"ราฟฟี สิงห์ป่าตอง" : ชีวิตนักมวยฝรั่งเศสแชมป์เวทีลุมพินีบนสังเวียนเลือดมวยไทย
“ถ้าผมคิดเรื่องหาเงินเป็นอันดับแรก ผมคงไม่เลือกชกมวยไทย แต่ผมต่อย เพราะผมรักมวยไทย”
การตอบคำถามด้วยภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำของ ราฟาแอล โบอิค (Raphael Bohic) หรือ ราฟฟี สิงห์ป่าตอง นักมวยไทยอาชีพชาวฝรั่งเศส คงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “เขารักมวยไทยมากแค่ไหน ?”
สำหรับคนหนุ่มที่เติบโตมาในประเทศที่พัฒนา และสามารถหารายได้หลักครึ่งแสนต่อเดือน แทบไม่มีความจำเป็นใดๆเลย ที่เขาต้องมาใช้ชีวิตแบบนักมวยไทย ในแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง รวมถึงต้องปรับตัวกับทุกๆเรื่องตั้งแต่อาหารการกิน ภาษา ไปจนถึงวัฒนธรรมต่างกัน
แต่เพราะมนุษย์ทุกคนต่างความหลงใหลและวิถีทางที่อยากจะเป็นแตกต่างกัน...ราฟฟี ยินดีที่จะสละชีวิตอันสุขสบายในประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่คนไทยหลายคน อยากไปท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เพื่อมาต่อสู้บนสังเวียนเลือด แลกกับ ชื่อเสียง เงินตรา และความสุขที่ได้เดินบนเส้นทางที่ใจต้องการ
หากนับนิ้วมือตามจำนวนปีที่ ราฟฟี อยู่กินบนแผ่นดินไทย ก็คงต้องใช้นิ้วมือทั้งสองข้าง เพื่อบอกแทนว่า เขาใช้เวลานานกว่าแค่ไหน…
กว่าชาวต่างชาติคนหนึ่งอย่างเขา จะผงาดขึ้นมาเป็น นักชกแม่เหล็กแถวหน้าของวงการมวยไทยยุคนี้ ที่มีเข็มขัดแชมป์ รุ่น 147 ปอนด์ เวทีมวยลุมพินี และแชมป์โลกมวยไทยสถาบัน WMC รุ่น 140 ปอนด์ เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ
ไอ้หนุ่มช่างไฟหัวใจมวยไทย
แรนส์ (Rennes) เมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกตอนเหนือ ห่างจากปารีส 310 กิโลเมตร ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม วิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย บ้านเมืองที่สะอาดสะอ้านตา จนถูกยกให้เป็น เมืองน่าอยู่ลำดับต้นๆ ของประเทศฝรั่งเศส
ราฟฟี ใช้ชีวิตในวัยเด็กและเติบโตที่เมืองนี้ เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เขาเรียนหนังสือควบคู่กับการทำงานเป็น “ช่างไฟฟ้า” ตามอาชีพที่ครอบครัวทำกันมา (ทำงานสองสัปดาห์, เรียนสองสัปดาห์) จนถึงอายุ 18 ปี
“ผมชอบกีฬาต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 6 ขวบ เคยเรียนยูโด ก็ไม่ได้ติดใจอะไร จึงเลิกไป พออายุสักประมาณ 14 ปี ชอบหาเวลาว่างเปิดคลิปดูการชกมวยหลากหลายรูปแบบ แต่ที่ชอบมากสุด คือ มวยไทย เพราะสามารถศอกได้ ทำได้หลายอย่างไม่ผิดกติกา ส่วนการต่อสู้แบบอื่น อย่าง คิก บอกซิง ผมดูแล้วมันไม่สนุกเลย”
“ผมชอบดูคลิปบัวขาว, แสนชัย หรือว่าคลิปการชกนักมวยไทยเก่าๆ เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ยิ่งเปิดดูก็ยิ่งทำให้ผมสนใจมวยไทยมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปฝึก จนมาทราบว่ามียิมสอนมวยไทยเปิดอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานห่างประมาณ 10 กิโลเมตร ทุกวันหลังเลิกงานตอนเย็น ผมจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรียนมวยไทยที่นั่น ตั้งแต่ 2 ทุ่ม - 4 ทุ่ม แล้วค่อยกลับบ้าน”
“ผมไม่รู้ว่าเขาสอนถูกต้องหรือไม่ รู้แต่ว่าผมอยากฝึกมวยไทย และอยากหาเวทีชกเยอะๆ” ราฟฟี บอกกับเราถึงเหตุผลที่เริ่มหลงรักมวยไทย
ราฟฟี ได้เริ่มต้นเรียนมวยไทย ตอนอายุ 17 ปี ซึ่งหากเทียบกับเด็กไทยก็นับว่าเริ่มต้นช้ามาก แต่เขาคิดว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา เพราะเขารู้สึกสนุกและเต็มใจจะเหนื่อยเพิ่มเติมในทุกๆวันหลังเลิกงาน จนมวยไทยกลายเป็นความหลงใหลที่ ราฟฟี ถอนตัวไม่ขึ้น
หนุ่ยน้อยจากเมืองแรนส์ พยายามตระเวนหารายการชกมวยไทยในประเทศฝรั่งเศส แต่น่าเสียดายที่ไฟต์มีจัดไม่บ่อยนักและเว้นช่วงนานเกินไป ทำให้ ราฟฟี่ เริ่มอยากออกเดินทาง ไปสัมผัสประสบการณ์ชกจริง ถูกฝึกสอนจริง โดยชนชาติต้นตำรับกีฬาชนิดนี้
“ที่ฝรั่งเศส ปีๆหนึ่ง จะมีรายการชกแค่ 4-5 ไฟต์เท่านั้น แต่ผมเคยได้ยินมาว่าที่เมืองไทย มีรายการต่อยทุกเดือน ผมจึงอยากหาโอกาสมาชกที่ไทย ผมอยากขึ้นเวทีต่อยเยอะๆ ตอนนั้นผมทำงานได้เงิน เดือนละประมาณ 50,000 บาท ก็ค่อยๆเก็บสะสม จนมีเงินก้อนหนึ่งเป็นทุนส่วนตัว สำหรับบินมาเรียนมวยไทย"
“คนอื่นเขาอาจจะมาเมืองไทยเพราะอยากพักผ่อน ท่องเที่ยว แต่เหตุผลเดียวที่ผมมาไทย เพราะมวยไทยเท่านั้น”
สัมภาระเสื้อผ้าจำนวนหนึ่งถูกบรรจุลงในกระเป๋าเดินทาง พร้อมกับเงินเก็บจำนวนหนึ่งที่ได้มาจากการทำงานประจำอย่างขันแข็ง คือ สองสิ่งหลักๆที่ราฟฟี่ โบอิค ได้นำขึ้นเครื่องบินออกเดินทางไปยังอีกซีกโลก ในดินแดนที่ห่างไกลออกไปจากถิ่นฐานของเขากว่า 12,000 กิโลเมตร
แผ่นดินที่ในวันนี้เขาให้คำแทนประเทศนั้นว่า “บ้านหลังที่สอง”
ฝรั่งบนสังเวียนมวยไทย
เสียงปี่พาทย์อันเร่งเร้า เคล้ากับเสียงกลองชวา จากวงดนตรีปี่กลอง ที่บรรเลงอยู่ข้างๆสนามมวย ท่ามกลางบรรยากาศเสียงอื้ออึงที่ไม่เคยหยุด ของเซียนมวยและคนดูในเวทีมวยมาตรฐาน “ลุมพินี”
เป็นประสบการณ์การชกครั้งหนึ่ง ที่น่าตื่นเต้นของ ราฟฟี โบอิค นักมวยโนเนมชาวฝรั่งเศสวัย 18 ปี ที่ได้มีโอกาสเดินทางจากจังหวัดภูเก็ต ขึ้นมาชกบนสังเวียนอันทรงเกียรตินี้
“ครั้งแรกที่มาเมืองไทย ผมไปซ้อมอยู่ที่ แฟร์เท็กซ์ ก็ฝึกซ้อมไปได้ระยะหนึ่ง จนหมดเงินเก็บ ก็บินกลับไปทำงานเก็บเงินและมาเมืองไทยเป็นครั้งที่สอง โดยเข้ามาฝึกซ้อมกับค่ายมวย สิงห์ป่าตอง ที่ จ.ภูเก็ต”
“สาเหตุที่เปลี่ยนมาซ้อมที่นี่ เพราะมีเพื่อนแนะนำให้มา เขาบอกว่า ค่ายนี้สอนดี ดูแลดี ฝรั่ง คนไทย เท่าเทียมกัน แถมมีรายการให้ชกด้วย”
“ความตั้งใจแรกผมคิดว่าจะอยู่สัก 4 เดือน เงินหมดค่อยกลับฝรั่งเศสไปทำงานต่อ แต่ระหว่างที่ฝึกซ้อมอยู่ สิงห์ป่าตอง ผมได้ขึ้นชกประมาณ 9 ไฟต์ เจอพวกสมัครเล่นเหมือนกันชนะน็อกได้หมดเลย ค่ายจึงพาผมไปลองชกลุมพินี 1 ครั้ง”
“พอใกล้ถึงกำหนด ผู้ใหญ่ทางค่ายก็สนใจ อยากให้ผมชกมวยไทยต่อ ผมจึงบินกลับฝรั่งเศส ไปทำเรื่องเอกสารประมาณ 2 สัปดาห์ และตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่เป็นนักมวยที่ไทยจนถึงทุกวันนี้”
การได้รับการถ่ายทอดวิชามวยไทย จากครูฝึกชาวไทย บวกกับได้ลองชกในสนามจริงที่ทางค่ายมีโปรแกรมจัดชกที่ จ.ภูเก็ต ทุกวันเสาร์ ทำให้ ราฟฟี่ โบอิค ยิ่งหลงรักมวยเข้าอย่างสุดหัวใจ
ก่อนที่เขาจะตัดสินใจ เลือกเอาดีทางการชกมวยไทย ตามคำชวนของ หนุ่มน้อย เมืองหาดใหญ่ (สมนึก พัดบุรี) โปรโมเตอร์และผู้ดูแลคณะสิงห์ป่าตอง ที่ชอบใจในความขยันของนักชกฝรั่งคนนี้ โดยในตอนนั้นเขามี ดาเมียน อลามอส เพื่อนร่วมชาติที่เคยเป็นแชมป์เวทีมวยลุมพินี เป็นแรงบันดาลใจที่เขาอยากเดินตามรอย
แม้พื้นฐานเขาไม่ได้มีทักษะด้านมวยไทยที่ดีนัก เมื่อเทียบกับนักมวยชาวไทย โดยเฉพาะด้านเทคนิค ทั้งเรื่องเชิงมวย เหลี่ยมมวย หรือการออกอาวุธให้รุนแรงได้น้ำหนัก แต่การที่เขาถูกฝึกซ้อมซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานานในทุกๆวัน เริ่มทำให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป
“ซ้อมมวยไทยที่ไทย มันทั้งหนัก ทั้งเหนื่อยมาก และยากมากๆเลย ต้องใช้เวลาซ้อมวันละหลายชั่วโมง แบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงเย็น บางครั้งเหนื่อยจนร่างกายแทบจะไม่ไหวแล้ว แต่ใจก็บอกว่า เอาอีก เอาอีก เพราะเรายังต้องเรียนรู้หลายอย่างมากในกีฬามวยไทย”
“อยู่ที่ฝรั่งเศส ผมได้เรื่องหมัดกับเตะ แต่มาอยู่ไทย ผมได้ฝึกเรื่องศอกกับเข่า รวมถึงการกอดปล้ำด้วย ซึ่งยากมากๆ ต้องเรียนทุกวัน วันละหลายชั่วโมง กว่าจะไล่แขนเป็น ผมเริ่มจากฝึกปล้ำกับคนตัวเล็กกว่า จำได้ว่าตอนแรกๆ ผมปล้ำสู้เขาไม่ได้เลย ทั้งที่ตัวเองใหญ่กว่า พอเริ่มปล้ำเป็น ก็ค่อยๆขยับมาเจอคนที่หุ่นสูสีกัน ตอนนี้ผมปล้ำคนที่ตัวใหญ่กว่าได้แล้ว”
กว่าที่ ราฟฟี่ จะได้ขึ้นไปชกแต่ละไฟต์ เขาต้องผ่านการฝึกซ้อมที่ยาวนานและยากลำบาก แต่เพราะความกระตือรือร้นที่อยากเก่งมวยไทย ทำให้ ราฟฟี่ พยายามหัดฟัง และพูดภาษาไทย จนสามารถสื่อสารกับเทรนเนอร์ได้ง่าย
บวกกับทัศนคติของ ราฟฟี่ ที่เป็นคนที่เปิดรับการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ชั้นเชิงการชกของเขา ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ ยามอยู่บนสังเวียน ไม่ว่าจะประจันหน้ากับ คู่ชกชาวต่างชาติ หรือนักมวยไทย
กลายเป็นว่า พอ ราฟฟี่ ชกไปนานเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งมีลักษณะท่าทางการออกอาวุธ ป้องตัว เหมือนกับนักมวยชาวไทยมากขึ้นตามไปด้วย
“ตอนแรกที่ราฟฟี่อยู่กับเรา เขาไม่ได้ชกแบบนี้เลย สไตล์เขาจะเดินแข็งทื่อ เพราะเขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่สิ่งที่ทำให้เขามีสไตล์การชกไม่เหมือนฝรั่งชกมวย ดูเหมือนคนไทยมากกว่า เพราะเขาเป็นคนที่เชื่อครูฝึกมาก ไม่ว่าจะสอนอะไร เขาจะรับฟัง และทำตามหมด โดยไม่มีข้อสงสัย”
“ฝรั่งบางคน ที่เคยเรียนมวยไทยในประเทศเขามาก่อน บางทีพอมาเจอการสอนโดยคนไทย เขาก็อาจจะไม่ยอมรับในบางวิธีการสอน หรือเทคนิคที่ครูฝึกถ่ายทอด เพราะคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ก็เลยทำให้เขามีสไตล์การชกที่ไม่เหมือนคนไทย”
“แต่ราฟฟี่เขาไม่ได้คิดแบนนั้น เขาเป็นคนที่น้ำไม่เต็มแก้ว มีความอดทนสูง มีระเบียนวินัย ขยัน ก็เลยทำให้เขาสามารถชกได้คล้ายๆกับนักมวยไทย แม้เขาจะเริ่มต้นชกตอนอายุ 18 ปีแล้ว” ปาริฉัตร พัดบุรี ผู้จัดการค่ายมวย สิงห์ป่าตอง-ศิษย์หนุ่มน้อย เล่าเรื่องราวของ ราฟฟี่ ในขณะที่เจ้าตัวกำลังฝึกซ้อมในช่วงเย็น
100 เข็มและเข็มขัดแชมป์ลุมพินี
เพราะไม่มีเทคนิคและกระดูกมวยติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เหมือนนักมวยไทยอาชีพทั่วไป ราฟฟี่ สิงห์ป่าตอง จึงต้องชดเชยความบกพร่องนั้น ด้วยการทุ่มเทและฝึกซ้อมให้หนัก และพยายามให้มากกว่า นักมวยอาชีพ ที่เหนือกว่าเขา
รอยแผลเป็นบนใบหน้าของ ราฟฟี่ สิงห์ป่าตอง มากกว่า 100 เข็ม คือ หลักฐานพยานที่เด่นชัดว่า เขาผ่านอะไรมาบ้างบนสังเวียนผ้าผืนใบ
“ผมชอบมวยไทย เพราะออกอาวุธไม่ต้องเยอะ แต่เต็มที่ หนักทุกลูก เป็นกีฬาที่อันตรายมาก อย่างผมเย็บมา 100 กว่าเข็มแล้ว เหนือคิ้ว ใต้ตา หางคิ้ว ตรงข้อศอก เคยเย็บมากสุดครั้งเดียว 17 เข็ม ความรู้สึกตอนที่มีแผลแตก มันรู้สึกร้อนๆ แต่ไม่ได้เจ็บ ที่เจ็บสุดคือตอนเย็บแผล เจ็บมากกว่าตอนชกเสียอีก แล้วต้องรีบเย็บด้วย เพราะมันยังร้อนอยู่ ถ้าช้าจะเจ็บมากกว่านี้”
“บางครั้งโดนเตะซี่โครง นอนพลิกตัวไม่ได้เลย อาชีพนักมวยไทยไม่ง่ายเลย เอาจริงๆ ผมไม่ค่อยคิดหรอกว่าตัวเองจะเป็นแชมป์ ผมแค่อยากมีรายการชกบ่อยๆ อยากชกให้คนดูประทับใจ ผมดีใจที่เวลาไปสนามมวย มีแฟนมวยคนไทยมาขอถ่ายรูป เข้ามาทักทาย รู้สึกมีความสุขมาก” ราฟฟี่ กล่าว
“ไม่เจ็บ ไม่เรียนรู้” ราฟฟี่ เข้าใจความหมายของคำนี้เป็นอย่างดี เพราะในความเป็นจริง เขาแทบไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องใช้กำปั้นแลกความเจ็บปวด เพื่อเงินทองเหมือนกับนักมวยชาวไทย ที่จำนวนไม่น้อย มาจากครอบครัวที่ยากจน
เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นคนชนชั้นกลาง ทำงานหาเงินไม่ต้องเจ็บตัว อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ไม่ต้องห่างไกลกับครอบครัว แต่ถึงกระนั้น ราฟฟี่ ไม่ได้คิดเช่นนั้น เขายินดีที่จะเสี่ยงรับความเจ็บปวดบนสังเวียนผืนผ้าใบมวยไทย ด้วยเหตุผลที่มากกว่าแค่เรื่องเงินทอง
“พ่อแม่ท่านก็เป็นห่วงนะครับ ตอนที่ผมเลือกเป็นนักมวยไทย แต่ชกเพราะผมรักมวยไทย ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเป็นแชมป์ อยากมีรายการชกบ่อยๆ อยากชกให้เต็มที่ให้คนดูสนุก ถึงอาชีพนักมวยค่าตัวจะน้อย แต่ผมไม่ได้ชกมวยไทยเพราะเงิน ถ้าผมคิดเรื่องหาเงินเป็นอันดับแรก ผมคงไม่เลือกชกมวยไทย ผมก็คงไปหางานอย่างอื่นทำ”
จากนักชกฝรั่งไร้ทรงมวย ความขยัน ตั้งใจ และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ทำให้ ราฟฟี่ ยกระดับตัวเองมาสู่มวยค่าตัวเงินแสนอีกคนของประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นค่าตัว 4,000 บาทต่อไฟต์
แต่เขาคงไม่มีทางได้เป็นแชมป์มวยไทย เวทีลุมพินี หรือมีโอกาสได้ชกกับนักมวยไทยฝีมือดีหลายราย อาทิ ชูเจริญ ดาบรันสารคาม, ฉมวกทอง ไฟต์เตอร์มวยไทย, ยอดพนมรุ้ง จิตรเมืองนนท์, มนัสชัย หยกขาวแสนชัยยิม, ก้องศักดิ์-พงษ์สิริ พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม, นนทกิจ ต.หมอศรี รวมถึง แสนชัย หากเขาไม่มีวินัยและความพยายามที่มากพอ
โดยเฉพาะเรื่องการลดน้ำหนักที่ถือเป็นฝันร้ายสำหรับนักมวยไทยทุกคน ยามต้องเข้าโปรแกรมคุมน้ำหนัก เพื่อไม่ให้เกินน้ำหนักที่ตกลง และด้วยรูปร่างโครงสร้างร่างกายที่ใหญ่กว่าคนไทย ทำให้ ราฟฟี มักเป็นฝ่ายบีบน้ำหนักลงมาอยู่ที่ประมาณ 142 ปอนด์ โดยบางครั้ง เขาจะให้นักมวยไทยที่เก่งกว่า ต่อน้ำหนักให้เขา 2 ปอนด์ เพราะเจ้าตัวไม่สามารถทำน้ำหนักให้ลงไปมากกว่านั้นได้
“ผมเข้าใจนะครับว่า นักมวยไทยส่วนมากน้ำหนักจะไม่ค่อยเกิน 140 ปอนด์ (63.5) แต่ผมบีบน้ำหนักได้มากสุดแค่ 142 ปอนด์ (64 กิโลกรัม) เพราะน้ำหนักตัวผมปกติมันเยอะมาก (69 กิโลกรัม หรือ 152 ปอนด์)”
“เท่ากับว่าถ้าผมชก 142 ปอนด์ ผมต้องลดน้ำหนักลงมาประมาณ 5 กิโลกรัมต่อไฟต์ ซึ่งผมต้องคุมอาหารก่อนชกเป็นสัปดาห์ และออกไปวิ่งเยอะๆ ช่วง 2-3 วันก่อนชก ถึงขนาดนั้น น้ำหนักก็ยังเกินมา 1 ปอนด์ตลอดตอนชั่ง จนผมชินแล้ว”
“แต่ผมไม่ค่อยคิดมากว่า มันเหนื่อย ก็ต้องสู้ อย่าไปอารมณ์เสีย พยายามคิดให้เป็นบวก ชกให้เต็มที่ก็พอ แล้วค่อยคิดเรื่องแพ้ ชนะ หรือแชมป์”
ราฟฟี ในวัย 28 ปี ลงหลักปักฐานและพบรักกับหญิงสาวชาวไทย โดยมีธุรกิจเล็กๆ ด้วยการปล่อยเช่ามอเตอร์ไซค์ ใน จ.ภูเก็ต เป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากรายการชกที่เขามีต่อยอย่างสม่ำเสมอในไทย รวมถึงรายการในต่างประเทศ ที่ได้บรรลุข้อตกลงเซ็นสัญญากับ ONE Championship
แม้ในวันนี้ ราฟฟี่ จะมีรายได้จากการชกมวยไทยต่อเดือน เป็นเงินจำนวนที่มากกว่าตอนทำงานเป็นช่างไฟฟ้าในบ้านเกิด
แต่อย่างที่เขาบอกกับเรา เงินไม่ใช่ประเด็นหลักที่เขาเลือกอาชีพนักมวยไทย เขาเลือกมวยไทย เพราะนี่คืองานที่เขารักและมีความสุขที่จะทำ เขายินดีที่จะเหนื่อย ยินดีจะพบกับความเจ็บปวด และพร้อมที่จะทุ่มเทให้มันอย่างสุดหัวใจ
และสิ่งที่ตอบแทนกลับมาวันนี้ คือ ราคาแห่งความพยายามที่เขาแลกมันมาด้วย เลือด, หงาดเหงื่อ และความตั้งใจของชาวต่างชาติคนหนึ่ง บนสังเวียนผืนผ้าใบมวยไทย
“ผมมีความสุขกับทุกไฟต์ที่ได้ชก ผมไม่ได้รู้สึกมีปัญหาในการปรับตัว เรื่องการใช้ชีวิตที่ไทย แม้ว่า ไทย กับ ฝรั่งเศส จะมีความแตกต่างกันมาก ทั้ง สภาพอากาศ, อาหารการกิน หรือภาษา แต่เราก็ยังเห็นว่าคนไทยยิ้มให้กันตลอด ส่วนบ้านผมในช่วงหน้าหนาว เราคงไม่ได้เห็นรอยยิ้มจากพวกเขาแน่ๆ”
“มันก็มีบางครั้งตอนอยู่ไทย ที่ผมคิดถึงบ้าน เพราะผมได้กลับบ้านฝรั่งเศสแค่ปีละครั้งเอง แต่พอผมกลับฝรั่งเศสจริงๆ อยู่ที่นั่นได้แค่ 2-3 อาทิตย์ ก็อยากกลับไทยแล้ว ผมรู้สึกเหมือนที่นี่ เป็นบ้านอีกหลังของผมจริงๆ” ราฟฟี ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มหลังจบประโยคนี้
อัลบั้มภาพ 45 ภาพ