Recall รถยนต์ ผู้ใช้ชอบ..ผู้ผลิตเซง??
แทบจะได้ยินกันเป็นข่าวรายวันกันไปแล้ว กับบรรดาข้อผิดพลาดทางวิศวกรรมต่างๆมากมายในรถยนต์ที่เริ่มจะกลายเป็นเรื่องหนาหู ชวนให้ขนหัวลุกว่า รถใหม่ในบ้านเราจะมีเจอแจ๊คพ็อตกับเข้าบ้างหรือไม่ แม้จนถึงวันนี้จะดีที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยยังไม่มีใครโดนเป็นข่าวครึกโคม แต่กระแสใต้ดินจากผู้ใช้ตัวจริงที่แรงจนถึงขั้นออกมาทุบรถกันบ้าง ก็สร้างความหวั่นวิตกให้ค่ายรถยนต์ไม่น้อย
RECALL สำหรับคนไทยที่ติดตามข่าวสารวงการรถยนต์บ่อยๆ คงจะพึ่งคุ้นหูในคำศัพท์นี้ ซึ่งตามดิกชันนารีมันหมายความตรงตัวว่า “เรียกคืน” การเรียกคืนรถนั้นไม่ใช่การนำรถคันเก่าที่เราซื้อไปจากโชว์รูมเปลี่ยนกับคันใหม่ที่มันไม่มีปัญหา ทว่ามันเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการเรียกตรวจสอบเพื่อทำการแก้ไขในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต
การเรียกคืน หรือ Recall นั้น โดยมากมักจะเกิดจากคำสั่งของรัฐที่บังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงรถยนต์รุ่นที่ได้ประกาศให้ถูกต้องตามกฏหมายจราจรที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน อย่างกรณีล่าสุดของเบนซ์ จี-คลาส SUV รถถังคันโต ที่ถูกทาง National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) มีคำสั่งให้ปรับปรุงชุดโคมไฟเลี้ยวใหม่ ให้สามารถเป็นที่สังเกตได้ชัดขึ้นและป้องกันความเสียที่อาจเกิดจากกันชนหน้า หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่เกิดจากการฟ้องศาลของผู้บริโภค ซึ่งเมื่อคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว หากรถยนต์คันดังกล่าวมีข้อบกพร่องที่สามารถพิสูจน์ได้จริง ศาลก็จะออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งรวมถึงรถคันอื่นๆ ที่อยู่ในรุ่นเดียวกันด้วย
เมื่อมีการออกคำสั่งมายังผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลายแล้ว ก็เป็นหน้าที่..ที่จะต้องปฏิบัติโดยการส่งหนังสือหรือจดหมายถึงลูกค้าที่ครอบครองรถยนต์รุ่นดังกล่าวให้เข้ามาที่ศูนย์บริการเพื่อรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบที่เกิดข้อบกพร่อง ความจริงการปรับปรุงบางอย่างไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โตมากมายนักและไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการประโคมข่าวถึงการเรียกคืนรถยนต์จำนวนมากก็คงจะไม่ใช่ผลดีต่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าในทางใดก็ตาม
มันจึงไม่เรื่องแปลกที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มหายใจไม่ทั่วท้อง ยามที่มีข่าวออกมาว่า มีประกาศให้ทำการเรียกคืน เพราะ มันก็เหมือนกับเล่นจับฉลากที่ไม่รู้ว่าวันไหนจะเจอแจ๊คพอท เนื่องจากในการทำการเรียกคืนรถเพื่อเข้ามาปรับปรุงทุกครั้งย่อมหมายถึงการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงชิ้นส่วนดังกล่าว แม้จะไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนมากเทียบกับการผลิตรถยนต์ 1 คันตั้งแต่เริ่มโปรเจคจนวางจำหน่าย แต่รถยนต์ที่เรียกคืนมานั้นไม่ใช่มีเพียงคันสองคัน แต่ต้องยกล็อตทั้งรุ่น อย่างเช่นกรณีค่ายสามห่วงที่โดนไปจนอ่วมอรทัยต้องเรียกคืนรถรุ่นต่างๆ ถึง 9.8 ล้านคันทั่วโลกเลยทีเดียว
แม้การเรียกคืนรถยนต์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ค่ายรถยนต์พิศวาส เนื่องจากต้องเสียทั้งเวลา แรงงานและชื่อเสียงที่สั่งสมมายาวนานตลอดหลาย 10 ปี แต่ในอีกทางกับกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์กันเป็นประจำมันกลายเป็นข่าวดีที่แสดงถึงความรับผิดชอบในสินค้าที่เราได้มีการซื้อมา เช่นเดียวกันกับบางคนที่กำลังคิดว่าจะเลือกซื้อรถใหม่มาใช้งาน เพราะ การรีคอลรถแม้บางเหตุที่ประโคมข่าวมา จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ไม่ได้มีเหตุให้อันตรายถึงชีวิตด้วยซ้ำ ทว่าต้องยอมรับว่าไม่มีใครอยากตกเป็นเหยื่อของความสะเพร่าทางการผลิตของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมาก ที่บางครั้งก็ยากที่จะกล่าวว่าข้อผิดพลาดมันเริ่มจากตรงไหน
อย่างไรก็ตามนอกจากผู้บริโภคจะได้โอกาสที่ดีในการมองภาพให้มากกว่าเพียงคำโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ต่างๆนานาแล้ว สำหรับบรรดาค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น มันก็เหมือนช่องทางช่วยตัดแบ่งชิ้นเค้กจากตลาดๆ ซึ่งแม้จะไม่ส่งผลดีโดยตรงต่อกลุ่มผู้บริโภค แต่นี่ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยลดการผูกขาดตลาดรถยนต์ลงได้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสที่จะเลือกซื้อรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆที่แตกต่างจากกลุ่มตลาดและยังเปิดกว้างในการแข่งขันทางการตลาดมากขึ้นด้วย
ไม่ว่าคุณจะกำลังใช้รถอะไรอยู่ในปัจจุบัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน จนนำไปสู่การรีคอลรถยนต์จำนวนมากทั่วโลกนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง ทั้งผู้ผลิตที่ต้องมีการออกแบบที่ดี เช่นเดียวกับคุณภาพการผลิตที่ต้องได้มาตรฐานก่อนออกมาจำหน่าย
ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้อง ไม่นิ่งเฉย หากพบปัญหาต้องร่วมกันปรึกษาหารือ และถ้าพบว่ามีผู้พบปัญหาเดียวกันจำนวนมาก ก็ควรรักษาสิทธิ์ของตัวเองร่วมกันร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีการพิสูจน์ตรวจสอบและดำเนินการแก้ปัญหาในที่สุด
ภาพประกอบจาก Getty Image
***อนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ในภาพบางยี่ห้อไม่ได้ปัญหาเกี่ยวข้องในการรีคอลรถยนต์ ***