ลิมิเต็ดสลิป ทำงานอย่างไร

ลิมิเต็ดสลิป ทำงานอย่างไร

ลิมิเต็ดสลิป ทำงานอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

แรกเริ่มเดิมทีนั้น การหลีกเลี่ยง หรือ หลบหลีก เราต้องการเพียงการหยุดรถได้อย่างทันท่วงที หรือทันกับภาวการณ์ที่ต้องการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ล้อทั้งสี่จะล็อกตาย จึงเกิดระบบเบรกแบบ ABS เข้ามาช่วยลดทอนปัญหานั้นไป จากอุปกรณ์ในระบบที่ติดตั้งเข้ามาเป็นระบบ ABS นั้น ยังสามารถที่จะพัฒนา หรือเพิ่มงานให้กับระบบทั้งหมดได้เพียงแต่เพิ่มเติมอุปกรณ์เล็กน้อยเข้าไป (น่าจะเรียกได้ว่าการอัพเกรด)

ระบบ ABS จะทำงานต่อเมื่อแป้นเบรกถูกกด (เหยียบ) วงจรของระบบ ABS จึงจะทำงาน ปัญหาหนึ่งที่ผู้ใช้รถประสบกันอยู่ (โดยเฉพาะกับภูมิประเทศหนาว หิมะ ฝนตก ถนนลื่น) ก็คือ เมื่อออกรถ ล้อขับ (ถ้าเป็นขับหลัง ก็คือล้อหลัง ถ้าเป็นขับหน้า ก็คือล้อหน้า) มักจะหมุน (ล้อซ้าย-ขวา) มักจะหมุนด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน เมื่อสภาพถนนนั้นถูกปกคลุมด้วยหิมะ หรือน้ำ เมื่อล้อขับสองล้อหมุน (ออกตัว) ด้วยความเร็วที่ต่างกัน ทิศทางของรถจึงยากลำบากในการควบคุม

ในยุคแรกๆ ของการแก้ปัญหาที่ยังไม่รู้จักกับระบบ ABS หรือยังไม่รู้จักพัฒนาเอาระบบ ABS ไปใช้อย่างอื่นๆ ทางแก้ที่ค่อนข้างจะได้ผลในการที่จะทำให้ล้อขับทั้งซ้าย และขวาหมุนด้วยความเร็วที่เท่ากันก็คือ การใส่อุปกรณ์ชุดหนึ่งเข้าไปในเฟืองท้าย ที่เรียกกันว่า ลิมิเต็ดสลิป (Limited Slip) ซึ่งอุปกรณ์ชุดนี้ จะทำหน้าที่บังคับให้ล้อหมุน (ล้อขับ) หมุนด้วยความเร็วที่เท่าๆ กัน เมื่ออยู่ในสภาพถนนที่ไม่เป็นใจ

จนเมื่อมีการใช้ระบบ ABS กันอย่างได้ผล และแพร่หลายในวงกว้าง การพัฒนาให้ระบบ ABS ใช้งานได้มากกว่าเดิม จึงทำให้เกิด ระบบ ETS (Electronic Traction Support) หรือ การป้องกันล้อหมุนฟรี (ล้อขับ) ซึ่งมาทดแทนระบบลิมิเต็ดสลิป หรือ ดีฟเฟอเรนเชียลล็อก (Automatic Differential lock) ซึ่งทั้งสองระบบมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เมื่อต้องการออกตัวบนพื้นผิวถนนลื่น ล้อขับต้องหมุนด้วยความเร็วที่เท่ากัน แต่ในระบบลิมิเต็ดสลิปนั้น การจะทำให้ล้อขับหมุนด้วยความเร็วเท่ากัน จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเร็วของล้อขับด้านที่หมุนช้ากว่าให้มีความเร็ว เพิ่มขึ้น จนเท่ากับล้อที่หมุนเร็วอยู่แล้ว

แม้จะได้ผล แต่ล้อตามก็มักจะตามไม่ทันผู้ขับขี่ จึงต้องอาศัยประสบการณ์ที่มากกว่าในการควบคุม หรือกำหนดทิศทางของรถ แต่ในระบบ ETS (Electronic Traction Support) จะทำงานในลักษณะตรงกันข้ามกันคือ เมื่อล้อขับ ล้อใดล้อหนึ่ง หมุนด้วยความเร็วมากกว่าล้ออื่นๆ ระบบ ETS จะบังคับโดยอัตโนมัติด้วยการสั่งการให้ล้อที่หมุนเร็วกว่า ชะลอความเร็วลงให้ล้อที่หมุนเร็วกว่าอยู่ในสภาพเดียวกับล้ออื่นๆ

 

ซึ่งการทำงานนี้ ก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากการสั่งการของระบบ ABS ที่ถูกอัพเกรดมาให้ระบบเบรกของล้อที่หมุนเร็วกว่านั้น เบรก หรือจับได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งในชุดอุปกรณ์ของระบบเบรก ABS ก็จะมีสายจับสัญญาณความเร็วของล้ออยู่ทุกล้ออยู่แล้ว เมื่อสายสัญญาณตรวจจับความเร็วของล้อ ข้อมูลนั้นก็จะถูกส่งไปยังสมอง ETS (ETS control module) ได้รับข้อมูล ก็จะรายงานไปยังระบบ ABS ให้สั่งการให้ระบบเบรกของล้อนั้น ทำงานเมื่อเบรกทำงาน ความเร็วของล้อก็จะลดลง จนมีความเร็วเท่ากับล้ออื่นๆ การสั่งการก็จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ

ETS จึงเป็นระบบเสริมจากระบบ ABS โดยเอาส่วนที่ยังเหลือใช้ของระบบ ABS นั้นมาใช้งานได้อย่างคุ้มค่า พูดกันง่ายๆ ก็คือ ระบบ ETS ใช้งานได้คุ้มค่ามากกว่าระบบลิมิเต็ดสลิป เช่น ผู้ขับรถไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญในการขับรถมากนัก เพราะระบบจะทำงานเองเมื่อต้องการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเมื่อเบรกทำงาน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้รอบเครื่องสูงๆ การกำหนด หรือควบคุมทิศทางก็ทำได้อย่างง่ายๆ เพราะล้อขับ ลดความเร็วลง ก็หมายถึงว่า ล้อตามก็ต้องตามได้ทัน

เมื่อระบบ ETS ทำงาน สัญญาณไฟ ETS ที่หน้าปัดจะกะพริบเตือน ซึ่งหมายความว่า ในขณะนั้น สภาพของถนน ไม่เป็นใจให้คุณขับรถได้อย่างสะดวกสบาย หรือใช้ความเร็วสูงๆ ได้อีกต่อไป

สัญญาณอีกชนิดหนึ่งที่เตือนก็คือ ตราบใดที่ ไฟ ETS ติดแดง อยู่ตลอด (ไม่กะพริบ) สักชั่วระยะเวลาหนึ่ง นั่นก็หมายถึงว่า สัญญาณจับความเร็วที่ล้อใดล้อหนึ่ง หรือทั้งสองล้อของล้อขับนั้น บ่งบอกว่า ผ้าเบรก หรือจานเบรกของคุณถูกใช้งานหนัก (จากการสั่งการของระบบ ETS และ ABS) จนมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติที่ควรจะเป็น และเมื่ออุณหภูมิของผ้าเบรก หรือจานเบรก ลดลงจนอยู่ในภาวะปกติ สัญญาณไฟนั้นจะหายไป ก็หมายความว่า คุณสามารถที่จะขับรถของคุณได้ตามต้องการแล้ว

หรือเมื่อคุณไม่เคยใช้ระบบ ETS (ที่จริงต้องพูดว่าระบบ ETS ไม่เคยใช้งานเลย) เมื่อคุณขับรถอยู่ในภาวะปกติ ไฟเตือน ETS แดงขึ้นตลอดเวลา ก็ไม่ต้องตกใจ รถคุณยังสามารถขับขี่ได้อย่างปกติ ระบบเบรกยังทำงานเป็นปกติ (เช่นเดียวกับเมื่อไม่ได้ติดตั้งระบบ ETS) เมื่อมีเวลาว่างเมื่อใด จึงนำเข้าตรวจเช็คในศูนย์บริการที่คุณวางใจ ครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook