การตั้งชื่อลูกของพ่อแม่รุ่นใหม่ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

การตั้งชื่อลูกของพ่อแม่รุ่นใหม่ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

การตั้งชื่อลูกของพ่อแม่รุ่นใหม่ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เด็กสมัยนี้ชื่อแปลกจัง! พ่อแม่ตั้งชื่ออะไรให้ลูกเนี่ย? ตั้งชื่อลูกไม่เผื่อตอนเด็กมันโตเลยนะ ตั้งชื่อลูกไม่สงสารคนอ่านคนสะกดเลย ชื่อนี้เพราะจัง ชื่อนี้ปังมาก ชื่อนี้จริงดิ” และอีกสารพัดความรู้สึกที่เราอาจรู้สึกเมื่อเห็นชื่อของเด็กรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะทำให้เรารู้สึกเอ๊ะ! ทั้งชื่อจริงและชื่อเล่นด้วยซ้ำ

ต้องยอมรับว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การตั้งชื่อลูกของพ่อแม่ (ซึ่งก็มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ ๆ) ก็เปลี่ยนตามไปด้วย ถ้าเป็นชื่อจริงก็มักจะเป็นชื่อยาว ๆ หลายพยางค์ สะกดยาก ๆ เขียนยาก ๆ อาจเป็นภาษาต่างประเทศ หรือถ้าสั้นก็สั้นมากแบบพยางค์เดียวจบ และใช้เป็นชื่อเล่นไปในตัว ส่วนชื่อเล่นก็เช่นกัน มักจะเจอคำแปลก ๆ คำภาษาต่างประเทศ แม้กระทั่งคำที่ไม่มีความหมาย ตั้งชื่อเล่นที่มีหลายพยางค์ (บางคนยาวกว่าชื่อจริง) หรือเป็นคำที่ต้องแปลกันซับซ้อน เพราะตั้งใจจะเล่นที่ความหมายเฉียบ ๆ ต่างจากการตั้งชื่อให้ลูกของคนไทยสมัยก่อน

สมัยก่อนคนไทยมักจะนิยมตั้งชื่อเล่นให้ลูกเพียงพยางค์เดียว บางคนก็ใช้ชื่อเล่นกับชื่อจริงชื่อเดียวกัน หรือไม่ก็ให้พระหรือผู้ใหญ่ที่เคารพตั้งให้ โดยดูจากเพศและฤกษ์วันเกิด ภายหลังพ่อแม่หลายคน ก็ดูจากชื่อมงคลที่มีอยู่ในตำราหนังสือ บ้างก็เลือกจากความหมายของชื่อ ดูจากพยัญชนะ เอาชื่อพ่อกับชื่อแม่มารวมกัน ตั้งชื่อลูกตามศิลปินที่ชอบ บางคนก็ตั้งชื่อลูกตามเทศกาล ในกรณีที่เกิดตรงกับวันสำคัญ เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ เทียนพรรษา เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะตั้งชื่อลูกด้วยวิธีไหนก็ควรจะนึกถึงความหมายที่เป็นมงคลเป็นหลัก และอาจจะต้องนึกถึงลูกในวันที่เขาโตขึ้นด้วย เพราะบางชื่อก็สุ่มเสี่ยงที่เด็กจะโดนล้อเมื่อเข้าโรงเรียน หรือความหมายแปลกมากเกินไป สิ่งที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างก็คือ ชื่อลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ตั้งให้โดยที่ไม่ได้ถามลูกก่อนว่าชอบไหม แม้เด็กจะไม่มีสิทธิ์เลือกชื่อของตัวเองตอนที่เกิด แต่เขามีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่ใช้เรียกพวกเขา มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ (โดยเฉพาะชื่อที่ตั้งโดยความคึกคะนองของพ่อแม่) ถึงขั้นรู้สึกว่าเป็นตราบาปไปตลอดชีวิตที่เคยใช้ชื่อนี้

สำหรับพ่อแม่ที่ตั้งชื่อลูกเพราะความคึกคะนอง หรือมีความคิดที่อยากได้ชื่อลูกแปลก ๆ เพื่อสนองความต้องการตัวเอง อยากให้ลองนึกถึงจิตใจลูกด้วยว่าเขาต้องการความแปลกแบบที่พ่อแม่ยัดเยียดให้หรือไม่ เด็กหลายคนต้องโตมาพร้อมกับการตั้งคำถามของคนอื่น ๆ ว่าชื่อตัวเองมีความหมายว่าอะไร ทำไมพ่อแม่ถึงตั้งชื่อนี้ให้ ซึ่งกว่าพวกเขาจะโตพอที่จะไปเปลี่ยนชื่อเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง พวกเขาต้องใช้ชื่อนั้นเป็นเวลาถึง 20 ปี มันนานพอที่จะทำลายชีวิตพวกเขาได้ เพราะการตั้งชื่อลูกแบบคิดน้อยของพ่อแม่

ซึ่งจะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อให้ลูกนั้นมีหลากหลายวิธีมาก แต่ปัจจุบันการตั้งชื่อให้ลูกได้เปลี่ยนไปแล้ว ส่วนการตั้งชื่อแบบเดิมก็ยังมีบางวิธีที่ได้รับความนิยมอยู่ Tonkit360 ได้ลองรวบรวมการตั้งชื่อให้ลูกของพ่อแม่ยุคใหม่ว่ามีวิธีอย่างไรบ้าง

1. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต เป็นวิธีที่พ่อแม่ยุคใหม่หลายคนนิยมใช้ ทว่าไม่ใช่แค่คนที่กำลังจะเป็นพ่อแม่เท่านั้น เพราะคนในครอบครัวที่อาจกำลังจะได้เป็นปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา พี่ ก็นิยมใช้วิธีนี้ในการหาชื่อเพราะ ๆ มาตั้งให้กับสมาชิกใหม่ในบ้านเช่นกัน

2. เอาชื่อพ่อกับชื่อแม่มารวมกัน เพื่อให้ได้เป็นชื่อลูกที่คล้องจองกัน

3. ตั้งชื่อลูกตามศิลปิน-ดาราที่ชอบ

4. พ่อแม่บางคนใช้ชื่อสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ มาตั้งเป็นชื่อเล่นลูก เช่น ยี่ห้อขนม ลูกอม น้ำอัดลม นอกจากนี้ยังมีคำที่มาจากเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการใช้สกุลเงินต่างประเทศ

5. ตั้งชื่อเล่นให้ลูกเป็นภาษาอังกฤษ เน้นออกเสียงง่าย มีอย่างน้อย 2 พยางค์ ยังคงเป็นที่นิยมอยู่จนถึงทุกวันนี้ บางคนอยากให้ชื่อลูกเป็นที่จดจำและแปลกใหม่ ก็จะตั้งชื่อ 3 พยางค์ โดยอาจใช้เป็นชื่อจริงด้วย

6. โปรแกรมตั้งชื่อ ในยุคที่ไม่ว่าจะปัญหาอะไรเทคโนโลยีก็ช่วยได้ วิธีการตั้งชื่อก็เลยดูสะดวกไปด้วย โดยโปรแกรมตั้งชื่อนี้สามารถเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตง่าย ๆ บางเว็บไซต์ก็จะมีให้กรอกเป็นชื่อพ่อแม่ แล้วก็ได้ผลออกมาเป็นชื่อลูก

7. ให้เพื่อนในโลกออนไลน์ช่วยโหวต อาจจะเป็นวิธีที่แปลกใหม่สำหรับหลายคน แต่บางคนก็อาจจะได้มีโอกาสไปร่วมโหวตชื่อให้ลูกของเพื่อน ๆ มาบ้างแล้ว โดยพ่อแม่ของเด็กจะคิดชื่อของลูกมาหลาย ๆ ชื่อ ทว่ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเอาชื่อไหนดี จึงนำชื่อมาขอความเห็นและเปิดโหวตบนโซเชียลมีเดียส่วนตัว

8. ตั้งชื่อลูกตามหลักความเชื่อหรือชื่อตามศาสนา เป็นวิธีดั้งเดิมของการตั้งชื่อลูก เพื่อให้ได้ชื่อที่เป็นสิริมงคลกับตัวเด็ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook