7 ไฮไลต์งาน Bangkok Design Week 2021 ประจำเดือนมิถุนายน

7 ไฮไลต์งาน Bangkok Design Week 2021 ประจำเดือนมิถุนายน

7 ไฮไลต์งาน Bangkok Design Week 2021 ประจำเดือนมิถุนายน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • Bangkok Design Week 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 31 กรกฏาคม พ.ศ.2564
  • Bangkok Design Week 2021 มากับคอนเซปต์ Resurgence of Possibilities ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ เพื่อร่วมค้นหาโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ในการฟื้นฟูและชุบชีวิตของทั้งผู้คนและเมือง
  • สำหรับปีนี้มีการปรับรูปแบบกิจกรรมบางส่วนให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสอดรับวิถี New Normal

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 หรือ Bangkok Design Week 2021 เทศกาลที่เหล่านักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ได้มารวมตัวกันจุดประกายไอเดียผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยได้มีการปรับรูปแบบรับกับสถานการณ์ด้วยการขยับมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก ที่เริ่มต้นออกสตาร์ตไปแล้วด้วยโปรแกรมทอล์กออนไลน์แบบจัดเต็มตลอดเดือนพฤษภาคม 

สำหรับเดือนมิถุนายนยังคงมีกิจกรรมออนไลน์ให้ติดตาม พร้อมกับนิทรรศการแบบออนกราวนด์ที่ต้องลงทะเบียนเข้าชมล่วงหน้า มาดูกันว่ามีกิจกรรมไหนที่ไม่ควรพลาดบ้าง

ร้านน้ำขม บางรัก หนึ่งในโครงการ Made in Charoenkrung 2

Made in Charoenkrung 2

การคอลแล็บกันของ 8 คนรุ่นเก๋ากับ8 นักสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดธุรกิจเก่าแก่ของชาวเจริญกรุงตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม วัตถุดิบ ยา เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ไปจนถึงโรงงานช่างฝีมือ ให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและสื่อสารความเป็นตัวตนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์เอาไว้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการปรับดีไซน์ผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิง เมนูหรือการเล่าเรื่องแบบใหม่ อาทิ การผสมผสานเทคนิคการฉลุโลหะของร้านจิรวัฒน์ที่ก่อตั้งมานานราว 60 ปีกับเทคนิคการดีไซน์เครื่องประดับของ ฮง-วินิจ กุศลมโนมัย จาก Lohameka Studio of Jewelry Art ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นชิ้นงานใหม่ไม่เหมือนใครอย่าง เข็มกลัดจากแผ่นทองเหลือง ที่แฝงไว้ด้วยการดีไซน์และภูมิปัญญาจากช่างฝีมือ ซึ่งทำให้เห็นความเป็นไปได้ในการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย ผู้ที่สนใจสามารถชมตัวอย่างเข็มกลัดและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในโครงการได้ที่ Front Lobby ชั้น 1 TCDC

จัดแสดง : มิถุนายน 2564

สถานที่ : Front Lobby ชั้น 1 TCDC กรุงเทพฯ

ออนไลน์ : www.instagram.com/madein.myneighbour

ผลงานโดย VANZTER

Design PLANT – “DOMESTIC”

การจัดแสดงผลงานของเหล่านักดีไซน์สายเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ที่มาร่วมออกแบบชิ้นงานในธีม Domestic หรือ เรื่องราวภายในประเทศ จากการตีความในแบบของแต่ละคน เช่น ชิ้นงาน Gring (กริ๊ง) โดย B.U.B ที่นำไอเดีย โมไบล์กระดิ่งลมมารีดีไซน์ใหม่ให้สามารถใช้งานแบบตั้งโต๊ะเพื่อฟังก์ชันและความสวยงาม โดยสามารถเลือกเปิด-ปิดเสียงได้ เมื่อผู้ใช้งานต้องการลดเสียงรบกวน ด้านวัสดุ B.U.B หยิบความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือของเสริมสิริมงคลมาใช้ โดยเลือกวัสดุอย่างกระจกที่เชื่อกันว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดี และหินที่ส่งเสริมในเรื่องการงาน การเงินหรือความรัก ซึ่งยังมีผลงานของ Studio Yak, Plural Designs, Dots Design Studio, Rubber Idea, PDM x SuthipaKamyamและอีกมาก ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการดีไซน์ ภายใต้บริบทต่าง ๆ ของประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความคิดของผู้คนในปัจจุบันได้ 

จัดแสดง : 12-20 มิถุนายน 2564

สถานที่ : ATT19 ซอยกัปตันบุช เขตบางรัก กรุงเทพฯ

รายละเอียดเพิ่มเติม : Design PLANT

PINIJ “พินิจ”

การนำเสนอมุมมองของนักออกแบบกว่า 10 ชีวิตต่อสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ สถานการณ์ที่ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการกักตัวที่นานจนอาจเกิดอาการเคบินฟีเวอร์ (Cabin Fewer) หรือ อาการเบื่อบ้าน นิทรรศการ PINIJ “พินิจ” จึงตั้งใจนำเสนอผลงานที่มีคุณค่าทั้งทางกายและใจ การสร้างสมาธิ เพิ่มความสุขและความสงบ จนถึงการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ของสังคมยุคโพสต์โควิด (Post Covid) ที่อาจมีส่วนช่วยให้ผู้ชมพ้นจากภาวะ Cabin Fewer 

