2 มี.ค. 2562 "วันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ"
"วันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ" 2 มี.ค. นี้ ภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยในเด็ก ชูธงเดินหน้าลดสถิติการจมน้ำตายในเด็กวัยเรียน 6-12 ปี ตั้งเป้าภายในปี 2565 ลดลงเหลือ 2 /100,000 คน / ปี พร้อมหนุนให้ ศธ. รับหลักสูตรทักษะชีวิตความปลอดภัยทางน้ำเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
"การจมน้ำ" ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ตายเป็นอันดับ 1 แม้ว่าสถานการณ์ในปี 2561 มีภาพรวมที่ดีขึ้นกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดย พ.ศ. 2551 – 2560 มีเด็กจมน้ำตายเฉลี่ยสูงถึงกว่า 900 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง จากสถิติปี พ.ศ. 2561 ที่พบเด็กการจมน้ำตายเฉลี่ย 700 คนต่อปี ช่วงเวลาเสี่ยงที่สุดของการเกิดเหตุการณ์เด็กจมน้ำเสียชีวิตยังคงอยู่ในช่วงปิดเทอม
ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดคือเด็กอายุ 6-12 ปี ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น "วันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ" ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2562
"รศ. นพ. อดิศักดิ์" ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถิติการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กไทยว่า "ในช่วงเวลาปกติจะมีเด็กจมน้ำตายเฉลี่ยเดือนละ 60 คน แต่หากเป็นช่วงปิดเทอม จำนวนเด็กที่ตายจากการจมน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นถึงเดือนละประมาณ 90 คน โดยเดือนที่อันตรายเป็นอันดับหนึ่งคือเมษายน รองลงมาเป็นเดือนมีนาคมกับพฤษภาคม และเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งล้วนเป็นเดือนที่เด็กๆ ปิดเทอมทั้งสิ้น และยังพบว่าช่วงอายุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ 6-12 ปี หรือวัยเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6"
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้วิเคราะห์ข้อมูลและสาเหตุการเสียชีวิตในเด็กจมน้ำ โดยแบ่ง 3 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 6 ปี : พบการเสียชีวิตภายในบ้านหรือใกล้บ้านมากที่สุด หากเป็นในชุมชนแออัดหรือครอบครัวยากจน จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเพราะบ้านตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำคูคลอง ไม่มีรั้วรอบขอบชิด พ่อแม่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลลูก หรือบางครั้งคิดว่าห่างสายตาแค่ชั่วครู่ เช่น ให้เด็กนั่งเล่นริมน้ำ นั่งเล่นในกะละมังแล้วไปโทรศัพท์ ไปเข้าห้องน้ำ สุดท้ายเด็กพลัดตกน้ำ หรือหัวคะมำจมน้ำในกะละมัง เดิมเป็นกลุ่มที่มีอัตราการตายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง กว่า 600 คน/ปี แต่ในปี 2561 สถิติของการเสียชีวิตในเด็กกลุ่มนี้ลดลงเหลือประมาณ 200คน / ปี เพราะหน่วยงานบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึง สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองในการจัดการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากการจมน้ำ และวิธีการดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ สธ. ยังจัดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยดูแล สำรวจแหล่งน้ำ และให้ชุมชนตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ด้วย
2) กลุ่มเด็กประถม อายุ 6-12 ปี : กลุ่มนี้ยังมีความน่าเป็นห่วง แม้สถิติการเสียชีวิตจะลดลง จากเฉลี่ย 550คน/ปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็น 310 คน/ปี ในปี 2561 แต่ก็ยังคงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูง เพราะเป็นวัยที่ซุกซน ชอบวิ่งเล่นนอกบ้าน แหล่งที่พบการเสียชีวิตมากที่สุด คือแหล่งน้ำในชุมชน เช่น แม่น้ำ คูคลอง และพบว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพมหานคร เพราะมีแหล่งน้ำที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมากกว่าในเมือง วิธีการเฝ้าระวังและป้องกันการจมน้ำตายสำหรับเด็กกลุ่มนี้ต้องดำเนินการใน 2 ส่วนควบคู่กัน คือ 1. ต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้และมี “ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ” 2. ชุมชนต้องจัดการเปิดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย และล้อมพื้นที่เสี่ยง ให้ห่างไกลเด็กๆ
ส่วนกลุ่มที่ 3) คือกลุ่มวัยรุ่นอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป : เป็นวัยชอบลอง ไม่ค่อยมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ระวังเรื่องความเสี่ยง โดยพื้นที่การเสียชีวิตในกลุ่มนี้จะอยู่ไกลจากชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทะเล น้ำตก และมักเกิดร่วมกับพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น เมาเหล้าแล้วเล่นน้ำ ว่ายน้ำกลางคืน ช่วยเหลือเพื่อนผิดวิธี แต่หากสามารถฝึกสอนทักษะความปลอดภัยทางน้ำให้ตั้งแต่กลุ่มนี้ยังอยู่ในช่วงเด็กประถมได้ ก็จะมีความเสี่ยงในช่วงวัยรุ่นลดลง
"การฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้การเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ได้แก่
1) รู้จักหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้จุดเสี่ยง มีน้ำเชี่ยว น้ำลึก
2) ลอยตัวในน้ำได้ 3 นาที รอความช่วยเหลือ
3) เคลื่อนตัวในน้ำหรือว่ายน้ำได้ 15 เมตร เพื่อเข้าหาฝั่ง
4) ช่วยเหลือคนตกน้ำอย่างถูกวิธี ด้วยการ "ตะโกน โยน ยื่น" คือตะโกนขอความช่วยเหลือ โยนสิ่งของที่ลอยน้ำได้ให้เพื่อนเกาะ และยื่นท่อนไม้หรือท่อพลาสติกให้เพื่อดึงเข้าฝั่ง
และ 5) ใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ซึ่งภาคีเครือข่ายความปลอดภัยในเด็กต้องตระหนัก ตื่นตัว และร่วมช่วยกันขับเคลื่อน รวมพลังกันทุกภาคส่วนในการป้องกันการจมน้ำในเด็ก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรมีบทบาทมากขึ้นและให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน โดยบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานในโรงเรียน สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี" รศ. นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าว
ภาคีเครือข่ายความปลอดภัยในเด็ก และ สสส. ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินมาตรการและผลักดันยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยตั้งเป้าลดอัตราการตายจาก 7/ 100,000 คน/ ปี ให้เหลือ 2 / 100,000 คน/ ปี ภายในปี /2565
ด้วยการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมรณรงค์ จัดค่ายฝึกทักษะ ฯลฯร่วม ขยายพื้นที่บูรณาการ 3 พลังในการขับเคลื่อน คือ ชุมชนต้องจัดหาทรัพยากร แหล่งทุน และบุคลากร เพื่อสร้างพื้นที่และผู้ฝึกสอน เพื่อฝึกฝนทักษะความปลอดภัยทางน้ำ เช่นสร้างสระว่ายน้ำแบบประหยัดในชุมชน, โรงเรียน ต้องนำทักษะความปลอดภัยทางน้ำมาจัดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจังพร้อมทั้งมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ, และพ่อแม่ผู้ปกครองต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้โดยสร้างเสริมศักยภาพของลูกหลานให้มีทักษะความปลอดภัยทางน้ำ เรียนรู้ภัยใกล้ตัวจากแหล่งน้ำ และสอนทักษะการใช้ชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดจากการจมน้ำได้