การโอนลอย เขาโอนกันอย่างไร มีเอกสารใดบ้าง
การโอนลอย ตามความหมายของกรมขนส่งคือ การที่เจ้าของรถได้ขายรถของตนแล้ว และทำการลงนาม ในเอกสารการโอนรถ และใบมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ โดยมิได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่สำนักงานขนส่ง
การโอนลอย เขาโอนกันอย่างไร มีเอกสารใดบ้าง
1. หากผู้ซื้อไม่ดำเนินการเรื่องโอนให้แล้วเสร็จ และนำรถนั้นไปก่อความเสียหาย ผู้ขายจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เนื่องจากข้อมูลทางทะเบียนของทางราชการ ซึ่งมีไว้เพื่อการตรวจสอบ ยังเป็นชื่อของผู้ขาย (เจ้าของเดิม) อยู่
2. หากผู้ซื้อไม่ดำเนินการเรื่องโอนให้แล้วเสร็จ ผู้ซื้ออาจเสียประโยชน์ เนื่องจากข้อมูลทางทะเบียนรถนั้น ยังไม่มีการแจ้งเปลี่ยนเป็นชื่อของผู้ซื้อ เมื่อปล่อยเวลานานไป เอกสารการโอนที่ผู้ขายมอบไว้ให้อาจใช้ไม่ได้ หรือสูญหายไป ซึ่งหากท่านไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถ ก็จะไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนในเรื่องใดๆ ได้
ในการซื้อขายรถยนต์ ก็ยังเป็นวิธีการที่สะดวกในการทำธุรกรรมด้านซื้อ- ขายรถยนต์ แต่อย่างลืมครับการโอนลอยยังเป็นวิธีการโอนรถยนต์ที่เสี่ยงอยู่มาก เช่น ถ้าเอกสารไม่ครบ หรือถูกปลอมแปลง ลายเซ็นไม่ครบ บัตรหมดอายุ รถติดคดีความ ทางสำนักงานขนส่งมักจะไม่ฟังเสียงใครทั้งสิ้น นอกจากจะให้คุณกลับบ้านมาเก็บเอกสารใหม่อย่างเดียว อย่างนี้ถ้าท่านคิดจะซื้อ-ขายรถยนต์ เรามาดูกันสักนิดครับว่า ต้องใช้เอกสารใด และควรตรวจทานระวังอย่างไรบ้าง จะได้ไม่ต้องมาปวดหัวทีหลัง ตรวจทานให้ดีก่อนการเลือกซื้อรถ
1. สมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ เป็นเอกสารครอบครอง สังหาริมทรัพย์ อย่างหนึ่ง สิ่งที่ต้องตรวจความถูกต้องควรมีดังนี้
1.1 เลขทะเบียนรถ จะต้องตรงกับป้ายทะเบียนรถยนต์ (ป้ายต้องเป็นของแท้มี ขส) ป้ายต่อทะเบียน และพ.ร.บ.
1.2 ปีที่จดทะเบียน ซึ่งจะระบุเป็น พ.ศ. ถ้าอยากทราบว่าเป็น ค.ศ. เท่าไรต้องลบด้วย ....
1.3 สี , หมายเลขเครื่อง , หมายเลขตัวถัง ต้องตรงกับ ตัวถังรถยนต์ และ หมายเลขเครื่องยนต์ที่ติดอยู่กับตัวรถ
1.4 ชื่อเจ้าของรถ ต้องตรวจดูชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ , เลขที่บัตร , ที่อยู่ ให้ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถ
1.5 รายการเสียภาษี หน้า 16 – 17 ตรวจดูว่ามีรายการเสียภาษีครบทุกปี ไม่ขาดต่อทะเบียน หรือแจ้งจอด ยกเลิกการใช้งาน
1.6 รายการบันทึกของเจ้าหน้าที่ หน้า 18 – 19 ตรวจดูว่ามีรายการบันทึกในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถอย่างไร เช่นการแจ้งย้าย แจ้งเปลี่ยนสี เปลี่ยนหมายเลขเครื่อง หรือขอใช้ทะเบียนบ้านในเขตไหน ต้องมีรายการบันทึกครบถ้วน
1.7 ลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต้องเซ็นให้ถูกต้องชัดเจน ตรงกับลายเซ็นในหนังสือต่างๆ
2. หนังสือสัญญาซื้อ – ขาย รถยนต์ เป็นหนังสือสัญญานิติกรรม ระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย ที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ต้องกรอกทุกรายละเอียด เช่น วันที่ , รายละเอียดผู้ขาย , รายละเอียดผู้ซื้อ , ราคาซื้อขาย , กำหนดการมัดจำและรับรถยนต์ ค่าใช้จ่ายในการโอน ว่าผู้ใดเป็นผู้ออกค่าโอน ลงชื่อผู้ซื้อ , ผู้ขาย และพยาน ระบุวันและเวลาที่ขาย และที่ได้รับรถไปแล้ว หนังสือตัวนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างสูง ต้องถือไว้ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย ใช้แสดงประกอบการโอน มีผลทางด้านกฎหมาย เมื่อผู้ซื้อนำรถไปเกิดอุบัติเหตุ หรือใช้รถในการกระทำผิดกฎหมาย หรือผู้ขายอาจนำไปแจ้งรถหาย หรือนำเอกสารไปทำอย่างอื่น ต้องมีการตรวจเช็ครายละเอียดให้ดีทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย
3. แบบคำขอโอนและรับโอน เป็นหนังสือของทางกรมขนส่งทางบก ต้องใช้เมื่อต้องยื่นประกอบเอกสารการโอนรถยนต์ ต้องระบุวันที่ ชื่อรายระเอียดผู้โอน ผู้รับโอน เลขทะเบียน รายละเอียดเกียวกับรถที่โอน ราคาซื้อขาย และต้องลงลายมือชื่อทั้งผู้โอน และผู้รับโอน ให้ถูกต้องตามช่อง ที่ระบุไว้ครบทุกช่อง
4. สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน ของผู้ขาย และต้องตรงกับบัตรประชาชนตัวจริงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่หมดอายุ ทะเบียนบ้านต้องตรงกับหนังสือทะเบียนบ้าน ไม่มีการแจ้งย้าย หรือหมดอายุ ซึ่งผู้ขายต้องมีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง ลงลายมือชื่อ หรือกำหนดรายละเอียดไว้ว่าใช้ในการโอนรถยนต์, แจ้งย้าย , เปลี่ยนสี , เปลี่ยนเครื่อง หรืออื่นๆไว้เป็นปลอดภัยที่สุด ถ้ารถต้องมีการแจ้งย้าย เปลี่ยนสี หมายเลขเครื่อง หรืออื่นๆ ต้องเพิ่มจำนวนอีกอย่างละชุด
5. หนังสือมอบอำนาจ เป็นหนังสือมอบหมายการกระทำใดๆเกี่ยวกับทะเบียนรถ ซึ่งเจ้าของรถไมสามารถมาดำเนินการเองได้ โดยต้องมีรายละเอียด วันที่ , ชื่อผู้มอบ และรับมอบ ระบุรายการที่ผู้มีอำนาจทำการแทน และลงลายมือชื่อ ให้ถูกต้องทั้งชื่อผู้มอบ , ชื่อผู้รับมอบ , พยาน และปิดอากรแสตมป์
6. หนังสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับผู้ขาย เช่น หนังสือเปลี่ยนชื่อและนามสกุล หนังสือหย่า ใบมอบมรดก และอื่นๆที่ต้องใช้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเอกสารสำคัญทางราชการ ในกรณีที่เป็นรถบริษัท ไฟแนนซ์ , ประกันภัย ,หรือมอบมรดก ต้องเตรียมเอกสารเช่น หนังสือรับรองบริษัท,ใบเสร็จรับเงิน , ใบเสียภาษี , และอื่นๆที่ใช้ต้องตรวจดูรายเซ็น ให้ถูกต้องและครบถ้วน
7. หนังสือยินยอม ในกรณีที่ขอใช้ในกรุงเทพ หรือในจังหวัดเดิมในทะเบียนรถ ต้องเตรียม หนังสือยินยอม ให้ทางเจ้าของรถเดิมเซ็นยินยอมขอใช้รถในทะเบียนบ้านเดิม หรือหาเจ้าบ้าน ที่มีชื่อ ที่อยู่ ในเขตที่ต้องการขอใช้ทะเบียนรถ และเซ็นรายมือชื่อ พร้อมแนบ สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนอีกหนึ่งชุด
8. ใบเสร็จต่างๆ เช่น ใบเสร็จซื้อเครื่องยนต์ ในกรณีที่ยังไม่ได้เปลี่ยนหมาเลขเครื่อง ใบเสร็จค่าเปลี่ยนสีรถยนต์ ที่ถูกต้องมีใบรับรองเสียภาษี หรือใบวิศวกรองรับการดัดแปลงรถยนต์ ใช้ในกับรถที่ยังไม่ได้แจ้งการดัดแปลง เช่นระบบขับเคลื่อน ระบบเบรก การเปลี่ยนหลังคา หรือการซ่อมจากอู่ที่ต้องมีการตัดต่อ หรืออะไหล่ตัวถังรถ
สรุปเอกสารสำคัญของการโอนลอย
- สมุดทะเบียนรถ รายละเอียดถูกต้อง และมีลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตรงกับเอกสารอื่นๆ
- หนังสือสัญญาซื้อขาย ต้องระบุรายละเอียด วันและเวลารับรถ ลายมือชื่อผู้ขาย – ผู้ซื้อ และพยาน
- แบบคำขอโอนและรับโอน ต้องลงลายมือชื่อทั้งผู้โอน และผู้รับโอน ให้ถูกต้องตามช่อง ที่ระบุไว้ครบทุกช่อง
- สำเนาทะเบียนบ้านบัตรประชาชน ต้องเซ็นรับรองสำเนา ให้ถูกต้อง และต้องไม่หมดอายุ
- หนังสือมอบอำนาจ ต้องมีลายเซ็นของผู้มอบอำนาจ
- เอกสารเปลี่ยนแปลง เช่นใบเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หรือใบหย่า ที่ต้องใช้เปลี่ยนแปลงเอกสารราชการ
- หนังสืออื่นๆ ในกรณีที่เป็นบริษัท ไฟแนนซ์ ประกันภัย
- ใบเสร็จต่างๆ ที่ใช้ควบคู่ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายการในทะเบียนรถ
เท่านี้การโอนลอยก็ถือว่าไม่เป็นเรื่องยุ่งยาก หรือต้องกังวนอีกต่อไป ไม่ต้องวิ่งไปกลับบ้านผู้ขาย กับขนส่งให้เสียเวลา เสียน้ำมัน หรือเสียอารมณ์ แต่ทางที่ดีเมื่อได้เอกสารมาแล้วควรรีบไปโอนโดยเร็วที่สุดดีกว่าครับ เพราะเอกสารบางตัวอาจมีการหมดอายุ เจ้าของเดิมเกิดเสียชีวิต หรืออื่นๆ อาจต้องเสียเวลามากไปกว่าเดิมอีก ต้องระวังไว้ด้วยครับ