จัดแสดง : 12-20 มิถุนายน 2564 

สถานที่ : O.P. Place

รายละเอียดเพิ่มเติม : Collectible Design Thailand

CHANGE By CEA : Launchpad Showcase

พื้นที่รวบรวมสินค้า ผลิตภัณฑ์และผลงานสร้างสรรค์ จากกิจกรรมพัฒนาธุรกิจโดย CHANGE By CEA ในปีที่ผ่านมา โดย Showcase จะแบ่งออกเป็น 3 บูธคือ Wellness & Lifestyle Product, Fashion & Accessories และ Food & Beverage แต่ละบูธได้รับการดีไซน์การจัดแสดงจาก 3 นักออกแบบอย่าง Moreover, ประภาส ระสินานนท์ และ Party/Space/Design ภายใต้ธีม “Into the (New) Unknown (Normal) สู่จินตนาการแห่งอนาคต” ซึ่งนอกจากการจัดแสดงภายในอาคาร TCDC ยังมีการพาทัวร์ออนไลน์แบบบูธต่อบูธผ่านทาง YouTube โดยที่ผู้ชมสามารถสแกน QR Code เพื่อสนับสนุนสินค้าที่สนใจขณะอยู่ที่บ้านได้อีกด้วย 

จัดแสดง : แบบออฟไลน์ ถึงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และแบบออนไลน์ ถึงวันที่ 31 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สถานที่ : ชั้น 4-5 TCDC กรุงเทพฯ

ออนไลน์ : bit.ly/3ouMiG7

Envisioning BANGKOK

การจัดแสดงอาร์ตอินสตอลเลชัน (Art Installation) สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ จากบริบทของพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานหรือการใช้งานของคนในรูปแบบต่าง ๆ ออกแบบโดยนักสร้างสรรค์ชาวไทยและนานาชาติกว่า 12 ผลงานสำหรับย่านเจริญกรุง ประกอบไปด้วยผลงาน

  • Stay Cool Pavilion โดย Nikken Sekkei
  • Activating Vacancies โดย Imaginary Objects
  • Urban Whispering โดย Wire Knot Studios x Architect nonsense
  • change for alive โดย Mohostudio
  • W$J+uL2-X63, FXR TXMXRRXW โดย STUX2
  • BOB The Nice Guy

ก่อนที่เดือนกรกฎาคมจะจัดแสดงอีก 4 ผลงานในพื้นที่สามย่าน

จัดแสดง : 12-20 มิถุนายน 2564

สถานที่ : TCDC และ O.P.Place ซอยเจริญกรุง 38

Reincarnations III – Ecologies of Life

นิทรรศการที่ต้องการสะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตรอบตัว ในขณะเดียวก็เน้นย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของงานศิลปะ ที่นอกจากจะสร้างความสุนทรีย์แล้ว ศิลปะยังเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ และสร้างความร่วมมือในสังคม เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น 

ภายในนิทรรศการจัดแสดงผลงานอินสตอลเลชัน (Installation) จากการค้นคว้าวิจัยของศิลปิน ทั้งรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ที่จับประเด็นสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่ใกล้จะสูญพันธุ์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ได้แก่ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว หมาป่าญี่ปุ่น และเนื้อสมัน อีกทั้งพื้นที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ยังเคยเป็นบ้านเก่าของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจและแรงสนับสนุนของผลงานชุดนี้ จากหนังสือและบันทึกข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับเนื้อสมันที่ศิลปินได้ศึกษาวิจัยประกอบการสร้างผลงาน

จัดแสดง : 12 พฤษภาคม – 10 กรกฎาคม 2564 

สถานที่ : วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ซอยเจริญกรุง 36

รายละเอียดเพิ่มเติม : WarinLab

The Intruder

นิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องของความเท่าเทียมและพื้นที่สาธารณะ โดยทีมนักออกแบบได้หยิบแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของชุมชนตลาดน้อยที่ถูกหล่อหลอมด้วยการตั้งรกรากของผู้อพยพชาวจีน ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในสมัยก่อน ผู้ที่เคยเป็นทั้งผู้บุกรุกและผู้อยู่อาศัยในเวลาเดียวกัน จนต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นในประเทศไทย ความหวาดระแวงต่อวัฒนธรรมจีนจึงเกิดขึ้น และได้มีการลบล้างวัฒนธรรมจีนบางส่วน อีกทั้งกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น การเปลี่ยนโรงเรียนจีนในละแวกนั้นให้กลายมาเป็นโรงเรียนไทย

ทีมนักออกแบบใช้แรงบันดาลใจนี้ในการสร้างสรรค์พื้นที่ให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งการจัดแสดงจะเน้นการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมได้ลองเผชิญหน้าและสำรวจความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคย โดยหวังว่าประสบการณ์จากการเข้าชมจะสามารถตีกรอบใหม่ให้แก่ความเข้าใจระหว่างคนแปลกหน้ากับเจ้าของบ้านในพื้นที่สาธารณะ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าในหลาย ๆ ครั้ง เราต่างก็เป็นทั้งผู้บุกรุกและผู้อยู่อาศัยเหมือนกัน

จัดแสดง : 12-20 มิถุนายน 2564 

สถานที่ : บ้านในชุมชนตลาดน้อย

รายละเอียดเพิ่มเติม : www.instagram.com/3.24studio

ภาพ : Bangkok Design Week และ โครงการ Made in Charoenkrung

Fact File

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ 7 ไฮไลต์งาน Bangkok Design Week 2021 ประจำเดือนมิถุนายน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook