ซื้อรถให้ลูก...ความหวังดีหรือการหยิบยื่นความตาย

ซื้อรถให้ลูก...ความหวังดีหรือการหยิบยื่นความตาย

ซื้อรถให้ลูก...ความหวังดีหรือการหยิบยื่นความตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นข่าวคราวกันบ่อยมากในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมากับเหตุการณ์ที่เหล่าหนุ่ม-สาว นักศึกษาต่างชะตาขาดเพียงความคึกคะนองและประมาทจากอุบัติเหตุทางถนน

แม้ความจริงเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเจริญเติบโตของเมืองทุกวันนี้ต่างผลักดันให้ สาธารณูปโภคต่างๆจำนวนมากกระจัดกระจายออกสู่เขตปริมณฑล นั่นรวมถึงเหล่าสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายๆแห่ง ที่ต่างเริ่มสร้างวิทยาเขตแห่งใหม่ห่างไกลเมืองมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การศึกษาให้เหมาะสมเป็นที่เรียนรู้ของผู้ที่ต้องการเป็นบัณฑิต

การย้ายออกห่างจากตัวเมืองของเหล่าสถาบันศึกษานั้น นับว่าเป็นแนวความคิดที่ดี ที่ให้อากาศบริสุทธิ์ ช่วยทำให้สมองและสภาวะรอบกายเหมาะแก่การเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ทว่าเมื่อสถานที่เพิ่มพูนความรู้ไกล นั่นหมายความว่าการเดินทางของเหล่าบรรดาน้องๆนักศึกษา ก็จะยากลำบากขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว

ทางออกหนึ่งที่ดูเหมือนจะกลายเป็นค่านิยมไปแล้ว สำหรับสังคมในปัจจุบัน คงไม่พ้นการตัดสินใจซื้อรถยนต์ให้น้องๆขับ ซึ่งแม้จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี เมื่อเทียบกับอัตราการสูญเสียเม็ดเงินจำนวนไม่มาก แต่ให้ผลคุ้มค่าในด้านความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ในการเดินทาง ทว่ามันกลับกลายเป็นดาบ 2 คม

จริงอยู่การออกรถยนต์ให้ลูกสักคัน คงไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับคนที่เป็นพ่อ-แม่ ที่หวังอยากจะให้ลูกสะดวกสบายและมีสิ่งต่างๆทันเท่าเทียมคนอื่นๆ ทว่าสิ่งหนึ่งที่พ่อ-แม่หลายคนมองข้ามไป คือนิสัยของเด็กวัยรุ่นเลือดร้อน ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความหวังดีอาจกลายเป็นการหยิบยื่นความตายให้แก่ลูกโดยไม่รู้ตัว

เหตุการณ์สูญเสียบนถนนกับบรรดาอนาคตของชาติ ทั้งหลายเหล่านี้จากสถิติที่ตกเป็นข่าวส่วนใหญ่ สามารถสรุปถึงต้นเหตุแห่งความสูญเสียเพียงไม่กี่สาเหตุ ถ้าอ่านข่าวไม่พบว่าเมาแล้วขับ ก็คงต้องเป็นคึกคะนองในความเร็ว ซึ่งบ่งชี้ได้ว่ากลุ่มว่าที่บัณฑิต ผู้ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นเหล่านี้ ไม่ได้คำนึงถึงอะไรมากกว่าไปการขับรถและเลียนแบบเพื่อนหรือภาพยนตร์

ความจริงแล้วแม้ปัจจุบันกรมการขนส่งจะกำหนดให้ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์จะสามารถยื่นคำร้องขอทำใบอนุญาติขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลได้ โดยไม่ได้ข้อกำหนดอะไรมาก นอกจากเพียงรู้เรื่องกฏจราจรคร่าวๆให้สามารถสอบผ่านภาคทฤษฏี และสอบภาคปฏิบัติได้ครบตามกระบวนท่าที่ทางกรมการขนส่งกำหนด ทว่าก็ไม่มีระเบียบข้อไหนที่ระบุถึงความพร้อมหรือไม่พร้อมของผู้ขอทำใบอนุญาตขับขี่ ทำให้ภาพในวันนี้ที่กรมขนส่งหลายๆแห่ง เราจะพบว่าเด็กเหล่านี้ ต่างดาหน้ามายื่นขอรับใบอนุญาติจำนวนมากเลยทีเดียว

ความง่ายเกินไปในการอนุญาตใบขับขี่ในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มวัยรุ่นมือใหม่เหล่านี้ ต่างขาดสำนึกในการขับขี่ มากกว่าผู้ใช้รถคนอื่นๆ โดยเฉพาะการขับรถเร็วที่เป็นไปด้วยความคึกคะนองตามภาษาของวัยรุ่น ซึ่งยังไม่รู้สมรรถภาพตัวเองว่า จะสามารถควบคุมรถที่มีความเร็วสูงได้หรือไม่ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

อารมณ์คะนองเหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่ยังไม่น่าถึงคาดกลับต้องมาเสียชีวิตสร้างความโศกเศร้าให้กับพ่อแม่ ที่ไม่รู้ว่า ว่าที่บัณฑิตเหล่านี้มีนิสัยการขับรถเช่นไร แม้การสูญเสียนี้อาจจะเป็นเส้นชะตาขีดกำหนด ทว่าก็สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีง่ายๆ คือการดูแลเอาใจใส่ลูก ในเรื่องขับรถ หากเป็นไปได้หรือมีโอกาสก็ลองนั่งรถที่ลูกคุณขับบ้าง เพื่อรับรู้พฤติกรรมการขับขี่บ้างว่า ชีวิตหลังพวงมาลัยวัยรุ่นเหล่านี้เป็นอย่างไร

แม้วิธีที่เรากล่าวจะอาจจะไม่เห็นผลถึงนิสัยการขับที่แท้จริง แต่ถ้าหากพบว่าลูกของคุณมีโอกาสที่จะขับรถเร็วสูงมากกว่าคนอื่น เช่น มหาวิทยาลัยอยู่บนถนนที่มีขนาดใหญ่ หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องซื้อรถให้พวกเขาใช้ ก็ไม่ควรจะที่จะเลือกรถใหม่ป้ายแดง เนื่องจากความใหม่จะทำให้วัยรุ่นเหล่านี้มีความมั่นใจมากในรถของตัวเองมากกว่าปกติ และควรให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการขับรถอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขาได้มีโอกาสซึมซับประสบการณ์ในการขับขี่ที่ท่านเคยผ่านมา ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการขับขี่ของเขา

อย่างไรก็ตามสำหรับตัวน้องๆนักศึกษาเอง ต้องมองกลับเช่นกันว่า ถนนไม่ใช่สนามแข่งรถ หากชอบในความเร็วก็ควรจะไปใช้ให้ถูกที่ในสนามแข่ง ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ง่ายในรายการแข่งขันต่างๆมากมาย ซึ่งทุกครั้งที่ขับรถเราต้องคำนึงเสมอว่าอนาคตเราก็คืออนาคตของพ่อแม่ หากเราขับรถเร็วจนเป็นอันตรายถึงชีวิตนั่น ท่านจะมีใครดูแลในยามชรา

ทั้งนี้เราไม่ได้สั่งสอนให้ขับรถเร็ว แต่หากมีสถานการณ์จำเป็นที่จะต้องใช้ความเร็วในการเดินทาง น้องควรเตียมตัวเองพร้อมด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้

1. รู้จักรถของตัวเอง ถ้าน้องๆรู้จักรถของตัวเอง ว่ามีสมรถนะช่วงล่างดีแค่ไหน แพลทฟอร์มขับเคลื่อนรถของเราเป็นอย่างไร และเร็วแค่ไหนที่จะไม่ทำให้รถเกิดการเสียหลักได้ง่าย ก็จะช่วยให้เราแก้ปัญหายามเกิดเหตุฉุกเฉินได้

2. อย่าใช้ความเร็วจนเกินตัว บางทีน้องๆ ก็ลืมนึกไปว่า ความเร็วที่มากขึ้นหมายถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งนี้ประสาทสัมผัสของแต่ละคนไม่เท่ากัน จะเร็วมาก-น้อย มีสติการควบคุมไม่เหมือนกัน ดังนั้นจงอย่าขับเร็วเกินความสามารถควบคุมของตัวเอง

3. หลีกเลี่ยงการขัดแย้งจากผู้ใช้คนอื่นๆ ในสังคมถนนเราไม่รู้ว่าใครเป็นใครทุกคนต่างมากันคนละทางแล้วก็จะไปตามจุดหมายของตัวเอง บางทีเราปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องพบเจอคนหลายแบบบนถนน ซึ่งหากเราไปเครียดกับมันมากก็จะพาอารมณ์เสีย และเมื่อเรารีบบวกกับอารมณ์เสีย สิ่งที่ตามมาอาจเป็นหายนะ

4. ใช้สติตั้งมั่น พยายามตั้งอยู่ในสติและใช้สมองในการขับรถมากกว่าสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะเวลาที่จำเป็นต้องขับเร็วๆ เพราะ สติและสมองช่วยให้เรารอดจากเหตุฉุกเฉินได้

ด้วยหลักปฏิบัติง่ายๆ ที่กล่าวมานี้ก็ ช่วยให้น้องๆสามารถขับรถได้ปลอดภัยขึ้นไม่มากก็น้อย แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากจะฝากไว้กับทั้งพ่อแม่และน้องว่าที่บัณฑิต ที่ต้องใช้รถใช้ถนน คงไม่พ้นความมีน้ำใจและการให้อภัย ซึ่งนับวันมันเป้นสิ่งที่เหลือน้อยในสังคมถนนประเทศไทย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook