่ กับตำนาน "โค้ชเกป้า" ที่ปฏิเสธการถูกเปลี่ยนตัวออกในเกมลีกคัพ รอบชิงชนะเลิศ ฤดูกาล 2018-19 ก่อนที่ทีมสิงห์บลูส์จะแพ้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในการดวลจุดโทษ และการทำพลาดง่าย ๆ ในยุคของ แฟรงค์ แลมพาร์ด
ที่สุดแล้วเชลซีต้องไปซื้อ เอดูอาร์ เมนดี้ มาอีกคนด้วยราคาที่ถูกกว่ากันเกินครึ่ง ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานเมนดี้จะยึดมือ 1 มาได้อย่างถาวร ขณะที่เกป้าต้องหาทางย้ายออกจากทีมเพื่อหวังไปฟุตบอลโลก 2022 ด้วยผลงานแบบนี้ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่าราคาของเกป้าแพงเกินจริงไปมาก
แตกต่างกันกับ อลีสซง ที่ย้ายมาและพิสูจน์ตัวเองได้ทันที ... และเป็นกุญแจสำคัญของลิเวอร์พูลจนคว้าแชมป์ยุโรปและแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ และด้วยผลงานแบบนี้เราก็ตอบได้ตรงกันว่าราคาของอลีสซงนั้นถูกมากหากเทียบกับสิ่งที่เขาได้ทำไป
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าปลายทางจะคุ้มค่าหรือไม่จนกว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้ลงสนามและแสดงผลงานออกมา แต่บางครั้งการเสี่ยงก็นำมาซึ่งความสำเร็จในและสร้างยุคสมัยของสโมสรได้เลย อาทิ ลิเวอร์พูล ทุ่มเงินกับ ฟาน ไดจ์ค และ อลีสซง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ของพวกเขา
ตราบใดที่อุตสาหกรรมฟุตบอลของลีกชั้นนำของโลกยังขับเคลื่อนไปด้วยทุนนิยม การลงทุนอย่างมหาศาลและการแสดงอำนาจทางการเงินผ่านการทำสโมสรฟุตบอลก็จะยังคงดำเนินต่อไป เชื่อว่าอีกไม่นานสถิติของเกป้าก็จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะมีใครมาทำลายอย่างแน่นอน…
เผลอ ๆ หากไม่มีวิกฤตโควิดมากระทบวงการฟุตบอลในปี 2019 ป่านนี้สถิติโลกของ เกป้า อาจจะถูกทำลายไปตั้งนานแล้วก็เป็นได้